นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันหอการค้าจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี, ฝรั่งเศส, สหภาพยุโรป, เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพราะส่วนใหญ่มีความเชื่ยวชาญ แต่ขอพิจารณาถึงการเปิดกว้างของประเทศไทยก่อน แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 แล้วก็ตาม
ทางเราพยายามแจ้งให้ทราบเป็นระยะว่า ได้มีการปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าจะสามารถยืดหยุ่นได้แค่ไหน เพราะบ้านเราร่างกฎหมายแบบมองจากข้างในไปข้างนอก
อย่างไรก็ตาม หากภาคเอกชนมีความคิดที่ใหม่ๆ ที่ทำให้โครงการมีความคุ้มค่ามากขึ้น ก็สามารถเสนอเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดใน TOR ได้ เช่น ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย มีนบุรี) ก็มีภาคเอกชนเสนอให้ทำทางเชื่อมเข้าไปในอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเพิ่มมูลค่าของโครงการ เป็นต้น คาดว่าตัว พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่น่าจะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้ได้เมื่อไหร่ แต่ทางกระทรวงคมนาคมได้เตรียมการไว้แล้ว
ส่วนโครงการที่ทางหอการค้าต่างประเทศให้ความสนใจก็มีหลายโครงการและทุกประเภททั้งระบบราง ท่าเรือ สนามบิน รวมไปถึงสมาร์ทซิตี้ด้วย เช่น การลงทุนระบบ O&M ของมอเตอร์เวย์สาย 6 (บางปะอิน นครราชสีมา) และ สาย 81 (บางใหญ่ กาญจนบุรี)
และมีโครงการที่ให้เอกชนทำ 100% อย่างมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ทางต่างประเทศก็มีข้อกังวลกลับมาว่า ถ้าให้เอกชนทำ รัฐบาลจะค้ำประกันแหล่งเงินให้หรือไม่ เพราะเป็นภาระของเอกชนที่ต้องไปหาแหล่งเงินทุนเอง ซึ่งส่วนใหญ่โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลก็ค้ำประกันให้อยู่แล้ว
ส่วนโครงการที่เร่งจะเปิดประมูล PPP ปีนี้ ก็มีหลายโครงการ จะมีโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. เงินลงทุน 8.4 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. เงินลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาท, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 2.9 แสนล้านบาท, ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีพื้นที่ 6,340 ไร่ เงินลงทุน 1.55 แสนล้านบาท, โครงการรถไฟสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 39.6 กม. เงินลงทุน 7.92 หมื่นล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการจะพยายามเร่งให้ได้ภายในปีนี้ทั้งหมด