info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.141.31.240

พฤกษา Accelerate Impact #2 ต่อยอด start up ร่วมสร้างสังคม “อยู่ดี มีสุข”

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ระยะทางหมื่นลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก วันนี้โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA เดินทางมาถึงซีซั่น 2 เรียบร้อยแล้ว

เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างสังคม “อยู่ดี มีสุข” และเพื่อเปิดกว้างกับโอกาสร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง “พฤกษา โฮลดิ้ง” กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่มีหัวใจทำธุรกิจเพื่อสังคม

โครงการซีซั่น 2 ยังคงมุ่งมั่นทุ่มเททรัพยากร ทั้งแรงกายทีมผู้บริหารชื่อดังหลากวงการในฐานะ mentor ทำเวิร์กช็อปอัพสกิล เพื่อหลอมรวมแรงใจให้แผนธุรกิจผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย ได้มีเวทีเติบใหญ่บนโลกกว้างใบนี้

ให้ทั้ง “แผนงาน+แผนเงิน”

ทั้งนี้ Accelerate Impact with PRUKSA กล่าวได้ว่าเป็นเวทีที่เต็มไปด้วยการมอบโอกาสให้กับสตาร์ตอัพ

รูปแบบมีการคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เฉลี่ยปีละ 70 รายทั้งซีซั่น 1 และ 2 โดยคัดเลือกตัวท็อปจำนวน 4 ราย ซึ่งผู้เข้ารอบจะได้รับเงินทุนสนับสนุนการขยายธุรกิจจากพฤกษา เป็นทุนประเดิมรายละ 6 แสนบาท

โอกาสสำคัญอยู่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม Accelerate Impact เพิ่มพูนความรู้และทักษะต่อยอดธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้บริหารและพนักงานพฤกษาอย่างใกล้ชิด และยังสามารถเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นจากพฤกษา สำหรับการพัฒนาธุรกิจตลอดระยะเวลาโครงการ

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารอบทุกทีม ได้นำเสนอแผนธุรกิจอีกครั้ง เพื่อโอกาสรับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ เงินลงทุนจากพฤกษาภายใต้ Corporate Venture Capital เฉลี่ยรายละ 1-3 ล้านบาท รวมทั้งโอกาสครั้งสำคัญที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับพฤกษาในระยะยาว

“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสำเร็จของ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซั่นแรก สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คน ทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และการมีโซลูชั่นเชิงรุกเพื่อดูแลผู้สูงวัย

ผลตอบรับที่ดีจากซีซั่นแรกเป็นแรงผลักดันให้พฤกษาสานต่อ ขยายผลไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น ขยายผลต่อยอดเป็นโครงการซีซั่น 2 มีเป้าหมายเฟ้นหาผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) มาร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข”

แน่นอนว่า โจทย์การแข่งขันปีนี้ยังคงเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อโอกาสทางการงาน

ไฮไลต์ซีซั่น 2 ได้เพิ่มความท้าทายใหม่ด้วยโจทย์การแข่งขันที่สร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม

เสริมแกร่ง mentor ระดับชาติ

สำหรับ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซั่น 2 ในปีนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจอื่น ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก ได้แก่ “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ประธาน กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป, “นางสาวสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์” เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน, “นางสาวอรผกา วุฒิโฆสิต” Industry Manager Google ประเทศไทย และทีมผู้บริหารพฤกษา โฮลดิ้ง และบริษัทในเครือ เปิดรายชื่อ 4 สตาร์ตอัพดาวรุ่งซีซั่น 2 ดังนี้

1.“ทีมแอ็กนอสเฮลท์-Agnos Health” จากบริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปที่ช่วยวิเคราะห์อาการโรคและประเมินความเสี่ยง พร้อมบอกวิธีการรับมือ ช่วยลดภาระของแพทย์ในกรณีที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย และลดต้นทุนในการรักษาพยาบาล

2.“ทีมฟาร์มแคร์-PHARMCARE” จากบริษัท ฟาร์มแคร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “PHARMCARE” ตัวช่วยอัจฉริยะที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี สามารถค้นหาและเข้าถึงร้านขายยาที่มีคุณภาพ

โดยมีเภสัชกรที่มีความรู้พร้อมให้คำแนะนำ และมีบริการด้านสุขภาพที่สามารถเช็กสุขภาพและวิเคราะห์โรคได้เบื้องต้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

3.“ทีมแล็บมูฟ-Labmove” จากบริษัท แล็บมูฟ จำกัด ผู้ให้บริการเจาะเลือดถึงที่พักอาศัยโดยนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอคิวเป็นเวลานาน เพิ่มความสะดวกสบายในการเจาะเลือด

4.“ทีมวงศ์ไผ่-Wongphai” จากบริษัท วงศ์ไผ่ จำกัด ธุรกิจช่วยเหลือชุมชนที่ต้องการจัดการกับเศษไผ่เหลือทิ้ง ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องดินเปรี้ยวในแปลงเกษตร โดยการผลิต KN Biochar จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างเศรษฐกิจในชุมชน

พลิกปูม 4 สตาร์ตอัพซีซั่น 1

ย้อนรอยโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซั่น 1 เปิดตัวด้วยเป้าหมายสนับสนุน 5 ธุรกิจเพื่อสังคม ให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มุ่งส่งเสริมใน 2 ประเด็น คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และดูแลผู้สูงวัยให้มีจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต

ปรากฏว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 70 องค์กร คัดรอบสุดท้ายจนเหลือ 4 สตาร์ตอัพ ประกอบด้วย

1.“Buddy Homecare” กิจการเพื่อสังคมที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผลลีพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ช่วยให้เยาวชนที่ต้องการโอกาส ได้รับทุนการศึกษาและมีงานทำ 26 คน และผู้สูงอายุยากไร้ ได้รับการดูแลสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 78%พฤกษา โฮลดิ้ง

2.“Local Alike” สตาร์ตอัพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ชุมชนท้องถิ่นกว่า 40 ชุมชนได้รับการสนับสนุน ประชาสัมพันธ์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นในไตรมาสแรกปีนี้แล้วกว่า 350,000 บาท

3.“findTEMP” แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงบริการระหว่างพนักงานพาร์ตไทม์และผู้ประกอบการ ผลลัพธ์ที่จับคนชนกับงาน สร้างโอกาสให้พนักงานพาร์ตไทม์ได้ทำงานมากขึ้นถึง 2 เท่า จากหลักสูตรอบรมและการสอบเป็นผู้สัมผัสอาหาร สร้างรายได้มากกว่า 480,000 บาท และเพิ่มผู้ประกอบการได้ถึง 6 บริษัท

และ 4.“Vulcan Coalition” กิจการเพื่อสังคมที่ยกระดับการจ้างงานคนพิการ ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI

“หลายองค์กรมีอุปสรรคด้านเงินทุนและความรู้ที่จะพัฒนาธุรกิจ Accelerate Impact with PRUKSA ได้ปลดล็อกปัญหาที่ติดขัด แม้เวลาการเข้าร่วมโครงการจะผ่านไปแค่ 4-5 เดือน แต่ทุกองค์กรก็ได้นำสิ่งที่พฤกษามอบให้ไปต่อยอดจนเกิดความสำเร็จ”

จากใจถึงใจสตาร์ตอัพดาวรุ่ง

ฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้ารอบสุดท้ายกันบ้าง “เจนวิทย์ วิโสจสงคราม” ผู้ร่วมก่อตั้ง Buddy Homecare กล่าวว่า ปกติงานธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ร่วมก่อตั้งต้องลุยทำกันเอง ถ้างบประมาณไม่มีก็เป็นข้อจำกัดที่จะสร้างอิมแพ็กต์ให้กับสังคม เราจึงดีใจที่เห็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่างพฤกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“ตอนแรกเข้าใจว่าจะสนับสนุนแค่งบประมาณ แต่เมื่อได้พูดคุยก็ทราบว่าพฤกษาตั้งใจที่จะมาแก้ปัญหาสังคมจากรากของปัญหาจริง ๆ ต้องการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมให้พัฒนาศักยภาพได้อย่างแท้จริง ดีใจที่มีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เดินไปกับเรา ให้วิธีการ ให้แนวคิด รับฟัง ช่วยกันปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และสำคัญมาก”

โดย Buddy Homecare-ใส่ใจดูแลเหมือนคนในครอบครัว หนึ่งในสตาร์ตอัพสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพิ่มโอกาสเยาวชนได้รับทุนการศึกษาและมีงานทำ 26 คน ผู้สูงอายุยากไร้ได้รับการดูแลสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มขึ้น 78%

นอกจากนี้ โรงพยาบาลวิมุตลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุชนเผ่า ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และมอบสิ่งของช่วยเหลือจำเป็น รวมทั้งพฤกษา ร่วมให้คำแนะนำในการปรับปรุงสถานที่และอาคาร สำหรับเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งใหม่

สร้างโอกาสสำเร็จรวดเร็วขึ้น

ถัดมา “เศกสิทธิ์ เทียนทองนุกูล” ผู้ร่วมก่อตั้ง findTEMP กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์ได้ทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ประกอบการได้พนักงานที่มีความพร้อมที่จะทำงาน

“การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เราแน่วแน่กับเป้าหมายมากขึ้น โครงการให้ความรู้ และติดตามผลว่าเรานำความรู้ไปพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง ทำแล้วประสบความสำเร็จหรือเปล่า มีฟีดแบ็กให้ด้วย เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น จากเดิมคิดว่าสิ่งที่จะทำต้องใช้เวลา 1 ปี แต่โครงการนี้ทำให้เราสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลาเพียง 3-4 เดือน”

ทั้งนี้ findTEMP เป็นแพลตฟอร์มบริการพนักงานพาร์ตไทม์ ส่งตรงถึงที่ ป้อนร้านอาหาร คลังสินค้า โรงแรม แคเทอริ่ง ด้วยพนักงาน TEMP ในระบบกว่า 70,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ผลงาน 3 เดือน 4 ด้าน เริ่มจาก แคมเปญ Food Handler Certificate ทำให้ผู้ที่ได้ Certified 40 คน มีโอกาสทำงานมากขึ้น 2 เท่า, Customize training ก่อนไปหน้างาน มีพนักงานเทรนทั้งหมด 1,475 คน ช่วยลดเวลาเทรนนิ่งหน้างาน 20%

เพิ่มระบบ Gamification ช่วยเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ในการทำงานของพนักงาน โดยมีการสะสมแต้มจากการทำภารกิจที่กำหนด และพัฒนาฟีเจอร์เพื่อรองรับตลาดใหม่ “โรงแรมและแคเทอริ่ง” โดยมี 904 งานที่ทำสำเร็จ สร้างรายได้ให้กับสตาฟ 484,000 บาท และมี 6 บริษัทใหม่ที่เข้าร่วม

สำหรับความร่วมมือกับพฤกษา มีแนวทางที่จะใช้ findTEMP เป็นแลนด์สเคปซัพพลายเออร์ โดยอยู่ระหว่างการพูดคุยหาโซลูชั่นร่วมกันพฤกษา โฮลดิ้ง

มากกว่าเงินคือความรู้เชิงลึก

สุดท้าย “นางสาวอรธีรา รัตนทายะ” Chief Financial Officer Local Alike บอกเล่าถึงความประทับใจว่า ตอนที่ขอทุนเข้ามา ต้องการต่อยอดธุรกิจด้วยการทำเว็บไซต์ใหม่ เพื่อเปิดตลาดบริการใหม่ของ Local Alikt ซึ่งโครงการไม่ได้ให้แค่เงิน แต่ให้การสนับสนุน ให้คำแนะนำ มีส่งทีมงานจากหลายแผนกมาช่วยทำด้วย

“เราไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในเชิงลึก พฤกษาก็มีทีมอีคอมเมิร์ซมาให้คำปรึกษา ซึ่งถ้าต้องทำเองต้องใช้เวลามากกว่านี้ และทีมงานยังลงพื้นที่ไปทริปกับเราด้วย เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงบริการของเราให้ดีขึ้น รู้สึกประทับใจมาก”

โดยโอกาสที่พฤกษา ร่วมสร้างให้กับ Local Alik-Travel Thailand Locally ทีมงานพฤกษาร่วมพัฒนาเว็บไซต์ให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จัก, ร่วมทำการตลาด ขยายสินค้าไปยังแพลตฟอร์ม Clickzy บริษัทในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง

ผลลัพธ์ทำให้ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนท้องถิ่นกว่า 40 ชุมชน ได้รับการสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นกว่า 350,000 บาท ในช่วงไตรมาส 1/66

“Accelerate Impact with PRUKSA ไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่เงินทุน แต่เรามีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ start up เพื่อสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแข็งแกร่งขึ้น มีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสินค้าและบริการ ที่ส่งเสริมให้ผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม มีความ อยู่ดี มีสุข ตามเป้าหมายของพฤกษา” คำกล่าวของ CEO พฤกษา “อุเทน โลหชิตพิทักษ์”

6/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 ธันวาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS