info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.66.67

ค่ายรถลงทุนใหม่หมื่นล้าน ผุด 20 โรงงานแบตเตอรี่ EV

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

โรงงานแบตเตอรี่ขึ้นพรึ่บกว่า 20 โครงการ ระบุกว่าครึ่งเตรียมรองรับค่ายรถยนต์ลุยผลิตรถ EV ในปี 2567 “MG-เกรท วอลล์ฯ-BYD” วางศิลาฤกษ์ตบเท้าเดินหน้าตามโรดแมป ด้าน “บีโอไอ” โชว์ตัวเลขล่าสุดสิ้นเดือนพฤษภาคม เม็ดเงินลงทุนเกือบหมื่นล้าน ไม่รวมค่ายรถจีนอีก 3 แบรนด์ ทั้งฉางอัน, Chery, GAC ที่เตรียมออกสตาร์ตชักแถวทุ่มเม็ดเงินอีกก้อนใหญ่กวาดลูกค้าคนไทย

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับค่ายรถยนต์ที่ประกาศเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์สามารถนำรถ EV เข้ามาขายก่อนตั้งแต่ปี 2565 มีกำหนดจะเริ่มผลิตในประเทศชดเชยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ทำให้ตอนนี้ทุกค่ายต่างเตรียมความพร้อมด้านการผลิตอย่างคึกคัก

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมฯเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนึ่งในส่วนประกอบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่บริษัทรถยนต์ให้ความสำคัญสูงสุดก็คือแบตเตอรี่ EV โดยมีการชักจูงพันธมิตรที่คุ้นเคยเข้ามาลงทุน ล่าสุด 3 แบรนด์ใหญ่ที่เข้ามาลุยตลาดบ้านเรา ทั้ง MG-เกรท วอลล์ฯ-BYD ก็เริ่มกดปุ่มวางศิลาฤกษ์กันเป็นที่เรียบร้อย

รายงานข่าวจากบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ขณะนี้บริษัทได้เตรียมประกาศลงทุนเพื่อตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ EV ในประเทศไทย โดยได้จับมือกับพาร์ตเนอร์จีน SVOLT Energy บริษัทผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน จัดตั้ง บริษัท สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Module PACK Factory) ในประเทศไทย รองรับการผลิตรถ EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ถือเป็นความจำเป็นอย่างมากที่โรงงานผลิตรถ EV จะต้องมีโรงงานแบตเตรี่เป็นของตัวเอง เพื่อความสะดวกและลดความเสี่ยงด้านการผลิต สามารถป้อนชิ้นส่วนเข้าสายการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ดังนั้น การผลิตแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่โรงงานประกอบ ใช้วิธีนำเซลล์จากประเทศจีนหรืออินโดนีเซีย แล้วนำมาบรรจุเป็นแพ็ก ซึ่งแนวโน้มหลังจากที่ประเทศไทยมีโรงงานประกอบแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ราคาแบตเตอรี่รถ EV ทั้งโออีเอ็ม และอาฟเตอร์มาร์เก็ตถูกลงด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้า หลังจากบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย เตรียมพัฒนาพื้นที่ภายในโรงงานกว่า 75 ไร่ เป็นพื้นที่พัฒนาชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ MG ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV

ร่วมกับพาร์ตเนอร์และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยงบลงทุนเฟสแรกราว 500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาให้เป็นพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK และการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมปี 2566 นี้ สำหรับเฟสแรกรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ขณะที่ค่าย BYD ก็เพิ่งประกาศลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย BYD ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วจาก BOI มีมูลค่ารวมกันสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น โครงการแรกเป็นการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท และอีกหนึ่งโครงการ เป็นการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 3,893 ล้านบาท

CATL กินรวบหลายยี่ห้อ

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในเครือ ปตท. เปิดเผยว่า บริษัทบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกับ Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) เพื่อจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบ cell-to-pack (CTP) ในประเทศไทย โดยจะเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตรถ EV ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

อรุณพลัส ร่วมมือ FOXCONN มีโรดแมปรับจ้างผลิตรถ EV ตั้งแต่ปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573 ซึ่งการก่อตั้งโรงงานผลิต EV

ขณะก่อนหน้านี้นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามแผนธุรกิจ เนต้าเตรียมขึ้นไลน์ผลิตรถ EV เนต้าในประเทศไทย โดยจะใช้โรงงานประกอบบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ของกลุ่มพระนครยนตรการ ส่วนแบตเตอรี่นั้นบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ 2-3 ราย ซึ่งแบตเตอรี่ที่จะผลิตโดยอรุณพลัส บริษัทก็อยู่ระหว่างรอดูรายละเอียด

ลงทุนแบตเฉียดหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลส่งเสริมการลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ณ วันที่ 31 พ.ค. 2566 พบว่ามียอดเงินลงทุนรวม 9,473.4 ล้านบาท จาก 14 บริษัท ภายใต้การลงทุน 21 โครงการ ได้แก่ 1.ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออ โทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ (แปลงยาว) ฉะเชิงเทรา

3.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ปราจีนบุรี 4.ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จ.สมุทรปราการ 5.เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ชลบุรี 6.ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จ.ชลบุรี 7.เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

8.นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด จ.สมุทรปราการ 9.วิชชุฆนี นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ 10.ราชาไซเคิล จ.สมุทรปราการ 11.สมบูรณ์ ทรอน เอนเนอร์จี จ.สมุทรปราการ ส่วนรายที่ 12-14 เป็นบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

3 แบรนด์จีนทุ่มอีกหลายหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากค่ายรถยนต์แบรนด์จีน 3 แบรนด์หลัก “MG-เกรท วอลล์ฯ-BYD” ที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว ล่าสุดยังมีแบรนด์ใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทย โดยรายที่มีการเคลื่อนไหวชัดเจนสุด และน่าจะพร้อมประกาศตัวเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ “ฉางอัน” ซึ่งการเข้ามาของฉางอันจะเน้นทำหน้าที่ผู้ผลิต ส่วนด้านการตลาดมีกระแสว่ากำลังทาบทามนักลงทุนชาวไทยที่คว่ำหวอดในวงการรถยนต์ทำหน้าที่เป็นดิสตริบิวเตอร์ โดยมีชื่อกลุ่มผู้จำหน่ายรถหรู 1 ราย และดีลเลอร์รถยนต์เจ้าใหญ่อีก 1 ราย

ก่อนหน้านี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อกลางเดือนเมษายน 2566 ว่า “ฉางอัน ออโตโมบิล” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ Top 4 ของจีน ประกาศลงทุนในไทย 9,800 ล้านบาท ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ เพื่อสร้างฐานการผลิตรถ EV พวงมาลัยขวาแห่งแรกนอกประเทศจีน 1 แสนคัน เพื่อส่งออกทั่วโลก

ส่วนอีกแบรนด์ที่กำลังเร่งขยายการลงทุนจากจีนมายังประเทศไทย ก็คือ GAC Group ยักษ์ใหญ่รถ EV Top 3 จากจีน โดยปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า GAC Group มีแผนจะลงทุนราว ๆ 6,400 ล้านบาท เล็งหาพื้นที่ 1,000 ไร่ และหาผู้ร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทย โดยมีเป้า 100,000 คันต่อปี และใช้ประเทศไทยเป็นฮับ EV ในอาเซียน

ขณะที่แบรนด์ Chery หลังจากเชิญชวนนักข่าวหลายสำนักไปร่วมงานเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์โชว์ พร้อมสัมภาษณ์นาย Yin Tongyue ประธานกรรมการบริหาร Chery Group ระบุชัดเจนว่ามีแผนจะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา โดยมีการตั้งทีมปฏิบัติการอิสระและจัดทำแผนระยะยาว เพื่อเตรียมการเข้าสู่แต่ละตลาด ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพโดดเด่น และมีแผนจะเปิดตัวรถ EV Chery Omada 5 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และมั่นใจจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อรองรับตลาดส่งออกทั่วโลก รวมถึงตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ EV ในไทยด้วย

28/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 มิถุนายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS