info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.85.201

จับตา เมกะโปรเจ็กต์รัฐบาลใหม่ รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ลงทุน 1.4 ล้านล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

แม้ว่ารัฐบาลใหม่ยังลูกผีลูกคน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล แม้ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเป็นอันดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร 151 เสียง แต่ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะได้เข้าปฏิบัติการทำเนียบรัฐบาลหรือไม่

ขณะที่ความพยายามตั้งรัฐบาลอีกขั้ว ดังหนาหูมากขึ้นทุกขณะ พร้อม ๆ กับคิวการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี ที่กระชั้นเวลาเข้ามา

แต่การลงทุน-เมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นโครงการลงทุนอนุมัติในปี 2566 รวมถึงโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลปัจจุบัน เป็นก้อนเค้กผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องมาสานงานต่อ

ต่อไปนี้คือเมกะโปรเจ็กต์-รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ ที่มีแผนลงทุนปี 2566 รวมถึงภารกิจอื่น ๆ ที่นายกฯคนต่อไปจะต้องปฏิบัติ

อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ที่เริ่มต้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงขณะนี้ อย่างโครงการอีอีซีที่เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) จำนวน 5 โครงการ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการไปตั้งแต่ปี’61 ประกอบด้วย

1.โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เงินลงทุน 276,561 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุน 204,050 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 110,115 ล้านบาท

4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 เงินลงทุน 64,905 ล้านบาท และ 5.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO)

ปัจจุบันได้เอกชนและลงนามสัญญาแล้ว 4 โครงการ เงินลงทุน 655,631 ล้านบาท แบ่งเป็น เอกชนลงทุน 416,980 ล้านบาท รัฐลงทุน 238,651 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รักษาการ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี “แก้ไขสัญญา” เมกะโปรเจ็กต์ที่ติดหล่มจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุน 204,240 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐลงทุน 17,674 ล้านบาท เอกชนลงทุน 186,566 ล้านบาท (ไม่รวมพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน Aviation Technical Zone) โดยมีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็น “คู่สัญญา”

สำหรับประเด็นแก้สัญญา อาทิ ให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาท เป็นประมาณ 40,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ 170,000 ตำแหน่ง กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มอีกกว่า 160,000 ล้านบาท

ล่าสุดที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแก้ไขสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เงินลงทุนรวม 276,561 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ภาครัฐ 159,938 ล้านบาท ภาคเอกชน 116,623 ล้านบาท โดยมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็น “คู่สัญญา” เป็น “ครั้งที่สอง”

โดยเป็นการแก้ปัญหาทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ประกอบด้วย

ค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน และเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ ทั้งนี้ ไม่ขัดข้องในประเด็นการเปลี่ยนวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน

ขณะที่โปรเจ็กต์ที่กำลังแอ็กทีฟ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งลงนามสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด คาดว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติอนุมัติลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (พื้นที่ถมทะเล) จำนวน 1,000 ไร่ กำหนดการก่อสร้างท่าเรือก๊าซ แล้วเสร็จเปิดให้บริการภายในปี 2569

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 การนิคมอุตสาหกรรมฯ บริษัทซื้อซองเอกสารข้อเสนอแปลง A ท่าเรือสินค้าเหลว จำนวน 4 ราย และแปลง C พื้นที่คลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จำนวน 5 ราย

ทั้งนี้ เปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 และคาดว่า กนอ.จะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในปี 2567 ยังไม่นับงบฯลงทุนใหม่ โครงการใหม่-โครงการ 1 ปี ที่ถูกบรรจุอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 งบฯลงทุนปี’67 กว่า 4.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นโครงการผูกพันเดิมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จากงบฯลงทุนทั้งหมด จำนวน 717,199.6 ล้านบาท

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล-ว่าที่ รมว.คลังคนใหม่ พยากรณ์วันตกฟากของรัฐบาลใหม่-งบฯลงทุนก้อนใหญ่ว่า งบประมาณปี’67 กว่าจะประกาศใช้คาดว่าประมาณปลายไตรมาส 2-ต้นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567 หรือมีนาคม-เมษายน 2567

13 โปรเจ็กต์ยักษ์รัฐวิสาหกิจ

ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ปี 2566 ได้รับการอนุมัติกรอบและงบฯลงทุนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวงเงิน 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 276,274 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.กรอบการลงทุนสําหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดําเนินการ 1,163,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 226,274 ล้านบาท

2.กรอบการลงทุนสําหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดําเนินการ 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ

สำหรับโครงการลงทุนสำคัญในปี 2566 ที่บรรจุอยู่ในงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 มี 13 โครงการ

ทั้งนี้ โปรเจ็กต์ใหญ่ที่สุด คือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เบิกจ่ายลงทุน 18,138 ล้านบาท

มีการรายงานความคืบหน้าล่าสุดต่อที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า การก่อสร้างงานโยธาปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวม 21.69% โดยมีงานโยธาจาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญา ภายในปี 2566

โดย 3 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง คือ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงินประมูล 9,348 ล้านบาท ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา)

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในปี 2566

โครงการสำคัญ ๆ อื่น ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบิกจ่ายลงทุน 16,957 ล้านบาท ทั้งนี้ เพิ่งเริ่มต้นก่อสร้าง มีความคืบหน้า 10.41%

โครงการก่อสร้างรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รับผิดชอบโดย ร.ฟ.ท. เบิกจ่ายลงทุน 7,499 ล้านบาท

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เบิกจ่ายลงทุน 8,608 ล้านบาท มีการรายงานความคืบหน้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยก่อสร้างวงเงิน 30,437 ล้านบาท ความคืบหน้าแล้ว 46.21% จากแผนงาน 40.65% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดและเปิดให้บริการในปี 2567

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เบิกจ่ายลงทุน 1,083 ล้านบาท ทั้งนี้ ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปี กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 3 พฤษภาคม 2568

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 3 ระยะที่ 1-5 โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เบิกจ่ายลงทุน 1,338 ล้านบาท

โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เบิกจ่ายลงทุน 5,296 ล้านบาท

โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เบิกจ่ายลงทุน 9,133 ล้านบาท

โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เบิกจ่ายลงทุน 10,552 ล้านบาท

โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 โดยการประปานครหลวง (กปน.) เบิกจ่ายลงทุน 5,460 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายปี 2557-ปี 2563 การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เบิกจ่ายลงทุน 5,953 ล้านบาท

โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เบิกจ่ายลงทุน 6,129 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานทยอยเข้าใช้อาคารได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2567

โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่สอง โดยองค์การเภสัชกรรม เบิกจ่ายลงทุน 1,997 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก จ.ปทุมธานี) โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) เบิกจ่ายลงทุน 1,109 ล้านบาท ทั้งนี้ ลงนามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 คาดแล้วเสร็จปี 2570

และโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เบิกจ่ายลงทุน 880 ล้านบาท

งบฯลงทุนรวมทะลุ 1.4 ล้านล้าน

เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยไม่รวมบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่ไม่ประมาณการข้อมูลวงเงินลงทุน และบริษัท เอซีที โมบาย จำกัด ที่อยู่ระหว่างการขอยุบเลิกกิจการ ซึ่งมีวงเงินดำเนินการรวม 319,930 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนรวม 217,077 ล้านบาท

ส่งผลให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม จะมีการลงทุนตามภารกิจปกติ และโครงการต่อเนื่องในปี 2566 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,483,868 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 443,351 ล้านบาท

ภารกิจต่างประเทศ

วาระการเดินทางไปต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการโรดโชว์ประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย ที่เกิดขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่ อาจเริ่มต้นด้วยการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชน มหานครนิวยอร์ก

ต่อด้วยการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ค.ศ. 2023 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ภายใต้ธีม Creating a Resilient and Sustainable Future for All-สร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ในเดือนธันวาคม มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 2 โดยครั้งแรก จัดเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่เมืองลาบวนบาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และครั้งที่สองจะจัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคม 2566 อันถือเป็นการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลใหม่ยังไม่ปรากฏหน้าตา-ใครจะมาเป็นนายกฯ แต่มีโครงการระดับยักษ์ และภารกิจต่างประเทศรอต้อนรับเมื่อเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

28/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 มิถุนายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS