info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.142.174.55

แฟร์เท็กซ์ บุกแฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพิ่มสาขา-กำลังผลิต รับมวยไทยขาขึ้น

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

“แฟร์เท็กซ์” มั่นใจมวยไทยขาขึ้น ปั้นสินค้ามวยไทยสู่สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ผุดศัพท์ใหม่ “มวยช็อต” หัวหอกสร้างกระแสกางเกงมวยเจาะตลาดแฟชั่นขยายฐานลูกค้ารอบทิศ พร้อมขยายโรงงานเพิ่มกำลังผลิตสูงสุดในวงการ ผุดร้านค้าโมเดลใหม่ไซซ์ 300 ตร.ม. พร้อมยิมมวยให้ทดลองสินค้า ก่อนปูพรมสาขาเจาะห้าง กทม.-เมืองท่องเที่ยว

นายชาโณ เหนือเมฆิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟร์เท็กซ์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ากีฬาและแฟชั่นแบรนด์ Fairtex กล่าวว่า กีฬามวยไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจนโดยเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในไทยและต่างประเทศ หลังฐานลูกค้าขยายออกไปไกลเกินกว่ากลุ่มผู้ฝึกมวยไทย แต่รวมถึงเด็ก วัยรุ่น คนทํางานทั้งชายและหญิงทั้งในแง่กีฬา การออกกำลังกายและไลฟ์สไตล์ ทำให้โอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐพยายามผลักดันเรื่อง Soft Power ด้วยการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกีฬามวยไทยอย่าง จัดชกมวย ออกบูทโปรโมตในแหล่งช็อปปิ้ง รัฐสภา ฯลฯ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเริ่มสนใจมวยไทยในฐานะการออกกำลังสำหรับพนักงาน-บริการสำหรับลูกค้า รวมถึงการจะได้เป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิก 2024 ทำให้มวยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะที่ยิมมวยไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ช่วยให้ผู้สนใจเข้าถึงได้ง่าย ผลักดันให้ดีมานด์อุปกรณ์และสินค้าเกี่ยวกับมวยไทยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้วยกระแสขาขึ้นของตลาดมวยไทยนี้ ทำให้บริษัทตัดสินใจเดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ทั้งด้านสินค้าและเทคนิคการตลาด ซึ่งหลายจุดอาจไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้อย่าง การปั้นมวยไทยและแบรนด์แฟร์เท็กซ์ไปสู่แฟชั่นไลฟ์สไตล์ ด้วยไลน์สินค้าสุขภาพ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ พร้อมแนะนำ Technical Term ใหม่ให้กับตลาดเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำเทรนด์ การใช้ประโยชน์จากสินค้าใหม่ให้มากกว่าการขายโดยตรง เป็นต้น รวมถึงลงทุนขยายโรงงานและอัพเกรดกระบวนการผลิตใหม่ให้มีกำลังผลิตสูงสุดในอุตสาหกรรมสินค้ากีฬาต่อสู้

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายสาขาร้าน Fairtex โมเดลใหม่ที่จะปักธงทั้งในทำเลย่านช็อปปิ้ง กทม. และจังหวัดท่องเที่ยว ตามแผนขยายฐานลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามเป้าผลักดันรายได้ของบริษัทให้เติบโต ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมมวยไทยและกีฬาต่อสู้

“มวยช็อต” หัวหอกบุกไลฟ์สไตล์

นายชาโณกล่าวว่า การปั้นมวยไทยและแบรนด์แฟร์เท็กซ์ไปสู่แฟชั่นไลฟ์สไตล์ผ่านสินค้าและกลยุทธ์การตลาด นั้นจะต่อยอดรากความเป็นแบรนด์กีฬามวยอย่างชัดเจนของแฟร์เท็กซ์ มาผลิตเป็นสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ด้วยโอกาสที่ปัจจุบันการใส่ชุดกีฬา-แบรนด์กีฬาไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นผู้เล่นกีฬานั้น ๆ แล้ว สะท้อนจากรองเท้าวิ่ง กางเกงโยคะ ฯลฯ จึงเป็นโอกาสของแฟร์เท็กซ์และชุดมวยไทยได้เช่นกัน

โดยจะเริ่มแผนขั้นแรกด้วยการสร้างคำศัพท์ขึ้นมาใหม่ เช่น มวยช็อต เพื่อเรียกกางเกงมวยที่ปรับดีไซน์ให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่าง มีกระเป๋าข้าง แต่คงกลิ่นอายแบบกางเกงมวยไว้ด้วยแถบยางยืด หรือโลโก้แฟร์เท็กซ์ เพื่อให้การใส่กางเกงที่เหมือนกางเกงมวยในชีวิตประจำวันแพร่หลายยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ใส่และผู้พบเห็นคุ้นเคย

ทั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จของคอลเล็กชั่นพระนคร ซึ่งเป็นกางเกงมวยดีไซน์ย้อนยุคแบบสมัยจอมพล ป. ซึ่งไม่สามารถใส่ขึ้นชกจริงได้ แต่ได้รับความนิยมสูง สะท้อนโอกาสของสินค้ามวยแบบไลฟ์สไตล์ แตกต่างจากไลน์สินค้าไลฟ์สไตล์เดิมที่จะเป็นสินค้าดีไซน์ปกติเพียงแต่มีโลโก้แฟร์เท็กซ์ อย่าง ถุงเท้า กระเป๋าเป้ หมวกแก๊ป ฯลฯ

พร้อมกันนี้จะมีกลุ่มใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ร่ม ที่เน้นคุณภาพสูงและติดแบรนด์แฟร์เท็กซ์ชัดเจน แต่วางโพซิชั่นเป็นกึ่งของสะสม โดยไม่วางจำหน่ายโดยตรง ต้องซื้อสินค้าอื่นตามเงื่อนไขจึงจะได้รับ เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นดีมานด์สินค้าตัวอื่นของแบรนด์ ซึ่งจะขยายไลน์เพิ่มหมวก, รองเท้าแตะ, รองเท้าสนีกเกอร์, แว่นตา, กระเป๋าเงิน ฯลฯ ในอนาคต

ส่วนสินค้าสุขภาพจะเชื่อมโยงกับมวยไทยและกีฬาต่อสู้เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา เสื้อผ้าที่มีฟังก์ชั่นพิเศษ อย่าง ป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ เพิ่มความทนทาน ซึ่งจะนำมาใช้ในสินค้า เช่น บุด้านในนวมเพื่อลดกลิ่น เพิ่มความทนทานให้บราท็อป เป็นต้น รวมถึงจะมีน้ำมันมวยกลิ่นใหม่อีก 3 สูตร จากเดิมมีกลิ่นส้ม, เป๊ปเปอร์มินต์ รวมถึงกลุ่มทำความสะอาดอย่างสบู่ ชุดทำความสะอาดอุปกรณ์มวย ฯลฯ

ขยายฐานผู้หญิง-เด็ก

ในส่วนของสินค้ากีฬาปีนี้จะมีสินค้าสำหรับผู้หญิงและเด็กออกมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สำหรับเด็กแบบครบชุดนับ 10 ดีไซน์ ตั้งแต่นวม, เฮดการ์ด, ชินการ์ด, กางเกงมวย รวมกระสอบทราย ควบคู่กับกลยุทธ์การสื่อสารสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ทั้งพรีเซ็นเตอร์ ธีมและภาษาให้เข้าถึงเด็กได้ดี ส่วนสินค้าสำหรับผู้หญิงจะไปในทิศทางเดียวกัน เช่น บราท็อปแบบทนทานพิเศษ โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้

นอกจากนี้ยังเตรียมบุกตลาดอุปกรณ์กีฬาเทควันโด ซึ่งเป็นกีฬาต่อสู้อีกประเภทที่ได้รับความนิยมในไทยและมีผู้ฝึกจำนวนมาก สะท้อนจากการแข่งที่มีผู้เข้าร่วมระดับพันคน แต่สินค้าในตลาดยังขาดความหลากหลายด้านดีไซน์ เช่น มีสีเพียงขาว, น้ำเงิน และแดงเรียบ ๆ เท่านั้น จึงเป็นโอกาสต่อยอดความชำนาญด้านงานดีไซน์ของแฟร์เท็กซ์ โดยอยู่ระหว่างร่วมมือกับนักกีฬา อดีตนักกีฬาและโค้ชทีมชาติไทยเพื่อพัฒนาสินค้าต้นแบบตั้งเป้าชิงเซ็กเมนต์สินค้าสำหรับฝึกซ้อมเนื่องจากการมีอิสระด้านการดีไซน์สูง แต่การแข่งขันน้อยกว่าอุปกรณ์แข่ง

“Fairtex เราวางตําแหน่งของเราต่างจากแบรนด์อื่น โดยเราจะหาช่องว่างและแทรกเข้าไปเปลี่ยนตลาด ดังนั้น Fairtex ในอนาคตจะไม่ใช่บริษัทสินค้ามวยไทย แต่เป็นบริษัทสินค้ากีฬาต่อสู้ ที่มีรากเป็นมวยไทย เพราะเราไม่ได้ขายสินค้ามวยไทยอย่างเดียว”

ผุดร้านโมเดลใหม่-ปูพรมสาขา

ด้านสาขาโมเดลใหม่นั้น ผู้บริหารแฟร์เท็กซ์ อธิบายว่า บริษัทออกแบบสาขาโมเดลใหม่ เน้นสร้างประสบการณ์ในการช็อป ด้วยการเปิดให้ลูกค้าสามารถทดลองสินค้าได้ทุกชิ้นโดยมียิมมวยไทยจำลองพร้อมสินค้าครบทุกแบบ เช่น เป้าเตะ นวม ฯลฯ ให้ลูกค้าสามารถหยิบจากชั้นวางมาลองใช้ชกจริง เตะจริงได้เต็มที่ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเปิดสาขาต้นแบบเมื่อช่วงต้นปีที่พาวิลเลี่ยน ไนท์บาซาร์ เชียงใหม่ บนพื้นที่ 300 ตร.ม. หากได้รับการตอบรับดีอาจนำไปใช้ในการขยายสาขาอื่น ๆ ในอนาคตด้วย

ขณะเดียวกันมีแผนขยายสาขา Fairtex Pro Shop โมเดลปกติเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 4-5 สาขา ในทำเลทั้งห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กระบี่, นครราชสีมา ตามเป้ามีสาขา 17 สาขา ภายในสิ้นปี 2567 นี้ เพื่อให้ผู้บริโภคไทยและต่างชาติเข้าถึงสินค้าของ Fairtex มากขึ้น จากปัจจุบันมี 10 สาขา ประกอบด้วยบางพลี, เมกาบางนา, เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะมอลล์บางกะปิ, เชียงใหม่, ลุมพินี, พัทยา, หัวหิน, ภูเก็ต และสมุย

พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิม เช่น สาขาเมกาบางนา ซึ่งจะขยายพื้นที่จาก 70 ตร.ม. เป็น 100 ตร.ม. ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ที่จะถึงนี้ หลังที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวไทยจำนวนมาก

ขยาย รง.เพิ่มกำลังผลิต

นายชาโณกล่าวว่า ปี 2567 นี้ บริษัทลงทุนขยายกำลังผลิตต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยายอาคารโรงงานเพิ่มเพื่อให้โรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงานบางบอนและบางพลีมีพนักงาหนฝ่ายผลิตเพิ่มจาก 600 คน เป็น 800 คน และขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีกำลังผลิตสูงสุดในวงการ หลังปี 2566 ซื้อโรงงานใหม่ที่บางบอน รวมถึงย้ายโกดังสินค้าไปยังสถานที่ใหม่ใหญ่ขึ้นเป็น 6,000 ตร.ม. เพื่อนำพื้นที่มาใช้ขยายโรงงาน

พร้อมกับอัพเกรดกระบวนการผลิตตามแนวคิดระบบอุตสาหกรรมและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น เก็บข้อมูล?อย่างเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน หรือ Cycle Time เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าการอัพเกรดกระบวนการผลิตจะเสร็จสมบูรณ์ภายในช่วงไตรมาส 2 หลังปัจจุบันรอเพียงการนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้ง

ทั้งนี้ เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะผลักดันให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโต พร้อมกับการยกภาพลักษณ์ให้มวยไทยเข้าใกล้การเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยและต่างประเทศได้มากขึ้น... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/marketing/news-1542823

17/4/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 17 เมษายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS