จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว งาน Sustainability Expo 2023 (SX 2023) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปีนี้กำหนดจัดระหว่าง 2-8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หนึ่งในไฮไลต์อยู่ที่การออกบูทของอภิโปรเจ็กต์ภาคเอกชน วัน แบงค็อก โครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท ของตระกูลสิริวัฒนภักดี บนที่ดินเช่าระยะยาวจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขนาด 104 ไร่ ใจกลางมหานครกรุงเทพ พิกัดถนนวิทยุตัดกับถนนพระรามที่ 4
ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการล่าสุด วัน แบงค็อก เตรียมอวดโฉมให้ได้สัมผัสโครงการภายในปลายปี 2567 นี้
เปิดโมเดล Realestate-as-a-Service
ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ขึ้นเวทีเสวนาหัวข้อ The Future of Sustainability and Smart City Living for Better Community-ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชุมชน
ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือ FPL สั่งสมประสบการณ์การลงทุน 30 ปี ขยายเครือข่ายแล้ว 20-22 ประเทศ ใน 130 เมือง ได้เห็นประสบการณ์ในโลกที่จะนำมาผูกโยงต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย
โดย FPL ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาฯระดับโลก มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการตอบแทนให้กับสังคมและผู้คน เป็นกรอบสำคัญในการพัฒนาโครงการเสมอมา
เรามีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน เพราะอุตสาหกรรมอสังหาฯเป็นผลกระทบต่อภาวะเรือนกระจกมากกว่า 40% ของการสร้างผลกระทบทุกภาคส่วนในโลก ดังนั้น หน้าที่เรา นอกจากเป็นผู้ที่จะสร้างพื้นที่ (พัฒนาโครงการ) เป็นแล้ว เรามีหน้าที่ทำความเข้าใจ สร้างให้คนใช้พื้นที่เป็นอีกด้วย มีการกำหนดเป้าหมาย หรือ purpose องค์กร ต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ยังคงอยู่
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำงานร่วมกับผู้ใช้อาคาร และเป็นแนวคิดที่เราจะพัฒนา สร้างโปรดักต์ควบคู่การให้บริการ ภายใต้โมเดล Realestate-as-a-Service เพราะมุมมองความยั่งยืนของ FPL เรามองความยั่งยืนทุกรูปแบบที่ครบวงจร
ทุกโครงการเริ่มต้นที่ คน-ชุมชนรอบข้าง
ถอดรหัสแนวคิด Realestate-as-a-Service คือ สร้าง สร้าง placemaking สร้างสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนให้คนใช้กรีนลิฟวิ่ง โดยเฉพาะในโครงการที่อยู่อาศัย FPL เป็นผู้พัฒนาคาร์บอน 0% แห่งแรก โดยมีตัวแบบจากการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในประเทศอังกฤษ โดยนำมาปรับใช้กับการพัฒนาโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ที่มีการเช่าที่ดินระยะยาวจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสแนวใหม่
สามย่านมิตรทาวน์ นำเสนอการใช้พื้นที่แบบ inclusive space ให้คนทุกระดับสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ เราไม่ได้มองการสร้างพื้นที่เพื่อรายได้เป็นหลัก แต่เราสร้างสเปซทำเป็น cospace samyan ขึ้นมา
กล่าวสำหรับโครงการ วัน แบงค็อก ขั้นตอนปฏิบัติสิ่งแรก ๆ ที่ทำก่อนจะลงมือก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับสังคมและชุมชนโดยรอบบริเวณโครงการ ว่าจะสามารถ connect กันได้ยังไงบ้าง
จุดเน้นอยู่ที่ FPL มีหลักคิด การทำธุรกิจวันแรกที่เริ่มต้น แม้แต่การควบรวมกิจการเข้ามา มีการนำแนวคิดของทุก ๆ ประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างรูปแบบ (ที่อยู่อาศัย คอมเมอร์เชียล อุตสาหกรรม) มาสานต่อ มาพัฒนา และมาพัฒนาต่อชุมชน หนึ่งในตัวอย่างที่เป็น proudly present ของกลุ่ม FPL ก็คือโครงการ วัน แบงค็อก ที่เริ่มต้นจากการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ก่อนที่คิดจะมาสร้างการพัฒนาปูนกับเหล็ก
วัน แบงค็อก เราเน้นพื้นที่สีเขียว ในการออกแบบโครงการเราสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวที่ลึกไปจากถนน 40-45 เมตร ซึ่งนโยบายในการพัฒนาเรื่องนี้ ตรงกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการที่มีฟุตปาทให้คนเชื่อมโยงกับเมืองได้มากขึ้น สร้างร่มเงาด้วยต้นไม้ สร้างศักยภาพเชื่อมโยงของผู้คนกับเมืองที่ดีขึ้น
จะเห็นว่าเบื้องหลังการทำงาน การจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มีศักยภาพได้ มีความท้าทายด้านวิศวกรรมเยอะมาก แต่ วัน แบงค็อก ได้สร้างสีเขียวในโครงการ สร้างเทคโนโลยีทันสมัย และระบบควบคุมความปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาซีเคียวริตี้ ที่เป็นต้นทางไปสู่คุณภาพชีวิตของคน ลงลึกไปสู่วัฒนธรรมและครอบครัว เพราะ FPL เล็งเห็นว่าการสร้างความยั่งยืนครบวงจร นอกจากทำเรื่องคาร์บอนต่ำแล้ว การยกระดับทุกชนชั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะมีส่วนสร้างสังคมไปด้วยกัน
จุดเน้น การออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดี
ปณต กล่าวถึงความสำเร็จของการสร้างความยั่งยืนทุกมิติ ไม่สามารถสำเร็จได้โดยลำพัง หากแต่ต้องเกิดจากความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งรัฐในฐานะผู้ออกนโยบาย ภาคเอกชนที่มีความสามารถในการทำและสนับสนุน ลูกค้าและประชาชนในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นผู้ใช้อาคาร
วัน แบงค็อก จากความตั้งใจเราที่จะทำงานร่วมกับผู้ใช้อาคาร เราทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ เรามีแรงซัพพอร์ต แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมายใหญ่ ก็ยากที่จะไปทิศทางเดียวกัน FPL สร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เข้าใจว่าเมื่อเปิดบริการแล้วจะมีคนมาใช้ออฟฟิศมหาศาล
คุยกับทีมงานเราต้องทำงานเพื่ออนาคต เราออกแบบเพื่อให้คนจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตในออฟฟิศที่ดีได้ยังไง ไม่ใช่มีแต่แมเนจเมนต์อยู่หน้ากระจกที่ออกแบบมาอย่างดี แต่ไม่ได้ออกแบบคุณภาพชีวิตในโครงการ จะอยู่กันยังไง ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือเราต้องหาคนที่คิดเหมือนกัน และพร้อมจะทำเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้นให้กับโลก
บทสรุปอยู่ที่ สหประชาชาติตั้งเป้าหมาย 10 ปีแห่งการลงมือทำในด้านความยั่งยืนทุกมิติ เป็นแรงบันดาลใจทำร่วมกันเพื่อรักษาโลกนี้ให้คงอยู่ตลอดไป รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้อาคารของ FPL ด้วย
ตั้งเป้าคว้าทุกมาตรฐานระดับโลก
ทั้งนี้ FPL เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมพลังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตจากองค์กรทั่วโลก โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative : SBTi) ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
นำมาสู่ วัน แบงค็อก โครงการที่มีการพัฒนาในรูปแบบ Themed Project ที่ต้องการสร้างภาพจำว่าเป็นโครงการต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ด้วยการประสานแนวคิดของ Smart City และ Smart Living เข้าด้วยกัน มุ่งสู่การเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum แห่งแรกในประเทศไทย และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Inspiring experience. Creating places for good. ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งมุ่งมั่นต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่มีความหมายต่อผู้คน การพัฒนาเมืองและสังคม ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับการก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
Themed Project ครอบคลุม 3 มิติ
สำหรับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ วัน แบงค็อก นำเสนอใน 3 แง่มุม ประกอบด้วย
1.Smart Technologies นำเสนอผ่าน CUP-Central Utility Plant ศูนย์กลางของระบบอัจฉริยะที่เปรียบเสมือนหัวใจของ วัน แบงค็อก เป็นอาคารสาธารณูปโภคแบบรวมศูนย์ที่ล้ำสมัย รวบรวมการทำงานทุกระบบไว้ในที่เดียว เพื่อการบริหารและจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
โดยมี District Command Center หรือศูนย์บัญชาการกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบควบคุม บริหารจัดการ และทำงานร่วมกันกับแพลตฟอร์ม Smart Estate ควบคู่กับระบบ AI ขั้นสูง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการระบบการใช้น้ำและพลังงานไฟฟ้าของโครงการ
ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และจุดควบคุมอัจฉริยะ 250,000 ตัว กล้องวงจรปิด 5,000 จุด ที่สามารถตรวจสอบและบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัย และระบบ Traffic Control ตรวจสอบและรายงานสภาพการจราจรภายในโครงการ
นอกจากนี้ มี Smart Pole ให้แสงสว่างและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วทุกพื้นที่ เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WiredScore Platinum ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดจาก WiredScore ตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้อาคารในการเชื่อมโยงดิจิทัล (digital connectivity) ทั้งเชิงกายภาพและทางไซเบอร์
ต่อจิ๊กซอว์ความยั่งยืนครบทุกมิติ
2.Sustainable Development วัน แบงค็อก ถูกพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับ SDGs-Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ Electric Power Saver ระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง บริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้คุ้มค่าสูงสุด
District Cooling System ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, Smart Water Management ระบบบริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียน, Construction Waste Management ตั้งเป้านำขยะจากการก่อสร้างมากกว่า 75% กลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล อาทิ การนำเทคโนโลยีบดย่อยเศษขยะคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม เพื่อนำไปสร้างผนังอาคาร, การนำเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างมาผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงในอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการ เป็นต้น
รวมถึง Food Waste Management เทคโนโลยีการจัดการเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย, การใช้เครื่องบดอัดขยะ (Smart Compactor) ช่วยลดพื้นที่และเพิ่มสุขอนามัยในการจัดเก็บขยะ
3.Unparalleled Experiences in One Bangkok จัดให้มีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ เป็นจุดพักผ่อนใจกลางเมือง และเป็นพื้นที่สันทนาการ มีสวนสาธารณะแนวยาว (Linear Park) ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการถึง 35-45 เมตร อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ, มีทางเท้าที่สะดวกและกว้างขวาง สามารถเดินเข้าถึงทุกพื้นที่ในโครงการได้เพียง 15 นาที สอดคล้องกับแนวคิด 15-Minute Walking City เทรนด์ใหม่ของการพัฒนาเมืองที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้คน
ฟังก์ชั่นที่ว้าวสุด ๆ ยังมี Art Loop โดยรอบโครงการกว่า 2 กิโลเมตร เชื่อมโยงผลงานศิลปะสาธารณะ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน
8/10/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 8 ตุลาคม 2566 )