กานดา พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเกมรุกบ้านแนวราบปี 65 เตรียมส่ง 6 โครงการ มูลค่า 4.7 พันล้านบาท หลังมั่นใจตลาดอสังหาฯ ยังโตได้ต่อจากปัจจัยบวก ตั้งเป้ายอดขายทะลุ 3,300 ล้านบาท
12 ม.ค.2565 - นายหัสกร บุญยัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ว่า ในปี 2565 บริษัทมีแผนจะเปิดโครงการใหม่เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบรวม 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,700 ล้านบาท
ซึ่งมีทั้งการเปิดโครงการในทำเลเดิม และขยายไปในทำเลใหม่ๆ รวมทั้งการเปิดแบรนด์ใหม่ในกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ระดับกลาง-กลางบน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุม และขยายฐานการสร้างรายได้ให้กว้างขึ้น
สำหรับโครงการใหม่ที่จะเปิดขายในปี 2565 ประกอบด้วย
โครงการไอลีฟ ไพร์ม ลำลูกกา คลอง 2
โครงการไอลีฟ ไพร์ม 2 ประชาอุทิศ 90
โครงการไอลีฟ พราวด์ พระราม 2 กม. 14
โครงการไอลีฟ พราวด์ วงแหวน-รังสิต คลอง 4
โครงการไอลีฟ ไพร์ม รามอินทรา-คู้บอน
โครงการไอลีฟ ไพร์ม พัทยา-จอมเทียน ที่จังหวัดชลบุรี
ในปี 2565 บริษัทจะมีทั้งโครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการขายรวม 16 โครงการ ใน 11 ทำเล ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค โดยได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3,300 ล้านบาท และเป้ารายได้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 บริษัททำยอดขายไปได้ 3,000 ล้านบาท และมีรายได้อยู่ที่ 2,050 ล้านบาท ซึ่งถือว่าทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีการเปิดโครงการใหม่ไปเพียง 2 โครงการ ได้แก่ ไอลีฟ ไพร์ม ประชาอุทิศ 90 และ ไอลีฟ ไพร์ม 2 พระราม 2 กม. 14
ภาพรวมของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 จะเติบโตขึ้นกว่าปี 2564 แต่เป็นการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่เชื่อว่าถ้าความรุนแรงและผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นมากจะทำให้ความกดดันที่จะต้องใช้มาตรการปิดประเทศลดน้อยลง ขณะที่ไทยรวมถึงหลายๆ ประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่ไปกับการควบคุมโรค ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ แม้จะเติบโตได้ไม่มากนัก
นายหัสกรกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ การผ่อนคลายมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และการขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยจะมีผลในเชิงบวกต่อตลาด จากการผ่อนปรนให้ผู้ซื้อสามารถขอสินเชื่อได้ 100% และช่วยลดภาระจากมาตรการลดค่าโอน ขณะเดียวกัน ยังส่งผลเชิงจิตวิทยา จากการที่ภาครัฐใช้อสังหาฯเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อตลาด และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค
นอกจากนี้ การลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองจะช่วยให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับราคาบ้านตามต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่หลายตัวได้ปรับขึ้นไปแล้ว 5-30% เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการยังคงให้ความสำคัญกับสภาพคล่องมากกว่าผลกำไร การลดค่าโอนจึงช่วยให้ผู้ประกอบการนำประโยชน์ที่ได้จากส่วนนี้ส่งต่อไปให้ผู้บริโภคทั้งในเรื่องของการโปรโมชั่น หรือการชะลอการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
กานดา เชื่อมั่น อสังหาฯไทย ลุยเปิดใหม่ 6 โครงการ 4.7 พันล.
คาดว่าตลาดบ้านแนวราบจะยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 โดยส่วนหนึ่งจะยังคงได้อานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าที่เคยอยู่ในเมืองอาจจะขยับออกมาชานเมือง เพื่อซื้อบ้านที่ได้พื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น ได้อยู่กับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น ได้ประโยชน์จากการอยู่อาศัยที่คุ้มค่าขึ้นจากการที่จะต้อง work from home ส่วนคอนโดมิเนียมจะเริ่มฟื้นตัวแต่จะยังไม่กลับไปดีเท่ากับช่วงก่อนปี 2560 ซึ่งทั้งบ้านแนวราบ และคอนโดมิเนียม จะเป็นการทำตลาดในกลุ่มที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงเป็นกลุ่มหลัก
นายหัสกร กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจและทำให้บริษัทต้องปรับตัวใน 3 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่บริษัทให้สำคัญที่สุดคือ การบริการสภาพคล่องทั้งเงินที่จะเข้ามาและเงินที่จะต้องจ่ายออกไป โดยโฟกัสไปที่การขายและการก่อสร้างที่จะต้องสอดรับกันระหว่างรายรับกับรายจ่าย โดยมีการวางแผนงานก่อสร้างกับงานขายที่ต้องประชุมติดตามกันอย่างใกล้ชิด
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องของความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของพนักงานและลูกค้า พนักงานที่มีการสัมผัสใกล้ชิดลูกค้าจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยมีการตรวจ ATK การทำความสะอาดบ้านตัวอย่างและสำนักงานขายอย่างสม่ำเสมอ อุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันต่างๆ มีการเตรียมไว้ให้พร้อมในทุกโครงการ รวมถึงการให้พนักงานสลับกัน work from home เพื่อลดความหนาแน่นของแต่ละไซต์โครงการ เป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของการปรับปรุงระบบการทำงานของบริษัทให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างเช่น เรื่องโปรดักส์ได้มีการออกแบบบ้านใหม่รองรับ New Lifestyle ที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นบ้านในสไตล์ English Garden ที่มีการออกแบบพื้นที่รองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายจากการที่ผู้บริโภคต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น และนำสไตล์การจัดสวนแบบอังกฤษมาช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลายในโครงการ
แบบบ้านสไตล์ English Garden จะมีความคลาสสิก ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและผ่อนคลาย เมื่อผู้บริโภคต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น โดยได้นำมาใช้กับโครงการไอลีฟ ไพร์ม 2 พระราม 2 กม. 14 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 เป็นโครงการแรก และจะนำไปใช้กับทุกโครงการใหม่ในปี 2565 เริ่มที่โครการไอลีฟ ไพร์ม พัทยา-จอมเทียน ที่คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับแนวคิดการพัฒนาโครงการในทุกโครงการจากเดิมที่ใช้ 4 Kanda Concept เป็นหลักในการพัฒนา ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 5 Kanda Concept ประกอบด้วย
Eco Smart การใช้พลังงานทางเลือก โดยใช้หลักการของ 3R-Reduce Reuse Recycle
Easy Maintenance การออกแบบบ้านให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุงในอนาคต การเลือกใช้วัสดุทนทาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Multi Generation ออกแบบบ้านที่คำนึงถึงการอยู่อาศัยร่วมกันของแต่ละช่วงวัย ตอบโจทย์การอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่
Flood Protection การออกแบบโครงการให้มีระบบป้องกันน้ำท่วม
ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น concept ที่ 5 คือ
Space Matter การให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับความต้องการใช้พื้นที่หลากหลายขึ้น เช่น บ้านหนึ่งหลังออกแบบให้มี 4 ห้องนอน ด้วยจำนวนห้องที่หลากหลายทำให้เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนห้องได้ตามประโยชน์การใช้สอย รวมไปถึงการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้สอยในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ให้เหมาะสมกับ space ในส่วนนั้นๆ
นายหัสกร กล่าวปิดท้ายว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าบริษัทวางเป้าจะขยายทำเลใหม่เพิ่มปีละ 1-2 ทำเล และเปิดโครงการปีละ 5-10 โครงการ ตั้งเป้าเติบโตปีละ 10-20% หรือมีรายได้ประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท ขณะที่แผนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ได้วางเป้าในการเติบโตที่สูงขึ้น โดยมีการขยายธุรกิจเพิ่มจากปัจจุบันมีธุรกิจสำนักพิมพ์ออนไลน์ และการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาปล่อยเช่าในระยะยาว ในอนาคตจะมีการขยายธุรกิจไปในอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ เพิ่ม โดยคาดว่าจะมีรายได้ในระดับ 3,000-3,500 ล้านบาท
12/1/2565 ฐานเศรษฐกิจ (12 มกราคม 2565)