กทม. เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางลอดย่านฝั่งธนบุรี พร้อมเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัย
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางลอดในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนก และโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ โดยมี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เจ้าหน้าที่ควบคุมงาน และผู้รับจ้างโครงการ ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูลกรุงเทพมหานคร
โดยสำนักการโยธา ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนก ความยาวรวม 1,250 ม. ขนาด 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความกว้างประมาณ 10 ม. ความสูงภายในทางลอด 5 ม. ความยาวทางลอดประมาณ 600 ม. จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 27 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ที่ผ่านมาได้มีการปรับแผนงานก่อสร้าง
รวมถึงปรับโครงสร้างทางลอดเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระยะความสูงของสถานีรถไฟฟ้า เนื่องจากการติดตั้งค้ำยันเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าเป็นอุปสรรคในการขุดดิน ปัจจุบันผลงานในภาพรวมทำได้ 84 % โดยงานก่อสร้างพื้นและหลังคาอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งหมด
ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดงานระบบภายในทางลอด ทั้งในส่วนของระบบไฟฟ้า ระบบดับเพลิง และระบบระบายน้ำ พร้อมทั้งเก็บความเรียบร้อยพื้นผิวจราจรบริเวณทางแยกและส่วนต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเปิดการจราจรทางลอดดังกล่าวได้ตามแผนงานที่กำหนดภายในเดือน ส.ค. 65 ส่วนโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์
ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางลอด 4 ช่องจราจร ความกว้างทางลอด 16.40 ม. (กว้างช่องละ 3.25 ม.) ความยาวทางลอดประมาณ 1,025 ม. ส่วนที่มีหลังคาคุมยาวประมาณ 500 ม. พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิง และทำการปรับปรุงขยายผิวจราจรส่วนต่อเนื่อง รวมความยาวทั้งโครงการ 1,515 ม.
อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาส่งผลทำให้โครงการล่าช้า อาทิ การขออนุมัติแผนการจัดการจราจร เพื่อปิดพื้นผิวจราจรในการก่อสร้าง มีท่อประปาเดิมใต้ดินขนาด 800 มม. ตลอดแนวกึ่งกลางทางลอด และขนาด 1,000 มม. บริเวณกลางแยก ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างผนังทางลอดได้ในบางส่วน และไม่สามารถขุดดินทางลอดได้ทั้งหมด
ตลอดจนมีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างเป็นการชั่วคราวและตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามออกนอกเคหะสถาน ปัจจุบันผลงานโดยภาพรวมทำได้ 78 % เป็นการก่อสร้างโครงสร้างหลักตัวอุโมงค์ ประกอบด้วย ผนังทางลอด หลังคาทางลอด พื้นทางลอด แล้วเสร็จทั้งหมด คงเหลือเฉพาะงานบ่อสูบน้ำใต้พื้นทางลอดที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.65 ในส่วนของแผนการดำเนินงานตามงานหลักที่สำคัญในส่วนที่เหลือ ได้แก่
1.งานตกแต่งและฉาบผนังทางลอด เริ่มดำเนินการเดือนมิ.ย.65 จะแล้วเสร็จเดือนก.ค.65 2.งานราวกันชน ค.ส.ล. เริ่มดำเนินการเดือนพ.ค.65 จะแล้วเสร็จเดือนก.ค.65 3.งานระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิง และระบบระบายอากาศ เริ่มดำเนินการเดือนมิ.ย.65 จะแล้วเสร็จเดือนส.ค.65 4.งานปูผิวแอสฟัลต์และงานจราจรสงเคราะห์ เริ่มดำเนินการเดือนส.ค.65 จะแล้วเสร็จเดือนก.ย.65 โดยจะเร่งรัดดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน คาดว่าจะสามารถเปิดใช้การจราจรทางลอดได้ภายในเดือนก.ย.65
ทั้งนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้รับจ้างและเจ้าหน้าที่โครงการ เร่งรัดโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างหลัก เช่น พื้นทางลอด หลังคาทางลอด หากแล้วเสร็จให้เปิดการจราจร เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด
จากนั้นให้ทยอยเก็บรายละเอียดของงานในส่วนที่เหลือ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาการระบายน้ำหากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก การทำความสะอาดพื้นที่โครงการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่โครงการก่อสร้างและบริเวณโดยรอบอย่างเคร่งครัด
เช่น การจัดระเบียบแนว Barrier แผงติดตั้งผ้าใบ การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณป้ายเตือน มีพื้นที่สำหรับจุดกลับรถ จัดทำทางข้ามชั่วคราวระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าว การซ่อมแซมคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นช่วง ๆ การปรับปรุงทางเท้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยตลอดแนวพื้นที่โครงการ
10/6/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (10 มิถุนายน 2565)