รองจักกพันธุ์ เดินหน้านโยบายสิ่งแวดล้อมดี+สุขภาพดี ตรวจงานและสั่งการปรับปรุงปรับปรุงห้องน้ำ ติดตั้งไฟส่องสว่างภายในสวน เน้นความสะดวกและดูแลความปลอดภัยผู้ใช้บริการสวนใต้ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดถนนพระราม 9 เขตสวนหลวง และปรับปรุงพื้นที่สวนสิริภิรมย์ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 2
วันที่ 26 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าตามนโยบายสิ่งแวดล้อมดีและสุขภาพดีตรวจงานและเร่งรัดปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในสวนสาธารณะ 2 จุด
ได้แก่ จุดที่ 1 สวนใต้ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดถนนพระราม 9 เขตสวนหลวง โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ทำสัญญาขอใช้ที่ดินในเขตทางพิเศษศรีรัช บริเวณใต้ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและลานกีฬา สัญญาระยะ 5 ปี เริ่มสัญญาปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อสัญญาใช้พื้นที่ปี พ.ศ. 2562-2567
สวนใต้ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดถนนพระราม 9 มีพื้นที่ 70 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซน 1 พื้นที่ 24 ไร่ โซน 2 พื้นที่ 19 ไร่ โซน 3 พื้นที่ 10 ไร่ และโซน 4 พื้นที่ 17 ไร่ โดยปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว รูปแบบสวนป่า ปลูกต้นไม้ใหญ่ มีลานกีฬา 3 ลาน เฉพาะโซน 1, 2, 4 ห้องสุขาสาธารณะ 2 หลัง แต่ละหลังประกอบด้วย สุขาชาย 3 ห้อง สุขาหญิง 4 ห้อง สุขาผู้พิการ 1 ห้อง ห้องอาบน้ำ 2 ห้อง
มีเส้นทางเดิน-วิ่งแยก 3 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 ระยะ 500 เมตร โซนที่ 2 ระยะ 350 เมตร โซนที่ 3 ระยะ 420 เมตร ปัจจุบันห้องสุขาสาธารณะมีสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย อีกทั้งบริเวณโดยรอบสวนป่าไม่มีรั้ว จึงไม่มีเวลาเปิด-ปิดบริการ ไม่มีระบบไฟฟ้าส่องสว่าง จึงยากต่อการรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน
ทั้งนี้ รองจักกพันธุ์ ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานสำนักงานเขตสวนหลวง พิจารณาประมาณราคาติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ปรับปรุงห้องสุขา ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาผู้สูงอายุและผู้พิการให้พร้อมใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จัดทำรั้วบริเวณโดยรอบ
นอกจากนี้ให้สำรวจแนวท่อระบายน้ำว่ามีความลาดเอียงให้น้ำไหลลงสู่ท่อที่เชื่อมต่อด้านถนนศรีนครินทร์หรือไม่ รวมถึงหาแนวทางจัดทำบ่อพักและวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ
จุดที่ 2 ลงพื้นที่สวนสิริภิรมย์ (สวนสาธารณะบึงลำไผ่) ซอยประชาร่วมใจ 7 เขตมีนบุรี ติดตามโครงการปรับปรุงพื้นที่สวนสิริภิรมย์ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 2 ให้เป็นสวนสาธารณะเชื่อมต่อกันทั้ง 2 ฝั่ง
โดยสวนสิริภิรมย์เข้า-ออกได้ 2 ทาง คือ ซอยประชาร่วมใจ 5 และซอยประชาร่วมใจ 7 ปัจจุบันทางเข้าบริเวณซอยประชาร่วมใจ 5 ชำรุดเสียหาย จึงได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานสำนักงานเขตมีนบุรี ดำเนินการปรับปรุงโดยหาแนวทางยกระดับถนนให้สูงขึ้นอีก 50 ซม. พร้อมวางท่อระบายน้ำตลอดแนวถนน
ส่วนสำนักงานเขตมีนบุรีและคลองสามวา พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์บึงลำไผ่ ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ พร้อมทั้งได้จัดหาที่ดินไว้ให้ใหม่
ทั้งนี้ ที่ดินสาธารณประโยชน์บึงลำไผ่ มีพื้นที่ทั้งหมด 78 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา แบ่งออกเป็น ด้านตะวันออกอยู่ในพื้นที่เขตคลองสามวา พื้นที่ 32 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนสิริภิรมย์ (สวนสาธารณะบึงลำไผ่) ด้านตะวันตกอยู่ในพื้นที่เขตมีนบุรี พื้นที่ 46 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา
ที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวมีผู้บุกรุก 30 ราย ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขที่อยู่อาศัยของผู้บุกรุกที่สาธารณะบึงลำไผ่ ระดับเขต โดยได้พิจารณาจัดรูปที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา อย่างไรก็ตาม สำนักสิ่งแวดล้อมมีโครงการในระยะที่ 2 เพื่อดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ด้านตะวันตกให้เป็นสวนสาธารณะต่อไป
สำหรับสวนสิริภิรมย์ (สวนสาธารณะบึงลำไผ่) ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาร่วมใจ ซอยประชาร่วมใจ 7 เขตมีนบุรี เดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มีลักษณะเป็นคลองผ่ากลาง สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคนในครอบครัว แล้วเสร็จเมื่อปี 2561
สวนสิริภิรมย์ มีความหมายว่า สวนที่มีแต่ความรื่นรมย์และความเจริญ โดยภายในสวนได้ออกแบบก่อสร้างในแนวคิดสวนอเนกประสงค์ที่ผสมผสานความเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ห้องเรียนธรรมชาติ และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ สวนพันธุ์ไม้เหมือนที่แตกต่าง โดยจัดแสดงพันธุ์ไม้คู่เหมือน ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เป็นพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกัน อาทิ ชัยพฤกษ์-ราชพฤกษ์ อินทนิลน้ำ-อินทนิลบก สวนพันธุ์ไม้เกียรติประวัติของไทย อาทิ มหาพรหมราชินี กาญจนิการ์ และสวนรวบรวมพันธุ์ไผ่ชนิดต่าง ๆ อาทิ ไผ่ดำ ไผ่เหลือง
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ออกกำลังกาย อาทิ ทางเดิน-วิ่ง ระยะทาง 1,030 เมตร และทางจักรยาน ระยะทาง 1,130 เมตร ลักษณะเป็นเส้นทางคู่ขนานแบ่งกั้นด้วยไม้พุ่ม อยู่ภายใต้อุโมงค์ต้นไม้ใหญ่ช่วยเพิ่มความร่มรื่น ลานออกกำลังกายอเนกประสงค์ สวนสุขภาพ และสถานีออกกำลังกายกลางแจ้ง สนามเด็กเล่น เวทีกลางแจ้ง ศาลาพักผ่อน 1-4 ศาลาประชาคม ลานพักผ่อนริมน้ำ ทางเดินสันเขื่อน บันไดท่าน้ำ ห้องสุขาสาธารณะ และลานจอดรถ รวมทั้งยังมีพื้นที่สำหรับเด็กเล็ก เพื่อการเรียนรู้กิจกรรมนักสำรวจน้อย ทางจักรยานสำหรับเด็กเล็ก พื้นที่นั่งพักผ่อนริมน้ำ และใช้เวลาว่างร่วมกันในครอบครัว
26/6/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26 มิถุนายน 2565)