info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.237.31.131

อสังหาฯ Q1/64 สัญญาณดี ยอดขายโตสวนเศรษฐกิจ-โควิด-19

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ที่มีจุดศูนย์กลางนจังหวัดสมุทรสาคร สร้างความกังวลให้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพราะหวั่นๆ กันว่าตลาดรวมอสังหาฯ จะซบเซาไปอีกรอบ หลังจากทิศทางตลาดรวมอสังหาฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในปลายไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และจากปัจจัยของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอก 2 นี้ ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 64 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างชะลอแผนการลงทุนโครงการใหม่ เพื่อรอดูสถานการณ์ในไตรมาสแรกออกไป

ขณะเดียวกัน ก็หันกลับมาเน้นระบาดสต๊อกเก่าแทนการเปิดโครงการใหม่ เช่น บมจ.แสนสิริ ซึ่งในไตรมาสนี้ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะชะลอดูสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 และรอดูการตอบรับของตลาดจากวัคซีนโควิด-19 หลังจากวัคซีนในล็อตแรกมาถึงประเทศไยและทยอยฉีดไปแล้ว โดยหลังจากที่มีการทยอยฉีดวัคซีนในรอบแรกไปปรากฏว่า ส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจซื้อในตลาดอสังหาฯ เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากยอดขายของบริษัทอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสแรกที่ฟื้นตัวกลับมาเกินคาดการณ์

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ในไตรมาสแรกนี้สามารถสร้างยอดขายโครงการที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 7,500 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของเป้าหมายยอดขายปีนี้ 29,000 ล้านบาท โดยยอดขายในไตรมาสแรกนี้มาจากกลุ่มคอนโดมิเนียม 73% และยอดขายจากกลุ่มบ้านจัดสรร 27% ซึ่งถือเป็นผลการดำเนินงานที่สวนทางกับสภาวะที่ตลาดที่ได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลาย ธ.ค.ปี 63

โดย “ออริจิ้น” มองว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ หลังจากนี้มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้านที่ทยอยเกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น โอกาสการกลับมาเปิดประเทศจากเรื่องวัคซีนวีซ่าการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่บุคคลกลุ่มต่างๆ การต่ออายุมาตรการลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง โดยบริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ และโครงการที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สามารถสร้างยอดขายในไตรมาสแรกได้ของปี 64 แล้ว7,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้ายอดขายของไตรมาสแรกที่วางไว้ 5,000 ล้านบาท โดยคิดเป็น 30% จากเป้าหมายยอดขายทั้งปี ซึ่งวางไว้ที่ 26,000 ล้านบาท ที่น่าจับตาคือ ยอดขายดังกล่าวนั้นเป็นจากโครงการเดิมล้วนๆ เพราะในไตรมาสแรกของปีนี้ แสนสิริยังไม่มีการเปิดโครงการใหม่ แถมยังเป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะตลาดที่ยังผันผวน ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากยอดขายที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของแสนสิริ ทำให้ แสนสิริมีการปรับเป้าหมายยอดขายไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท

ด้านพี่ใหญ่ของตลาดอสังหาฯ อย่างบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าในไตรมาสแรกปี 64 นี้มียอดขายรวมเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8-10% สวนทางกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ในไตรมาสแรกนี้สร้างยอดขายได้ดีมาก ซึ่งจากผลดำเนินการของบริษัทอสังหาฯ ข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดในไตรมาสแรกมีการฟื้นตัวด้านกำลังซื้อและการตัดสินใจซื้อที่เร็วขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากดีมานด์ของผู้ที่ต้องการซื้อบ้านยังมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่สถาบันการเงินเริ่มปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มตลาดอสังหาฯ เริ่มกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีโควิด-19 ระลอก 2 แต่ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น

วัคซีนปลุกกำลังซื้อ-ฟื้นเชื่อมั่น

การมาของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาฯ ได้ไม่น้อย เพราะนอกจาก กำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวให้เห็น และการตัดสินใจซื้อที่เร็วขึ้นแล้ว ปัจจัยที่สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในสไตรมาสแรกได้เป็นอย่างดีคือ การประกาศแผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ของบริษัทอสังหาฯ ซึ่งนี่คือ ปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบริษัทอสังหาฯ ที่มีต่อตลาดปี 64 โดยบริษัทแรกที่มีการประกาศความชัดเจนในขยายการลงทุนในปียนี้ คือ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งประกาศลงทุนโครงการใหม่ 11 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 45,100 ล้านบาท โดยแบ่งการลงทุนออกเป็นโครงการที่พัฒนาเอง 5 โครงการ และโครงการร่วมทุนกับบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 5 โครงการ และโครงการร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ 1 โครงการ

ขณะที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ 31 โครงการ โดยแบ่งเป็นแนวราบ 27 โครงการ คอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 34,000 ล้านบาท พร้อมกับการวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 27,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายรายได้รวมที่28,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ศุภาลัยฯ โฟกัสไปที่ตลาดลูกค้าเรียลดีมานด์ ซึ่งมีพฤติกรรมการจองซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงจากการทิ้งดาวน์ ด้านบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกาศลงทุนเปิดตัว 24 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 29,800 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์โฮม 9 โครงการ มูลค่า 9,700 ล้านบาท บ้านแฝดแบรนด์นีโอ โฮม 5 โครงการ 7,000 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 7 โครงการ 11,000 ล้านบาท และต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,100 ล้านบาท

ส่วนบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ที่ปีนี้มากับสโลแกน “The Year of Hope” ประกาศแผนการพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ 24 โครงการ มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายการยอดขายไว้ที่ 26,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายการโอนที่ 27,000 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกมีการขยับเป้ายอดขายเป็น 9,000 ล้านบาทไปแล้วนั้นไม่แน่ว่าปลายปีอาจมีการปรับประมาณการรายได้อีกครั้ง หลังจากที่สามารถสร้างยอดขายดีอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรก

ขณะที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จากที่ปีก่อนต้องปรับแผนธุรกิจและปรับตัวกันครั้งใหญ่หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแบบเต็มๆ เพราะธุรกิจหลัก คือ การพัฒนาคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นเซกต์เมนต์ที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด หลังการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ลูกค้าตลาดคอนโดฯ ที่เป็นชาวต่างชาติหายไปเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการล็อกดาวน์ประเทศ แต่บริษัทอนันดาฯ ยังสามารถสร้างยอดโอนในปี 2563 ได้กว่า 18,340 ล้านบาท และที่น่าสนใจคือ ในจำนวนนั้นยังเป็นยอดโอนจากลูกค้าต่างชาติถึง 21% ซึ่งสัดส่วนแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปี 62 ซึ่งมีสัดส่วนยอดโอนลูกค้าต่างชาติที่ 22%

โดยในปี 64 นี้ อนันดาฯ ประกาศแผนลงทุนเปิดตัว 5 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 24,422 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 18,570 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากคอนโดฯ 16,762 ล้านบาท แนวราบ 1,808 ล้านบาท และวางเป้าหมายยอดโอนไว้ที่ 16,008 ล้านบาท มาจากคอนโดฯ 14,311 ล้านบาท และบ้านแนวราบ1,697 ล้านบาท

ปิดท้ายกันที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ค่ายอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ที่ทำกำไรสูงสุดในตลาดเกือบทุกปี โดยในปี 64 นี้ ประกาศแผนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ 12 โครงการ มูลค่ารวม 20,660 ล้านบาท โดยในปีนี้ แลนด์ฯ จะใช้งบประมาณการลงทุน 11,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นงบประมาณในการซื้อที่ดิน 6,000 ล้านบาท และลงทุนในกลุ่มพอร์ตอสังหาฯ ที่สร้างรายได้จากการเช่า 5,000 ล้านบาท

การประกาศแผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ของบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ข้างต้นนี้ เป็นเพียงบางส่วนของบริษัทที่มีการประกาศแผนการลงทุนในปี 64 แต่ทิศทางการลงทุนที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ได้อย่างดี โดยเฉพาะตัวเลขการปิดยอดขายของหลายบริษัทในไตรมาส 1/64 นี้ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอานิสงส์จากการประกาศฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าสต๊อกที่อยู่อาศัยสะสมที่อยู่ในมือผู้ประกอบการอสังหาฯ ถูกระบายออกไปในไตรมาสแรกนี้จำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าการที่ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อที่เร็วขึ้นในไตรมาสแรก สะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นหลังจากแบงก์เริ่มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

5/4/2564  MGR Online (5 เมษายน 2564)

Youtube Channel