info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.191.216.163

ผุด “ฟีดเดอร์” เชื่อมรถไฟฟ้า ชุมทางสายสีแดง “รังสิต-ตลิ่งชัน”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ระบบขนส่งมวลชน “รถไฟฟ้า” ในประเทศไทย ขณะนี้มีสารพัดสีซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 170 กม. อยู่ระหว่างสร้างอีก 129 กม. และภายในปี 2570 จะเปิดครบ 533 กม. ตามแผนแม่บทรวมทั้งสิ้น 16 สาย จำนวน 376 สถานี

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแผนพัฒนา “ระบบฟีดเดอร์” เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าเร็วขึ้น สะดวกขึ้น

เริ่มต้นจากรูปแบบรถโดยสารมินิบัสไฟฟ้าที่จะวิ่งบนถนนสายหลัก สายรอง เข้าไปยังชุมชน และคิดค่าโดยสารไม่แพง

ประเดิมสายสีแดง เพื่อเร่งให้ทันเปิดหวูดรถไฟชานเมือง “สายสีแดง” บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 13 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก รังสิต บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน

สนข.จะจัดให้มี “ระบบฟีดเดอร์” ทุกสถานี ภายในรัศมี 3 กม.รอบสถานี เพื่อดึงคนมาใช้บริการ และมีแผนจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรอบสถานีด้วย เช่น ทางเดินเท้า skywalk สร้างหลังคาคลุมกันแดดกันฝน เพิ่มจุดจอดรถโดยสารสาธารณะ เพิ่มจุดจอดและจรสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่สถานีเร็วขึ้น

นำร่อง “รังสิต-ตลิ่งชัน”

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดการออกแบบเส้นทางฟีดเดอร์รับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้แบบเสร็จแล้ว 2 สถานี คือ สถานีรังสิต และสถานีตลิ่งชัน

เนื่องจากเป็นชุมทาง (gateway) ของการเดินทาง เป็นทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมากในอนาคต

“ระบบฟีดเดอร์” ที่ออกแบบไว้จะเน้นนำคนจากในพื้นที่ย่านดังกล่าว สามารถเดินทางมาโดยสารสายสีแดงได้ทันที ไม่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น

ซึ่งสถานีรังสิต ทางกระทรวงคมนาคมต้องการให้ออกแบบเป็นโมเดลต้นแบบ หรือ “รังสิตโมเดล” ซึ่งจะเป็นสถานีใหญ่รองรับประชาชนทั้งย่านรังสิต-นครนายก, พหลโยธิน และจากตัวเมือง จ.ปทุมธานี ไม่รวมกับผู้อยู่อาศัยนอกรัศมี 3 กม. เช่น จาก อ.ธัญบุรี และ อ.ลำลูกกา เป็นต้น

ระยะแรกจะใช้ฟีดเดอร์รถสามล้อ (ตุ๊กตุ๊ก) ใช้พลังงานไฟฟ้า วิ่ง 2 เส้นทางคือ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี-สถานีรังสิต และฟิวเจอร์พาร์ค-สถานีรังสิต เก็บ 10-15 บาท ทั้งมีแผนปรับปรุงทางเข้า-ออกหน้าสถานีรังสิต ให้รถเมล์เข้ามาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารได้ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท แล้วสร้างสะพานกลับรถ สร้างอาคารจอดแล้วจร ใช้งบฯอีก 140 ล้านบาท

เปิด 7 ฟีดเดอร์รังสิต

ระบบฟีดเดอร์ได้ขีดแนวไว้แล้ว 7 เส้นทาง คือ 1.ช่วงสถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค ระยะทาง 6 กม. 2.สถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค (ช่วงเร่งด่วน) ระยะทาง 3 กม. 3.ช่วงซอยเจริญชัย-สถานีรังสิต 4.ช่วงสถานีรังสิต-สถานี บขส.รังสิต 5.ช่วงสถานีหลักหก-แยกบางพูน 6.ช่วงซอยพหลโยธิน 87-สถานีรังสิต และ 7.ช่วงเลียบคลองเปรมประชากร-สถานีรังสิต

ลักษณะการให้บริการจะวิ่งวนไปกลับ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่า “จะขยายเส้นทางจากฟิวเจอร์รังสิตไปยังคูคตเชื่อมสายสีเขียวหรือไม่” จากการหารือร่วมกับจังหวัดปทุมธานีก็เห็นด้วย และมีเอกชนให้ความสนใจ รวมถึงผู้ประกอบการเดินรถอย่าง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

เปิด 8 เส้นทางเชื่อม “ตลิ่งชัน”

นายปัญญากล่าวอีกว่า ส่วน “สถานีตลิ่งชัน” ปัญหาสำคัญคือ ตัวสถานีไม่มีรถเมล์หรือขนส่งสาธารณะเข้าถึง การเดินทางต้องอาศัยวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในเบื้องต้นจะขอความร่วมมือให้รถสองแถวเล็ก ซึ่งเป็นรถโดยสารหมวด 4 สาย 1018 ของ หจก.นครชัยพฤกษ์รุ่งเรือง

ซึ่งปัจจุบันวิ่งใน 3 เส้นทางคือ สถานีรถไฟธนบุรี-วัดบางไกรใน, สถานีรถไฟธนบุรี-สวนผัก-ร.ร.ฉิมพลี และสถานีรถไฟธนบุรี-วัดชัยพฤกษ์นั้น ให้วนเข้าไปรับผู้โดยสารจากสถานีตลิ่งชันด้วย

พร้อมออกแบบแนวเส้นทางใหม่ และจัดหาผู้ประกอบการมารับสัมปทานเดินรถต่อไป อาจเป็นฟีดเดอร์ลำลองสำหรับให้รถโดยสารขนาดเล็กวิ่งรับ-ส่งได้ โดยเส้นทางเหล่านี้จะไม่ทับซ้อนกับเส้นทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีแผนปฏิรูป 162 เส้นทางใหม่

ปัจจุบันฟีดเดอร์ 8 เส้นทางได้ออกแบบเชื่อมสถานีตลิ่งชันแล้ว ได้แก่ 1.สถานีบางบำหรุ-หมู่บ้านราชพฤกษ์ 2.สถานีบางบำหรุ-เทสโก้ โลตัส นครอินทร์ 3.วงกลมสถานีบางบำหรุ-สถานีบางกรวย กฟผ. 4.สถานีตลิ่งชัน-หมู่บ้านสวนดวงพร 5.สถานีตลิ่งชัน-ฟู้ดวิลล่า ราชพฤกษ์ 6.วงกลมสถานีตลิ่งชัน-สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ 7.วงกลมสถานีตลิ่งชัน-ถ.กาญจนาภิเษก และ 8.วงกลมสถานีตลิ่งชัน-หมู่บ้านเทพนคร-หมู่บ้านชวนชื่น ปิ่นเกล้า

“ผู้ประกอบการรถโดยสารที่สนใจสามารถขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกได้ เช่นเดียวกับฟีดเดอร์ที่สถานีรังสิต คาดว่าจะเร่งเปิดให้บริการในปีนี้”

ดึง “ปทุม” ลงทุนโมโนเรล

สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์กลางการเดินทางของสายสีแดง ระยะแรกกรมการขนส่งทางบก และ ขสมก. จะจัดเส้นทางรถเมล์ 24 เส้นทาง รองรับการเดินทางเข้าสู่สถานี เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย พร้อมเชื่อมต่อสถานีหัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และหมอชิต มีรถโดยสารปรับอากาศ หรือ shuttle bus วิ่งรอบสถานี ค่าโดยสารไม่เกิน 15 บาท

แผนระยะยาวจะร่วมกับ จ.ปทุมธานี พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง วงเงิน 40,000 ล้านบาท อาจเป็นรถเมล์ BRT หรือโมโนเรล ระยะทาง 28.2 กม.

เฟสแรก ปทุมธานี-รังสิต วงเงิน 17,000 ล้านบาท เฟสสอง รังสิต-ธัญบุรี วงเงิน 23,000 ล้านบาท ล่าสุดมีเอกชนสนใจจะลงทุน 2,000 ล้านบาท เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับคล้ายสายสีทองจากรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค

พร้อมพัฒนาฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ สนข.ศึกษาเป็นระบบ BRT 10.3 กม. ลงทุน 7,359 ล้านบาท วิ่งวนรอบสถานีกลางบางซื่อเลาะสายสีแดง ยกข้ามทางด่วนและสวนจตุจักร มาบีทีเอสหมอชิต ระยะแรกเริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ-ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ลงทุน 3,793 ล้านบาท และเซ็นทรัลลาดพร้าว-สถานีกลางบางซื่อ ลงทุน 4,504.8 ล้านบาท

นอกจากนี้ สนข.ศึกษาแผนเชื่อมการเดินทางจากศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี รองรับ 2 รถไฟฟ้าที่บรรจบสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) คือ สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี และสีน้ำตาลแคราย-ลำสาลี และเชื่อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ รวมถึงฟีดเดอร์รองรับสายสีชมพู, สายสีเหลืองและสายสีส้มคาดอีก 6 เดือน ผลศึกษาจะแล้วเสร็จ

14/4/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 เมษายน 2564)

Youtube Channel