info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.236.219.157

เปิดผลงานสร้างสะพานไทย-ลาว 5 "บึงกาฬ-บอลิคำไซ"

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ลงนามสัญญาผู้รับเหมาครบแล้ว 3 ตอน สร้างสะพาน ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ม.ค.64 เตรียมถกลาวทำข้อตกลงแบ่งเขตแดนก่อสร้างทั้งบนบก-ในน้ำ ก่อนเข้าพื้นที่เดินหน้าตามแผนเสร็จปี 66 บูมเศรษฐกิจสองประเทศ

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งความคืบหน้าโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,630 ล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพานแบ่งสัญญาเป็น 3 ตอนนั้นมีความคืบหน้าดังนี้

ตอน 1 งานถนนฝั่งไทยมีที่ตั้งโครงการบนทางหลวง (ทล.) 244 ระหว่าง กม. 0+000-9+400 ระยะทาง 9.400 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 831,110,000 บาท เริ่มต้นสัญญาวันที่ 30 มิ.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 16 ธ.ค.65 มีบริษัทบัญชากิจจำกัดเป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันได้ผลงาน 2.1% ผู้รับจ้างได้เข้าพื้นที่สำรวจ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการ เพื่อวางแนวก่อสร้างตลอดเส้นทางแล้ว รวมทั้งได้ถางป่า เพื่อถมดินก่อสร้างถนนให้แล้วเสร็จตามสัญญาต่อไป

ตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 ระยะทาง 2.683 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 883,110,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 25 ก.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 13 มี.ค.66 มีบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัดเป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้า 0.1% ได้เข้าพื้นที่สำรวจเพื่อวางแนวก่อสร้างรวมทั้งถางป่าเพื่อถมดินก่อสร้างถนนให้แล้วเสร็จตามสัญญาเช่นกัน

สำหรับตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 ค่างาน 786,523,850 บาท เริ่มต้นสัญญา 24 พ.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 8 พ.ย.66 มีบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัดเป็นผู้รับจ้าง ยังอยู่ที่ 0% เนื่องจากเตรียมทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-สปป.ลาว ในการกำหนดเขตแดนพื้นที่ในการก่อสร้างทั้งบนบกและในน้ำของโครงการให้ชัดเจน ตลอดจนการขนเครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น หิน เหล็ก ปูน และทราย ถ้าขนส่งอุปกรณ์เข้ามาจากฝั่งไหนจะต้องขนอุปกรณ์ออกทางฝั่งนั้น เช่น ขนเครื่องจักรจากฝั่งไทยจะต้องขนออกจากฝั่งไทยเท่านั้น จะขนออกฝั่งลาวไม่ได้ เพราะจะมีพิธีการด้านภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้ไทยรอความพร้อมจาก สปป.ลาวเพื่อนัดประชุมร่วมกันเนื่องจากลาวเพิ่งลงนามสัญญากับผู้รับจ้างโครงการซึ่งลงนามสัญญาช้ากว่าไทย

ดังนั้นให้เวลาเตรียมความพร้อมก่อน คาดว่าภายในเดือน ม.ค.64 ไทยและลาว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ สำนักงานศุลกากร จะประชุมร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หากประชุมเสร็จเรียบร้อยทั้ง 2 ประเทศจะเข้าพื้นที่สำรวจ จากนั้นเริ่มงานก่อสร้างตัวสะพานได้ภายในเดือน ก.พ. ให้เสร็จตามแผน และเปิดบริการประมาณปลายปี 66 ต่อไป เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้มีระยะทาง 16.18 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทยยาว 13 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวง หมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13

ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่ง รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

7/1/2564  เดลินิวส์ (7 มกราคม 2564)

Youtube Channel