info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.225.35.224

เปิดประมูล"ไฮสปีด"เฟส2 กรุงเทพฯ-หนองคายปลายปี

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ไฮสปีดเฟส 2 มาแล้วจ้า ปลายปีนี้ รฟท. เตรียมเปิดประมูล “โคราช-หนองคาย” 356 กม. 2.5 แสนล้าน คาดเปิดให้บริการปี 72 นั่งฟินจากกรุงเทพฯ มาหนองคาย แค่ 3 ชั่วโมง 15 นาที

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย  ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มี.ค.64 เบื้องต้นมีระยะทางราว 356 กิโลเมตร (กม.) คำนวณงบลงทุนเบื้องต้น ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ จะต้องทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งต่อว่า คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 64 หรือประมาณเดือน ก.ค.-ก.ย.64  หากพบว่ามีพื้นที่ในการดำเนินการเวนคืนไม่มาก ก็อาจจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 64 เริ่มตอกเสาเข็มปี 65 ใช้เวลาในการก่อสร้างงานโยธา 3 ปี จากนั้นจะใช้เวลาในการติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณอีก 3 ปี ตั้งเป้าเปิดให้บริการได้ในปี 72 ทั้งนี้เบื้องต้นสำหรับพื้นที่ที่ต้องเวนคืนนั้น จะกระทบต่อที่อยู่อาศัยประชาชน 19 อําเภอ ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ส่วนใหญ่มีผลกระทบอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ส่วนผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการว่า เฉพาะช่วง นครราชสีมา-หนองคาย พบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 11.25%

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ตลอดเส้นทาง รวมทั้ง 2 เฟส คือกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 12.10% สำหรับแนวเส้นทาง 356 กม. แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม. มีทั้งสิ้น 5 สถานี คือ บัวใหญ่  บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบํารุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สถานีนาทา จ.หนองคาย โดยรถสามารถ ใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม./ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

11/1/2564  เดลินิวส์ (11 มกราคม 2564)

Youtube Channel