info@icons.co.th 02 810 8892-6 34.201.37.128

สั่งซ่อมสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” 140 ล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

รถไฟเท 140 ล้านซ่อมโครงสร้าง 3 สถานีสายสีแดง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ให้เสร็จ เม.ย. ก่อนเปิดหวูดพร้อมกับช่วงบางซื่อ-รังสิต ก.ค.นี้ ชง 3 โมเดลบริหารเชิงพาณิชย์ “สถานีกลางบางซื่อ” สร้างรายได้ชดเชยขาดทุน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ได้มอบนโยบายต้องเร่งซ่อมแซมสถานีทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน ให้เสร็จ เพราะเส้นทางด้านตลิ่งชันสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 แล้ว

ทุ่ม 140 ล้านซ่อม 3 สถานี

ขณะนี้กำลังซ่อมบำรุงโครงการ วงเงินประมาณ 130-140 ล้านบาท เนื้องานเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.งานซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้า ลิฟต์บันไดเลื่อน และระบบควบคุมอาคารของ 3 สถานี บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน วงเงิน 90 ล้านบาท และ 2.งานปรับปรุงสถาปัตยกรรมภายในของทั้ง 3 สถานี เช่น ฝ้าเพดานหลุดล่อน เป็นต้น วงเงิน 40-50 ล้านบาท

“จะใช้เวลาซ่อม 4 เดือน ตามแผนเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ แต่จากนโยบายของท่านรัฐมนตรีให้เร่งงานให้เสร็จเร็วขึ้นเดือน เม.ย.นี้”

จี้หารายได้เชิงพาณิชย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ให้ ร.ฟ.ท.เร่งงานระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.นี้ พร้อมให้ทำแผนการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้ได้รายได้มากกว่ารายจ่าย เนื่องจากพื้นที่ของสถานีกลางมีจำนวนถึง 400,000 ตารางเมตร เชื่อว่าถ้าบริหารดี ๆ จะเกิดรายได้

“รถไฟเคยเสนอแผนบริหารช่วง 3 ปีก่อนจะ PPP จะมีต้นทุนดำเนินงาน (operating cost) เป็นค่าจ้างแม่บ้านและค่าจ้าง รปภ.อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้เพียง 267 ล้านบาท เท่ากับว่าเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.นี้จะขาดทุนทันที ให้คิดแผนใหม่และนำแนวคิดนำสินค้าโอท็อปมาวางจำหน่ายในสถานีด้วย ผมไม่อยากให้ ร.ฟ.ท.ยึดผลศึกษาเดิมมากไป ถ้าเห็นว่าไม่เวิร์ก ทำให้ ร.ฟ.ท.อยู่ไม่ได้ ก็ศึกษาใหม่ยังมีเวลา” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำ

ร.ฟ.ท.ชงแผนบริหาร 3 โมเดล

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า แผนบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ จะโฟกัสพื้นที่ในอาคารจำนวน 280,000 ตารางเมตร เมื่อหักพื้นที่ชานชาลา รางรถไฟฟ้าออก จะเหลือพื้นที่ว่าง 129,000 ตารางเมตร โดยวางแผนเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้ 3 แบบ ได้แก่ 1.พื้นที่ 25,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ชั้นลอยทั้งหมด

2.พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชั้นลอยและพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลมี 8 ชานชาลา ไม่รวมชั้นรถไฟความเร็วสูง และ

3.พื้นที่ 50,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชั้นลอย ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นของรถไฟความเร็วสูง โดยจะรวมพื้นที่ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 2 สาย คือ สายเหนือ และสายใต้ 4 ชานชาลาด้วย ยังเป็นแนวคิดเบื้องต้นต้องเสนอให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน

5/2/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (5 กุมภาพันธ์ 2564)

Youtube Channel