info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.211.58.249

โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนสะดุด พพ.ชะลอออกใบอนุญาตเว้นผังเมือง

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

นับเป็นระยะเวลา 6 ปี หลังจากที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประกาศแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015)

ภายใต้แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ 5 แผนหลัก ในช่วงปี 2558-2579 ซึ่งในเวลาต่อมามีประกาศคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 ให้การยกเว้นการใช้บังคับ “ผังเมืองรวม”

สำหรับกิจการ 4 ประเภท เป็นเวลา 1 ปี (ตามตาราง) เพื่อเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะลงทุนต้องขอรับการรับรองกฎหมายผังเมืองจาก พพ. ก่อน

แต่ล่าสุดหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการใช้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ ปี 2018 และแผน AEDP 2018 เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ส่งผลเชื่อมโยงต่อกระบวนการพิจารณาออกหนังสือรับรองการยกเว้นผังเมืองดังกล่าว

เบรกยาวเกินครึ่งปี

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานทดแทนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดิมผู้ประกอบการจะยื่นขอใบรับรองโครงการภายใต้แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจาก พพ. ตามการประกาศแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ซึ่งตามแผนนั้น รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

เพราะถือว่าสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ จึงได้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 4/2559 กำหนดประเภทกิจการนี้ได้รับการยกเว้นผังเมือง ซึ่งต้องได้รับหนังสือรับรองการยกเว้นผังเมืองจาก พพ. และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดก่อน

ในช่วงปี 2560-2561 ก็ราบรื่นไม่มีปัญหา แม้กระทั่งหลังจากประกาศ ม.44 หมดอายุเมื่อปี 2561 แต่ทาง พพ.ยังได้รับคำยืนยันจากกฤษฎีกาว่า สามารถอนุญาตได้ (ตามระบบเดิม) สำหรับพื้นที่ใดที่ยังไม่ประกาศกฎหมายผังเมืองใหม่ ซึ่งมีถึง 60% การออกหนังสือรับรองยังเดินหน้าต่อ

แต่ล่าสุดปลายปี 2563 ที่มีการผ่านแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง (PDP 2018 Rev.1) มาถึงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทุกโครงการที่อยู่ระหว่างขอล่าช้าหมด ผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนในโครงการโซลาร์รูฟท็อป ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง พพ. ภายหลังจากถูกชะลอการออกหนังสือรับรองโครงการลงทุนมานานเกือบครึ่งปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564

ทาง พพ.ตอบหนังสือกลับมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ว่า จะชะลอการพิจารณาออกหนังสือรับรองโครงการภายใต้แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ไปจนกว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความว่าจะให้อำนาจ พพ.ให้สามารถออกหนังสือรับรองได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับทบทวนซึ่งเป็นฉบับใหม่หรือไม่

ฉุดลงทุน-กระทบสภาพคล่อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยปกติผู้ผลิตจะมี 2 แบบ คือ ผู้ผลิตต้องการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์หรือพลังงานหมุนเวียนใช้เอง พื้นที่เขาอนุญาตอยู่แล้วให้ผลิตพลังงานใช้เองได้ แบบที่ 2 ที่ได้รับความนิยมมาก คือ ผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุน มันก็จะมีผู้ลงทุนมาติดตั้งให้ไฟฟ้าขายไฟให้กับโรงงานในราคาถูก หรือที่เรียกว่า private PPA ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกห้ามยกเว้นได้รับยกเว้นผังเมืองก็จะไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งเดิมทีก็จะมี ม.44 เข้ามาช่วย ก็จะดำเนินธุรกิจได้

“ผลจากการชะลอโครงการทำให้กลุ่มผู้ประกอบการส่วนนี้เดือดร้อน ประมาณหลาย 10 โครงการ ค้างท่ออยู่ระหว่างการพิจารณาประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ได้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการโซลาร์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาทต่อขนาด 1 เมกะวัตต์ ประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายรวม น่าจะไม่ต่ำกว่า 150-300 ล้านบาท ซึ่งหากรอการตีความอาจจะต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีจะกระทบต่อสภาพคล่องผู้ประกอบการที่มีการเตรียมแผนการก่อสร้างออกแบบ”

“บางรายได้ลงทุนไปดำเนินการกู้เงินธนาคารออกแบบและสั่งซื้อสินค้ามาเตรียมไว้แล้ว เมื่อใบนี้ไม่มาก็ไม่สามารถที่จะทำต่อได้ ซึ่งมันไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทั้งที่ที่ผ่านมาอนุมัติมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่ากรมจะให้เหตุผลเรื่องแผนที่ปรับใหม่ PDP 2018 Rev.1 และ AEDP 2018 ก็จริง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้มีการประกาศใช้แผน PDP 2018 และ AEDP มาหลายปีแล้ว”

“นับตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ดร.ศิริ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ก็ได้รับการอนุญาตตามมาตรา 44 ดังกล่าวมาตลอด นั่นจึงไม่น่าจะใช่สาเหตุที่กรมจะให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจ ต้องขอความเห็นกฤษฎีกา การออกประกาศชะลอดูไม่ค่อยมีปี่มีขลุ่ย อยู่ ๆ จะมารู้สึกกลัวว่าตัวเองจะมีสิทธิ์ให้อนุญาตได้หรือไม่ ทั้งที่ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย”

พพ.แจงปมชะลอใบอนุญาต

ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน (พพ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การชะลอคำสั่ง คสช. 4/2559 ที่ว่าให้ยกเว้นกฎหมายผังเมือง แต่ว่าข้อกฎหมายนี้มันผูกกับ PDP และ AEDP 2015 แต่ปัจจุบันแผนดังกล่าวกลายเป็น PDP และ AEDP 2018

คำถามคือ คำสั่ง คสช.ฉบับนี้บังคับใช้ครอบคลุมถึง PDP และ AEDP 2018 ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ พพ.จึงส่งหนังสือเพื่อขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อประมาณเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดให้ พพ.ไปชี้แจงแล้ว 1 รอบ คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนนี้

“กรมหวังว่าจะได้รับคำตอบภายในเดือนนี้ เพราะก็เห็นใจผู้ประกอบการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่าอย่างไร ถ้าออกมาว่าไม่ครอบคลุม PDP และ AEDP 2018 ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง แต่ถ้าครอบคลุม เราก็สามารถที่จะออกหนังสือรับรองขอยกเว้นให้ได้”

ส่วนประเด็นที่ว่า แผน PDP และ AEDP 2018 ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 แล้ว ล่วงเลยมากว่าครึ่งปี เหตุใดจึงเพิ่งตีความนั้น

“ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ชัดเจนมาระยะหนึ่ง แต่มีการคุยกันภายในกระทรวงถึงการแก้ไขปัญหา ซึ่งในตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น แต่มีนักกฎหมายแจ้งท้วงติงมาว่า ประกาศอาจไม่ครอบคลุมกับแผน PDP และ AEDP ใหม่ จึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการขอหนังสือรับรองค้างท่อในขณะนี้”

“คาดว่าจะมีจำนวน 7-8 โครงการที่ยื่นคำขอไว้ ซึ่งทางกรมแจ้งว่าต้องชะลอการขออนุญาตเพื่อขอยกเว้นกฎหมายผังเมืองออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติว่าผลกฤษฎีกาตีความออกมาว่าไม่สามารถออกหนังสือรับรองได้”

“ทางกรมจะทำจดหมายถึงผู้ประกอบการ ขอให้ยึดตามกฎหมายผังเมืองต่อไป ส่วนกรณีที่อนุญาตไปแล้วช่วงเดือน ต.ค. 2563 เป็นต้นมาก็ต้องให้กลับไปทำกฎหมายผังเมือง แม้ว่าส่วนตัวยังเชื่อว่าน่าจะใช้ได้ เพราะว่าดูจาก wording แล้ว ก็ต้องทำให้มั่นใจ”

ปัดไม่เกี่ยวโรงไฟฟ้าชุมชน

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้นจะไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาต พพ. เพราะ “ถือว่าเป็นคนละประเด็น” เพราะหนังสือรับรองนี้ทาง พพ.จะออกให้เฉพาะโครงการที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีประกาศตามแนบท้าย ระบุไว้เลยว่ามีโครงการใดบ้างที่ได้รับยกเว้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก่อสร้างไม่ได้ ไม่กระทบกับแผนภาพใหญ่ตามนโยบายเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะถึงจะไม่ได้หนังสือรับรอง ก็ใช่ว่าจะก่อสร้างไม่ได้ ทางเอกชนสามารถก่อสร้างได้ ยังมีช่องทางอื่น เพียงแต่ว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง คือต้องหาพื้นที่ที่สามารถลงทุนได้โดยไม่ผิดกฎหมายผังเมือง

16/10/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (16 ตุลาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS