info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.199.225.221

เปิดประเทศ หนุนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ต.ค. 64 ฟื้นใกล้เคียงปี 62

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

สศอ. เผยดัชนีเอ็มพีไอเดือน ต.ค. 64 อยู่ที่ 97.99 ผลจากส่งออกดี สถานการณ์โควิดในแรงงานดีขึ้น ทั้งปี 2564 โตกว่าคาดการณ์ที่ 5.2% พร้อมจับตาราคาพลังงานสูง-แรงงานขาดแคลน มั่นใจมาตรการควบคุมโควิด “โอไมครอน” ไทยเอาอยู่

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ต.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 97.99 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.91% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.07% ส่วนภาพรวม 10 เดือนของปีนี้เอ็มพีไออยู่ที่ระดับ 97.26 เพิ่มขึ้น 5.93% ซึ่งถือว่ากลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.26 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมส่งผลบวกในเดือน ต.ค.2564 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.02% ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 12.41% น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัว 6.26% เฟอร์นิเจอร์ขยายตัว 36.17% ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัว 12.88% สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 93.99 เทียบกับเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 93.31

ส่วน สศอ.ยังประเมินว่าในเดือน พ.ย. 2564 มีสัญญาณของสถานการณ์การผลิตปกติต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังจากที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสอดรับกับการเปิดประเทศและคู่ค้าหลักขยายตัวได้ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก และคาดว่าจะส่งสัญญาณปกติจนถึงเดือน ธ.ค. 2564 และเดือน ม.ค. 2565

นายทองชัยกล่าวอีกว่า สศอ.ยังคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2564 โต 5.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-5% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม คาดโต 3.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3-4% ส่วนปี 2565 คาดเอ็มพีไอโต 4-5% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมโต 2.5-3.5%

เนื่องจากสถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 15-16% อีกทั้งมีการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมได้ดี

อย่างไรก็ดี จากการออกมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น อีกทั้งนโยบายการเปิดประเทศของไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและผลดีต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้มีการเติบโต

“แต่ยังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด ซึ่งแม้จะมั่นใจว่ามาตรการควบคุมโรคระบาดและการกระจายฉีดวัคซีนในไทยจะดำเนินการได้ดี แต่หลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก

รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหลังการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งจากการรายงานพบว่ายังต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากถึง 400,000 รายซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามมาจากคาดว่าจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งในปีนี้และปีหน้า”

30/11/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (30 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS