info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.89.56.228

ส่องโรงไฟฟ้าชุมชนนครศรีฯ ดันราคา “หญ้าเนเปียร์” ไร่ละ 3.5 หมื่น

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นำคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ จ.นครศรีธรรมราช รับฟังความคิดเห็นบริษัท ปาล์มดีชุมชนกรีนพาวเวอร์ จำกัด

และบริษัท ปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็น 2 ใน 43 รายเข้าร่วมโครงการ และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการ เพราะนอกจากจะร่วมผลิตเชื้อเพลิงตามวัสดุการเกษตร

เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าแล้ว ชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ ทั้งการจำหน่ายไฟฟ้าและจำหน่ายพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นฐานแรงงานด้วย

ตั้งไข่โรงไฟฟ้าชุมชน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.) กล่าวว่ากรมเร่งสร้างการรับรู้ตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน ภายหลังจากมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ 43 ราย จากผู้สมัคร 169 ราย

ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ 149.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ปาล์มดีชุมชนกรีนพาวเวอร์ จำกัด จะร่วมกับวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร ผลิตไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 2.85 เมกะวัตต์ โดยมีพืชโตเร็วเป็นเชื้อเพลิงหลัก และวัสดุเหลือใช้จากสวนปาล์มเป็นเชื้อเพลิงเสริม

ส่วนบริษัท ปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผลิตปาล์มน้ำมันและปลูกหญ้าเนเปียร์ ผลิตไฟฟ้าแก๊สชีวภาพ ขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตจะใช้หญ้าเนเปียร์ผสมกับน้ำเสีย 25% ในการหมักให้เกิดแก๊สชีวภาพ และใช้แก๊สเพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้า

นายอดิศักดิ์ ชูสุข ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน พพ. กล่าวเสริมว่า โรงไฟฟ้าชุมชนนี้มีกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ใน 21 ม.ค. 2568 หรือภายใน 36 เดือนนับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากบริษัทใดไม่สามารถดำเนินการได้จะถูกยกเลิกใบอนุญาต

หนุนใช้เนเปียร์แซมปาล์ม

นายวิกรม โกมลตรี ตัวแทนผู้ถือหุ้นบริษัท ปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ กล่าวว่า บริษัทมีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพบนพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ โดยมีวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมันและผลิตหญ้าเนเปียร์ปาล์มดีศรีนคร ที่มีสมาชิกกว่า 300 ราย มีความพร้อมปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน ประมาณ 250 ไร่

ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ เตรียมจะเช่าให้สมาชิกปลูกหญ้าเนเปียร์ปลูกแซมสวนปาล์มเพิ่ม โดยจะมีพื้นที่สำรองอีก 1,000 ไร่ ซึ่งเฉลี่ยหญ้าเนเปียร์จะให้ผลผลิต 70 ตันต่อไร่ต่อปี

ส่วนราคารับซื้อหญ้าเนเปียร์อยู่ที่ตันละ 300-500 บาท เท่ากับมีรายได้ไร่ละ 21,000-35,000 บาท จึงมั่นใจว่าจะมีหญ้าเนเปียร์เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าจากปัจจุบันที่ปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์เท่านั้น

สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 1 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้าเนเปียร์ราว 30-50 ตันต่อวัน หากผลิตได้ 2.75 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้าเนเปียร์ราว 100 ตัน ตั้งเป้า 300 วัน ก็จะใช้หญ้าเนเปียร์ 3 แสนตัน

ส่วนปาล์ม 1 โรงงานจะมีพื้นที่เพาะปลูก 1 แสนไร่ ดังนั้น พื้นที่เพาะปลูกหญ้าเนเปียร์ 100 ไร่ เต็มพื้นที่ต่อ 1 เมกะวัตต์ ถือว่าเพียงพอ ขณะที่ปาล์มให้ผลผลิต 3 ตันต่อไร่ แต่ปีนี้อยู่ที่ 5 ตันต่อไร่ต่อปี หากคิดราคาปาล์มขณะนี้ กก.ละ 6 บาท คิดเป็นเงิน 18,000 บาทต่อ 1 ไร่

“การสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้คนในชุมชน แน่นอนว่าทุกอย่างมีผลกระทบ อยู่ที่ว่าจะหาทางป้องกันอย่างไร มีความรับผิดชอบต่อชุมชนอย่างไร ในส่วนของพืชพลังงานคิดว่าผลกระทบ

เพราะมีการนำน้ำเสียและแก๊สมาปั่นไฟ ในขณะที่ชีวมวลต้องสร้างให้มีมาตรฐาน ทั้งควัน หรือกลิ่น พร้อมทั้งมีโรงงานต้นแบบ ชุมชนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร จะไม่คำนึงด้านราคาอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงระยะยาว ชุมชนให้มากที่สุด”

เริ่มขายไฟเชิงพาณิชย์ปี’65

ด้วยนโยบายรัฐบาลได้ให้โรงงานหาพลังงานเชื้อเพลิง สัดส่วน 20% ถือเป็นจุดแข็งสร้างโอกาสชุมชน เสริมให้โรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

“ราคาเชื้อเพลิงในท้องตลาด 20% ที่เป็นทะลายปาล์มที่ส่งขายไปส่วนใหญ่ และนำไปส่งในภาคกลางจะเกิดต้นทุนค่าขนส่งมากกว่าค่าเชื้อเพลิงด้วยซ้ำ จึงมองไปถึงผลกระทบทั้งในเรื่องของค่าน้ำมันและสร้างมลพิษ

ส่วนราคาก็จะขึ้นอยู่กับราคาตลาด แต่ก็จะมีการประกันราคาให้ โรงไฟฟ้าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องอยู่ได้ และให้ราคาไม่น้อยกว่าที่อื่นแน่นอน”

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะผลิตไบโอแก๊สก่อนและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปี 2565 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องดูรายละเอียดก่อนสร้างเพราะยังมีประชาพิจารณ์

รวมถึงเงินลงทุนเพื่อให้อยู่ในกรอบกำหนดของ พพ.ที่ไม่เกิน 36 เดือน ประเมินว่าจะคุ้มทุนใน 7 ปี จากการลงทุน 160-170 ล้านบาท

บริษัทมองว่าการให้วิสาหกิจชุมชนมีหุ้น 10% ซึ่งจะได้รับผลดียืนพื้นตรงนี้แน่นอน สามารถนำเงินไปต่อยอดและโรงไฟฟ้าจะต้องมีเงินจำนวนหนึ่งไปพัฒนาด้านการศึกษา

ด้านสาธารณูปโภค จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงท้องถิ่นว่าใน 1 ปี จะมีเงิน 1 ล้านบาทต่อ 1 โรง มาพัฒนาได้หลายอย่างเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างมาก

“ส่วนการจะเพิ่มบ่อชีวมวลอีก 1 บ่อ ต้องทำความเข้าใจให้ชาวบ้าน ก่อนจะทำต้องมีข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ชุมชนที่ได้ 1 ล้านบาทต่อปี จะจัดสรรเพื่อส่วนรวม ส่วนข้อเสนอภาครัฐ

เมื่อเราทำแล้วช่วยสิ่งแวดล้อมลดโลกร้อน เป็นสิ่งที่ได้กับชุมชนประเทศ ราคาที่ได้ไม่ควรจะมีการแข่งขัน โรงอื่นอาจจะให้ชุมชนแค่ 1 แสนบาทต่อปี แต่เราให้ 1 ล้านการันตี อาจจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชนหรือไม่”

หนุนปลูกพืชเศรษฐกิจโตเร็วป้อน

นางสาวธนากานต์ สุพล ตัวแทนบริษัท ปาล์มดีชุมชนกรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร เตรียมส่งเสริมสมาชิก 200 รายใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าปลูกพืชโตเร็ว

อาทิ ต้นกระถิน ต้นยูคาลิปตัส เพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล ทั้งยังนำเศษปาล์ม ทะลายปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในพื้นที่ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม

ด้าน นายมนัส รอดมินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันและหญ้าเนเปียร์ ปาล์มดีศรีนคร กล่าวว่า พื้นที่ 90% ของชุมชนเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำเกษตรกรรม

ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีของชาวบ้าน ทั้งการขายเนเปียร์ ทะลายปาล์ม เพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่อง และเมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น เกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีตลาดรองรับ

เมื่อชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง อยากเห็นลูกหลานเกษตรกรไปทำงานที่อื่นทยอยกลับมาสู่บ้านเกิดของตัวเอง

อีกทั้งจากการที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน หากจะนำปาล์มน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ และกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังจะมา ต้องเตรียมพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งชาวสวนมีความพร้อมแล้ว

ขณะที่ นายวัชระพงค์ คงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร กล่าวว่า ชาวบ้านได้เตรียมพื้นที่ไว้ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก

และให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง มีความหนาแน่นของต้นไม้สูง และส่วนที่ 2 เป็นแผนรองรับเรื่องของต้นปาล์มกับทะลายปาล์ม เมื่อโรงไฟฟ้าก่อตั้งเสร็จเรียบร้อย คิดว่าวิสาหกิจชุมชนจะมีความพร้อมส่งวัตถุดิบ และจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2562 ในสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาของ กพช.เมื่อ 11 ก.ย. 2562 เห็นชอบกรอบการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนถึง 1,933 เมกะวัตต์

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้บรรจุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 หรือ AEDP2018

แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ ส่งผลให้ กพช.เมื่อ 16 พ.ย. 2563 ปรับโครงการนี้เหลือเป็นเพียงโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์เท่านั้น

ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากนี้ ปี 2565 เมื่อมีการขายไฟเข้าสู่ระบบ จะมีการสานต่อโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 หรือไม่

11/12/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (11 ธันวาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS