info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.247.185

ผ่าทางตัน “ทางด่วนสายเหนือ” ลุยเฟสแรก “เกษตร-นวมินทร์-วงแหวน”

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

หลังเว้นช่วงมาร่วม 10 เดือน “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดการประชุมนัดแรกของปี 2564 วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา สางปมปัญหาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่ติดหล่มมานานนับปี

ไฮไลต์อยู่ที่การผ่าทางตัน ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1-N2 และ E-W Corridor เชื่อมเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก ซึ่ง “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ยังไม่สามารถผลักดันการก่อสร้างได้ ทั้งที่มีเงินพร้อมสร้าง เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปรูปแบบการก่อสร้าง ตอน N1 พาดผ่านด้านหน้าม.เกษตรศาสตร์ จะสร้างเป็นทางยกระดับบนเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน แต่ม.เกษตรศาสตร์ยืนกรานไม่เอาทางด่วนลอยฟ้า นอกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)

ปัญหาดังกล่าวทำให้ “กทพ.” ต้องแบกภาระดอกเบี้ยปีละ 1,300 ล้านบาท จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่ระดมเงินไว้ 14,382 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อปี 2560 สำหรับสร้างช่วง N2-วงแหวนตะวันออก แต่เป็นเพราะทางด่วนสายนี้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางฝั่งตะวันออก-ตะวันตก จะเดินหน้าโครงการได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติในภาพรวมทั้งโครงการ ดังนั้นเมื่อยังก้าวข้ามปมคัดค้านของม.เกษตรศาสตร์ไม่ได้ จึงทำให้โครงการสะดุดตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แบ่งสร้าง 2 เฟส เริ่มช่วงเกษตร-วงแหวนฯ

ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม คจร.อนุมัติแผนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตามที่ กทพ.เสนอ แบ่งสร้าง 2 ระยะ (ดูกราฟิก) ระยะที่ 1 ช่วง N2 และ E-W Corridor ถ.เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 16,960 ล้านบาท เนื่องจากมีความพร้อมดำเนินการก่อนจะใช้เงินกองทุน TFF สร้าง เปิดประมูลภายในปี 2564 ทำคู่ขนานกับขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องทำเพิ่มเติม เพราะใช้โครงสร้างร่วมกับสายสีน้ำตาลประมาณ 7 กม.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติเดือน ส.ค. 2564

“จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ ก.พ.-มี.ค. คัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงาน เม.ย.-ส.ค. เปิดประมูล มิ.ย.-ต.ค. เริ่มสร้าง ธ.ค. 2564 แล้วเสร็จเปิดบริการ ธ.ค. 2567”

ส่วนระยะที่ 2 ช่วง N1 หลังม.เกษตรศาสตร์ ไม่ให้สร้างเป็นทางยกระดับผ่านหน้ามหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางทดแทน ซึ่ง คจร.ให้ กทพ.เร่งหารูปแบบก่อสร้างที่เหมาะสมโดยต้องคำนึงถึงด้านวิศวกรรม ค่าใช้จ่าย การเวนคืน ระยะเวลาสร้าง และความยากง่ายในการดำเนินการด้วย ขณะเดียวกันให้เร่งหาข้อสรุปกับม.เกษตรศาสตร์

“ที่ประชุม คจร.กังวลการสร้างช่วง N2 จะมีปัญหาจราจรเป็นคอขวด บริเวณแยกเกษตรเพิ่ม เพราะช่วง N1 ยังไม่ได้สร้างซึ่ง กทพ.ชี้แจงได้ออกแบบให้มีแลมป์รองรับการจราจร และปริมาณรถบริเวณนั้นไม่ได้เพิ่มมากนัก และทางด่วนจะช่วยระบายรถ ถ.เกษตร-นวมินทร์ ได้ดี” นายศักดิ์สยามย้ำ

ประมูลปีนี้ 1.7 หมื่นล้านแบ่ง 4 สัญญา

แหล่งข่าวจาก กทพ.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ปรับไทม์ไลน์ประมูลทางด่วนช่วง N2-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 16,960 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากเดิมประมูลต้นปี 2565 เป็นปีนี้แทน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยกองทุน TFF โดยแบ่ง 4 สัญญา มีงานโยธา 3 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา อีกทั้งจะประมูลงานฐานรากสายสีน้ำตาล วงเงิน 1,470 ล้านบาท ไปพร้อม ๆ กันด้วย หลัง รฟม.ให้ กทพ.สร้างไปพร้อมตอม่อทางด่วน

“รูปแบบทางด่วนจะเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร สร้างบนเกาะกลาง ถ.เกษตร-นวมินทร์ จุดเริ่มต้นอยู่เลยอุโมงค์แยกเกษตร 1 กม. ก่อนถึงคลองบางบัว ไปเชื่อมทางด่วนฉลองรัช จากนั้นวิ่งตรงไปเชื่อมวงแหวนตะวันออก มีจุดขึ้นลงบริเวณแยกเกษตร นวลจันทร์ และถนนวงแหวนฯ การก่อสร้างจะใช้ตอม่อเดิม 281 ต้น ที่สร้างไว้เมื่อ 20 ปีก่อน และสร้างใหม่อีก 100 ต้น ส่วนช่วงทับซ้อนกับสายสีน้ำตาล โครงสร้างทางด่วนจะอยู่ด้านบน รถไฟฟ้าอยู่ด้านล่าง”

เปิดใช้ปลายปี 67 ค่าผ่านทาง 20 บาท

ตามแผนโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 จะเก็บค่าผ่านทาง 20 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ และ 40 บาท สำหรับรถ 6-10 ล้อโดยจะจำกัดการใช้งาน ไม่ให้รถมากกว่า 10 ล้อ ใช้บริการ ปีแรกเปิดบริการจะมีรถใช้บริการ 110,000 คันต่อวัน

ส่วนรูปแบบก่อสร้างช่วงหน้าม.เกษตรศาสตร์ หลังมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการทำโดมครอบทางด่วน ต้องศึกษาความเป็นไปได้โครงการใหม่ ใช้เงินศึกษาอีก 10 ล้านบาท ใช้โมเดลที่ออกแบบไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ทางยกระดับผ่านหน้าม.เกษตรศาสตร์แบบเดิม ใช้แนว ถ.งามวงศ์วาน เลาะคลองเปรมประชากร-ทางด่วนศรีรัช ระยะทาง 7.1 กม. ลงทุน 20,910 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 7,810 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 13,100 ล้านบาท จะใช้พื้นที่ใน ม.เกษตรฯ 180 ตร.ม.

แบบที่ 2 อุโมงค์ทางด่วน ระยะทาง 4.8 กม. จากแยกรัชวิภาผ่านหลังเมเจอร์รัชโยธินเชื่อมต่อโครงการ Missing Link สิ้นสุดที่แยกเกษตร ลงทุน 31,545 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 21,545 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท

และแบบที่ 3 อุโมงค์ทางด่วนผ่านหน้าม.เกษตรศาสตร์ แยกบางเขน สิ้นสุดแยกประชาชื่น ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 109,400 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 44,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 65,400 ล้านบาท เนื่องจากต้องขุดอุโมงค์ลึกมาก เพราะมีอุโมงค์น้ำประปา

วัดใจ ม.เกษตรฯไฟเขียว

“แต่ละแบบจะมีต้นทุนต่างกัน แบบที่ 1 ลงทุนน้อย แต่ ม.เกษตรฯไม่เห็นด้วย ต้องเจรจาอีกครั้ง เพราะ คจร.สั่งมาแล้วต้องจบเพื่อแก้ปัญหารถติด ขณะเดียวกันต้องประเมินความคุ้มค่าการลงทุน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเวนคืนด้วย คาดว่าจะศึกษาเสร็จก.พ. 2565 ขออนุมัติ ครม. มี.ค. ทำ EIA ต.ค. ควบคู่กับออกแบบรายละเอียด คาดประมูล มิ.ย.ปี 2566 เริ่มสร้าง ก.พ. 2567 แล้วเสร็จเปิดใช้ปี 2570”

แม้ กทพ.จะปลดภาระไปได้เปลาะหนึ่ง หลัง “บิ๊กป้อม” ทุบเปรี้ยงให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่ต้องวัดใจม.เกษตรศาสตร์ว่าจะโอเค หรือเซย์โน หลังเปิดโต๊ะเจรจารอบใหม่ สุดท้ายถ้าเจรจาไม่สำเร็จ รัฐจะยังเดินหน้าต่อหรือไม่ หากทางด่วนสายนี้ต้องสร้างด้วนอยู่แค่แยกเกษตรศาสตร์ ไม่เชื่อมโยงการเดินทางตะวันออก-ตะวันตกอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

4/2/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (4 กุมภาพันธ์ 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS