info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.237.186.170

ไฮสปีดสะดุด!ซีพีให้เวลา3เดือนแก้ปม "ที่ดินมักกะสัน”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ไฮสปีด3สนามบินสะดุด! ถกแก้สัญญาร่วม3ฝ่ายไม่ยุติ ซีพีขอขยายเวลา3 เดือน ให้รฟท.แก้ไขปมที่ดินมักกะสัน ถอดลำรางสาธารณะออกจากโฉนด ด้านบึงเสือดำไร้ปัญหา กทม.พร้อมย้ายขุดแก้มลิงใหม่ บนที่ดินโซนB พื้นที่สวนสาธารณะของรถไฟ มีความคาดหวังว่าการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)หรือไฮสปีดเทรน ของคณะกรรมการ3ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี ผู้รับสัมปทาน จะได้ข้อยุติและนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ภายในวันที่24เมษายน 2565

ทว่า อุปสรรคใหญ่ เอกชนคู่สัญญาพบบริเวณด้านหลังของโฉนดที่ดินแปลงมักกะสัน(โซนA) 150ไร่ มีลำรางสาธารณะปรากฎอยู่ สถาบันการเงินไม่อาจอนุมัติวงเงินกู้ได้

แม้รฟท.จะอ้างว่าได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ลำรางสาธารณะเป็นพื้นที่ตั้งของพวงรางรถไฟนานแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีผลทางกฎหมายเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินลำรางสาธารณะย่อมมีปัญหาต่อการพัฒนาตามมาภายหลัง

ปมร้อนดังกล่าว บริษัทเอเชียเอรา วัน ได้ ขอขยายการเช็นเอ็มโอยูเพื่อแก้สัญญาฯออกไปอีก3เดือนหรือวันที่24กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งให้เวลารฟท.ไปทางแนวทางปลดล็อค ลำรางสาธารณะออกจากโฉนดที่ดิน โดยเร็วเพราะไม่เช่นนั้นแล้วการ รับมอบพื้นที่

เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน จะเดินต่อไม่ได้ เนื่องจากเอกชนมองว่า โครงการทั้งสองส่วนต้องไปพร้อมกัน เป็นเหตุให้รฟท ต้องเลื่อน ออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อนับหนึ่งสัญญาก่อสร้าง ภายในเดือน พฤษภาคม2565 ออกไป

เนื่องจาก ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยการยื่นขอแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพลำรางสาธารณะ ต้องใช้เวลามากกว่า1ปีโดยกรมที่ดินต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ แต่ทั้งนี้

เพื่อให้โครงการพัฒนาที่ดินมักกะสัน สามารถเดินหน้าก่อนได้ รฟท.ได้มีหนังสือหารือสำนักงานกฤษฎีกาและ อัยการสูงสุดเพื่อหาทางออก ส่วนการแก้ปัญหาบึงเสือดำแก้มลิงรับน้ำของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ใช้พื้นที่ ไม่น่ามีปัญหาเพราะสามารถจัดหาพื้นที่แห่งใหม่ให้กับกทม.ได้

รายงานข่าวจากกทม.ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับรฟท.เพื่อย้ายบึงเสือดำเชื่อมต่อลำรางสาธารณะบริเวณเฉียดกลางแปลง ที่ดินมักกะสันโซนA ของบริษัทเอเชีย เอรา วัน ออกไป โดยย้ายไปอยู่บนที่ดินมักกะสันโซนB ซึ่งเป็นแปลงจัดทำเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ที่อยู่ติดกับโซนA ห่างกันเพียงไม่กี่100 เมตร

โดยจะขุดบึงขึ้นใหม่กว้าง30เมตรยาว300เมตรระบายน้ำออกบึงมักกะสันและคลองแสนแสบ แต่ทั้งนี้ เอกชนจะยังไม่สามารถพัฒนาได้จนกว่าบึงแห่งใหม่แล้วเสร็จ

แผนย้ายบึงเสือดำ(แก้มลิง)จากที่ดินมักกะสันโซนAไปยังที่ดินโซนB

อย่างไรก็ตามเข้าใจภาคเอกชนเพราะหากไม่ย้ายบึงเสือดำและถอนสภาพลำรางสาธารณะ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา จากที่เห็นโมเดลพัฒนาที่ดินมักกะสันช่วง2-3เดือนก่อนจะเป็นคอมเพล็กซ์สูง95ชั้นตั้งคล่อมอยู่บนบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ โดย พื้นที่50%เป็นพื้นที่สีเขียว มีชั้นใต้ดินจอดรถและทางเชื่อมรถไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูงเป็นต้น

รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า เดิมรฟท.มีแผน ออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือน พฤษภาคมนี้ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่เอกชนจะพัฒนาเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินหรือ TOD มีพื้นที่เป็นลำรางสาธารณะอยู่

หากเอกชนนำพื้นที่ส่วนนี้ไปพัฒนาอนาคตอาจติดปัญหาทางกฎหมายได้ ทางเอกชนจึงต้องการให้รฟท.แก้ปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะออก NTP เริ่มงานก่อสร้าง

จากการหารือร่วม 3 ฝ่ายนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า หากจะดำเนินการเพิกถอนลำรางสาธารณะตามกระบวนการต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ถ้ารอการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ จะกระทบต่อการออก NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างล่าช้าออกไปมากกว่า 1 ปี และกระทบแผนเปิดให้บริการที่กำหนดไว้ในปี 2570

อาจก่อให้เกิดเป็นผลกระทบต่อประชาชนและประเทศอย่างมาก ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย จึงมอบหมายให้ รฟท.ไปหารือสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแก้ไขข้อกำหนดทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการพัฒนา TOD ได้เร็วกว่าการเพิกถอนลำรางสาธารณะ

“รฟท.ยืนยันว่าการออก NTP เริ่มงานก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนั้นมีความพร้อมอย่างมาก ติดปัญหาเพียงพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนเล็กน้อย 1% ของพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมด ขณะที่เอกชนยืนยันว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา ทำให้แผนส่งมอบพื้นที่จะล่าช้ากว่าแผนออกไปเล็กน้อยราว 2-3 เดือน เราก็เข้าใจดีกว่าโครงการฯทั้งแนวเส้นทางและ TOD เป็นส่วนที่สอดคล้องกัน เพราะการพัฒนาโครงการจะเกื้อหนุนกัน ดังนั้นก็จำเป็นต้องออก NTP พร้อมกัน แต่พื้นที่ที่ติดปัญหานี้เป็นลำรางสาธารณะที่มีมานานมากแล้ว ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการใช้งาน แทบไม่เห็นแล้วว่ายังมีพื้นที่ลำรางสาธารณะอยู่ แต่รายละเอียดตามโฉนดยังพบว่ามีลำรางเท่านั้น”

รายงานข่าว กล่าวต่อว่า ส่วนการเจรจาส่งมอบพื้นที่ หากท้ายที่สุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาลำรางสาธารณะได้ หรือทางเอกชนไม่ตอบรับการส่งมอบพื้นที่ ก็ยอมรับว่าเคยมีการเจรจาถึงเงื่อนไขที่จะกลับไปสู่การใช้สัญญาร่วมลงทุนฉบับเดิม ที่ระบุว่า รฟท.จะต้องลงทุนสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟไทย - จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และทางบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด จะต้องชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังมั่นใจว่าการหารือยังมีทางออกที่ทุกฝ่ายจะเห็นพร้อมกัน

22/4/2565  ฐานเศรษฐกิจ (22 เมษายน 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS