info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.174

อสังหาฯ มหาชนปี’67 หดตัวตามจีดีพี แผนลงทุนใหม่ ‘แสนสิริ-เอพี-ศุภาลัย’ บี้กันหนักมาก

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เผยบริษัทอสังหาฯ ทยอยประกาศผลประกอบการปี 2567 ส่วนใหญ่มีรายได้รวมลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่มีรายได้รวมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ สวนทางกับทิศทางการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567

นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้รวมในปี 2567 ลดลงมากกว่า 15% เทียบกับปี 2566 แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือทรงตัว

โดยผู้ประกอบการ 5 อันดับแรกที่มีรายได้มากที่สุดในปี 2567 ได้แก่ แสนสิริ มีรายได้รวม 39,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2566 ตามมาด้วย เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้รวม 37,460 ล้านบาท, ศุภาลัย มีรายได้ 31,985 ล้านบาท, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 28,151 ล้านบาท และพฤกษาฯ มีรายได้รวม 20,996 ล้านบาท

ส่วนของกำไรสุทธิในกลุ่ม 5 อันดับแรก มีเพียงศุภาลัยเท่านั้นที่มีผลกำไรเป็นบวกเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของปี 2566 ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ มีกำไรลดลงไม่มากหรือมีนัยสำคัญอะไรต่อผลประกอบการมากนัก

โดยเฉพาะแสนสิริ และเอพี (ไทยแลนด์) ลดลง 13.3% และ 17.1% ตามลำดับ เนื่องจากผลกำไรยังมีมูลค่าเกิน 5 พันล้านบาท ซึ่งกำไรที่ลดลงในปีที่ผ่านมาอาจจะชดเชยกลับมาในปี 2568 นี้ก็เป็นไปได้ แม้ว่าสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัว และมีทิศทางที่ต้องจับตามองอยู่ก็ตาม

ในปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแผนเปิดขายโครงการใหม่มากกว่าปี 2567 และยังคงเป็นการขับเคี่ยวกันของ 3 รายหลัก คือ เอพี (ไทยแลนด์) ที่ประกาศแผนการลงทุนมีมูลค่าโครงการวมมากถึง 65,000 ล้านบาท จากจำนวน 42 โครงการ

ในขณะที่แสนสิริเปิดขายโครงการใหม่จำนวน 29 โครงการเท่านั้น แต่มีมูลค่าโครงการมากถึง 52,000 ล้านบาท โดยโฟกัสไปที่กลุ่มสินค้าระดับบน-ลักเซอรี่มากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ และศุภาลัยมีโครงการเปิดขายใหม่จำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวม 46,000 ล้านบาท

ด้วยแรงกดันในตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงเหลือ 2% แล้วก็ตาม แต่มาตรการช่วยเหลือหรือมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ จากรัฐบาลยังไม่มีความเคลื่อนไหว

รวมไปถึงการที่ผู้ประกอบการทุกรายพยายามกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ชั่วคราวเพื่อให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งกลับเข้ามาในตลาด แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐ หากเป็นแบบนี้เชื่อว่าปี 2568 จะยังเป็นอีกปีที่ตลาดที่อยู่อาศัยต้องเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

4/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 มีนาคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS