info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.175

ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น-ไทย เตรียมปิดสาขา พฤษภาคมนี้

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

2 ซูเปอร์มาร์เก็ต ดองกิ-ท็อปส์ เตรียมปิดสาขา ‘ดองกิ’ โบกมือลา ‘เดอะมอลล์บางกะปิ’ 12 พฤษภาคมนี้ ส่วน ‘ท็อปส์’ เตรียมปิด ‘ประชานิเวศน์ 1’ 15 พฤษภาคมนี้ กระทบลูกบ้านผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง

ปี 2568 นับเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับตลาดค้าปลีก ทั้งปัญหาด้านกำลังซื้อ ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น จนถึงสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็น ‘ภาษีทรัมป์’ ที่กระทบต่อทุกตลาด ขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีก มีการทบทวนแผนธุรกิจและสาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและผลประกอบการ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทย และญี่ปุ่น คือ ดอง ดอง ดองกิ (DON DON DONKI) สาขาเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และท็อปส์ (Tops) สาขาประชานิเวศน์ 1 ภายในอาคารบ้านประชานิเวศน์ 1

ดองกิ บางกะปิ เปิดวันสุดท้าย 12 พ.ค.นี้

บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมปิดสาขา เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ โดยจะเปิดให้บริการครั้งสุดท้าย 12 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้าย หลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยเป็นสาขาที่ 9 ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย

สำหรับสาขาดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณชั้น G โซน Gourmet Eats ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ มีพื้นที่ขายประมาณ 1,000 ตารางเมตร มาในคอนเซ็ปต์ Japan Brand Specialty Store ที่นำเสนออาหารและสินค้าจากญี่ปุ่นที่มีคุณภาพ

รวมถึงมีการตกแต่งร้านในสไตล์ต้นตำรับ ภายใต้แนวคิด “ความอร่อย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม” พร้อมจัดวาง POP Ads ที่วาดด้วยมือทั่วทั้งสาขา เพื่อให้ลูกค้าสนุกไปกับสินค้าต่าง ๆ ภายในร้านอย่างใกล้ชิด ตลอดจนยังมีโซนไฮไลต์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งอาหารพร้อมทาน อาหารสด อาหารแห้ง และของใช้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ในสาขาเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ยังสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้บริโภค ด้วยการจัดพื้นที่ส่วนร้านแผงลอยสไตล์ญี่ปุ่นในรูปแบบ “ยะไต-โยโคโจ (ซอยร้านแผงลอย)” ที่ลูกค้าสามารถเดินเลือกชมและเลือกซื้อสินค้าประเภทอาหารยอดนิยมของดองกิได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเนื้อวากิวเสียบไม้ โอเด้ง ซอฟต์ครีม มันหวานแท่งยาวทอด ฯลฯ

ท็อปส์ ‘ประชานิเวศน์ 1’ ปิด 15 พ.ค. 68 กระทบลูกบ้านมากกว่าครึ่ง

อีกหนึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับความสนใจ คือ ท็อปส์ (Tops) สาขาประชานิเวศน์ 1 โดย มติชน รายงานว่า สาขาดังกล่าวได้ประกาศ เลิกกิจการในสาขาดังกล่าวนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม เป็นต้นไป สร้างความระส่ำระสายแก่ลูกบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารบ้านประชานิเวศน์ที่มี 3 อาคาร มีลูกบ้านจำนวนมากซึ่งมากกว่าครึ่ง เป็นผู้สูงอายุ ที่อาศัยความสะดวก ในการซื้อของจากร้านค้าแห่งนี้ เพราะสามารถนำของใส่รถเข็นนำสินค้าขึ้นไปถึงห้องพักได้เลย โดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก

ทั้งนี้ พนักงาน ในท็อปส์ ให้ข้อมูลว่า ทางการเคหะซึ่งเป็นเจ้าของที่ ได้ขึ้นค่าเช่าที่จากเดือนละ 7 แสนบาทเป็น 1 ล้านบาท ซึ่งทางท็อปส์ไม่สามารถรับกับราคาดังกล่าวได้

มติชน รายงานเพิ่มเติมว่า นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ระบุว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ถ้าตอบแบบเร็วๆแล้ว ในเชิงพาณิชย์ และแง่การทำธุรกิจ เรื่องการปรับขึ้นราคาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาที่ทางบริษัททำต่อเนื่อง กับทางการเคหะแห่งชาติแล้ว

“อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่า เศรษฐกิจในวันนี้จะดิ่งตัวลงมามากขนาดนี้ การมองในแง่ธุรกิจเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัฐบาลด้วย ต้องมองประโยชน์ทางด้านอื่นๆ เช่นประโยชน์ของผู้อยู่อาศัย และเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆด้วย ผมคิดว่า เรื่องแบบนี้น่าจะเจรจากันได้ หากทางท็อปส์จะเจรจาก็ประสานมาทางผมก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่า ในส่วนของการให้บริการกลุ่มเปราะบางสำหรับพื้นที่ทำมาหากินนั้น ในส่วนของการเคหะยังไม่มีนโยบายขึ้นราคาค่าที่” นายธเนศพล กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปี 2567 ท็อปส์ ได้เปิดสาขาใกล้เคียงคือ สาขาตลาดบองมาร์เช่ ภายในพื้นที่ตลาดบองมาร์เช่

ทั้งนี้ เมื่อสิงหาคม 2567 นายสเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล เปิดเผยว่า วางแผนสปีดสาขาทุกโมเดลต่อเนื่อง 4 ปี (2567-2570) เฉลี่ยปีละ 100 สาขา เพื่อให้มีสาขาทะลุ 1,000 สาขาในปี 2570 จาก 702 สาขาในปัจจุบันด้วยงบฯลงทุนระดับพันล้านบาทต่อเนื่องตลอด 4 ปี

‘ค้าปลีก’ สัดส่วน GDP สูงอันดับ 2

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 26% ของมูลค่า GDP ในภาคบริการ ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกของไทยเน้นพึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การใช้จ่ายในภาคค้าปลีกของคนไทยมีสัดส่วนราว 75% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด ส่วนอีก 25% มาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในช่วงที่ผ่านมา ยอดขายภาคค้าปลีกของไทยเริ่มมีสัญญาณการเติบโตชะลอลง สะท้อนจากในช่วงปี 2567-2568 ที่โตเฉลี่ย 3.4% เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% ซึ่งมาจากหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่ธุรกิจต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce ส่งผลให้ธุรกิจยังเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างยอดขาย

7/5/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 พฤษภาคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS