กรมอุทยานฯ-อพท. เดินแผนลุย กระเช้าภูกระดึง ต่ออายุใบอนุญาตศึกษา-ออกแบบอีก 2 ปี เล็งเทคโนโลยียุโรปใช้พื้นที่น้อย-ผลกระทบไม่มาก คาดสร้างจุด ผาหมากดูก งบฯ ก่อสร้างเฟสแรก 1,000 ล้านบาท พร้อมทำรถรางชมวิวถึง ผาหล่มสัก ยาว 10 กม. รองรับผู้สูงอายุ ผุดไอเดียในอนาคตปรับรูปแบบเที่ยวเป็นทัวร์ ซาฟารี นั่งรถชมรอบภูกระดึง
จากกรณีสำนักงบประมาณอนุมัติงบฯ 25.7 ล้านบาท ให้คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า อพท.ได้เข้ามาประชุมหารือถึงโรดแมปการสร้างกระเช้าภูกระดึง จ.เลย ในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตและบริหารจัดการ
รวมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกัน เนื่องจากรายละเอียดในการออกแบบต้องกระทบพื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา และยังไม่ได้มีการอนุมัติการก่อสร้าง
ทั้งนี้ มีการนำเสนอเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนี รวมทั้งทางเลือกจุดสร้างกระเช้าด้านผาหมากดูกไม่ใช่จุดทางขึ้นในปัจจุบัน คาดว่าระยะทางไม่เกิน 3 กม. ตัวอย่างที่เขาเอามาให้ดูเป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นเสาแท่งเดียว ไม่ได้กินพื้นที่เยอะ กระทบพันธุ์ไม้ไม่มาก
นายอรรถพลกล่าวถึงการหารือเบื้องต้น คาดว่าในเฟสแรกการก่อสร้างกระเช้าใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และเฟสที่ 2 เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนภูกระดึง และด้านล่างที่ต้องมีจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากพื้นที่ด้านบนตั้งแต่ผาหมากดูกถึงผาหล่มสักมีระยะทาง 10 กม.
นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสูงวัย อาจไม่สะดวกในการเดินระยะไกล และต้องลงมาพักด้านล่าง อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ มีแนวคิดเพิ่มการให้บริการรถรางไฟฟ้าขนาดเล็กบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ และลดผลกระทบพื้นที่ให้มากที่สุด
นายอรรถพลกล่าวว่า ทั้งนี้ พื้นที่ภูกระดึงส่วนที่เราเที่ยวได้เป็นเพียงพื้นที่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ คือบริเวณผาต่าง ๆ แต่ยังมีพื้นที่ที่เราเที่ยวไม่ได้ เพราะมีช้างป่า ในอนาคตซึ่งเรามีเส้นทางรอบ ๆ ภูกระดึงอยู่แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้ ในอนาคตช้างก็ต้องมีประชากรเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งพื้นที่ที่เราปิดไว้ก็คงต้องปิดไปถาวร การท่องเที่ยวจึงต้องเปลี่ยนใหม่เป็นคล้าย ๆ นั่งรถซาฟารี ในโซนที่มีช้างออกมา
บนภูกระดึงมีถนนรอบพื้นที่ ถ้าบินดูจากเฮเลิคอปเตอร์จะเห็นถนนรอบภูกระดึงที่รูปร่างเหมือนใบโพธิ์ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้เลย เพราะช้างมันเยอะ แต่ในอนาคตคิดว่าเราต้องทำแบบซาฟารี คือให้ขึ้นรถไปเที่ยว นายอรรถพล กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ขณะนี้การสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงมีเสียงคัดค้านน้อยมาก ส่วนในพื้นที่มีการรับฟังความคิดเห็น พบว่าเห็นด้วยเกือบทั้งหมด อีกทั้งคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ แต่ในโซนที่มีความเสี่ยงอันตรายจากช้างป่านั้นอาจต้องปิดถาวร เนื่องจากมีประชากรช้างเพิ่มขึ้น
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ล่าสุดกรมอุทยานฯ ได้ต่ออายุใบอนุญาตให้ศึกษาอีกไม่เกิน 2 ปี ยืนยันว่าต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่ง อพท.ได้เร่งของบฯ กลางเพื่อดำเนินการ คาดว่า อพท.จะเป็นผู้ก่อสร้าง และมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานฯ บริหาร โดยยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละ 2,000 คน
5/5/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 พฤษภาคม 2568 )