info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.175

TOP กำไร Q1 พุ่งแตะ 3.5 พันล้าน ยันโครงการ CFP แล้วเสร็จภายใน Q3/71

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

“ไทยออยล์” ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 กำไรสุทธิ 3,504 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 737 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน ยันบอกเลิกสัญญา EPC ไม่กระทบโครงการ CFP คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2571

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2568 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 3,504 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 737 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน จากกำไรการสต๊อกน้ำมันจำนวน 1,080 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับมีกำไรพิเศษจากการซื้อคืนหุ้นกู้จำนวน 174 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารอะโรเมติกส์ปรับลดลง

เนื่องจากส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ปรับตัวลดลง จากอุปทานสารเบนซีนโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากกำลังการผลิตสารโอเลฟินส์ใหม่ในจีนช่วงต้นปี ประกอบกับระดับสารเบนซีนคงคลังในจีนที่อยู่ในระดับสูง และการส่งสารเบนซีนจากเอเชียไปยังสหรัฐไม่คุ้มค่า ในขณะที่กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดในไตรมาส 1/2568 ปรับเพิ่มสูงขึ้น

จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรขั้นต้นจากธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับลดลง จากส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและยางมะตอยกับน้ำมันเตาปรับลดลง จากราคาน้ำมันเตาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนไฟฟ้าและไอน้ำที่สูงขึ้น

โดยภาพรวมกลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม รวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามันอยู่ที่ 6.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 1.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4/2567

นายบัณฑิตกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นในไตรมาส 2 ปี 2568 คาดการณ์ว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 เนื่องจาก Crude Premium ยังคงอยู่ในระดับสูง อันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวด

นอกจากนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ชะลอตัวลง จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ และจีน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง

เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่อาจอ่อนตัวลงจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ ประกอบกับอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 ซึ่งส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ และอาจทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ค่าการกลั่นมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนหลักจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามฤดูกาลขับขี่ ประกอบกับ Crude Premium มีแนวโน้มปรับลดลง

ทั้งนี้ ไทยออยล์จะยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทางกลยุทธ์ที่วางไว้ในทุกมิติ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ตลาดที่ท้าทาย ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมุ่งแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 บริษัทได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC โดยมีผลทันที เนื่องจากผู้รับเหมาหลักไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันในสัญญา EPC ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดําเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ โดยบริษัทได้มีการจัดทําแผนงานเพื่อดําเนินการให้โครงการ CFP แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2571

และได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การสนับสนุนบริษัทในการบริหารจัดการโครงการในแต่ละระยะจนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ งานก่อสร้างโครงการ CFP จะดําเนินการต่อโดยผู้รับเหมาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้การดําเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงานของบริษัท

หากการดําเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทําให้บริษัทมีหน่วยกลั่นนํ้ามันดิบใหม่ที่มีขนาดกําลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กําลังการกลั่นนํ้ามันดิบของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) อีกทั้งด้วยการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทําให้สามารถกลั่นนํ้ามันดิบที่มีความหลากหลาย รวมทั้งนํ้ามันดิบชนิด

หนักที่โดยทั่วไปมีราคาตํ่ากว่าราคานํ้ามันดิบชนิดอื่น ทําให้สามารถผลิตนํ้ามันสําเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในการเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท และสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจการกลั่นนํ้ามันปิโตรเลียมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีส่วนสําคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว

9/5/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 พฤษภาคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS