info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

เลขาฯบีโอไอเฉลย มีโรงงานแบตเตอรี่ขอลงทุนมาแล้วกี่ราย

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

เลขาฯบีโอไอเผยมีโรงงานแบตเตอรี่ขอลงทุนจำนวน 38 โครงการ เงินลงทุน 23,600 ล้านบาท ทั้งสำหรับอีวี-อุตสาหกรรม

วันที่ 28 มกราคม 2567 หลังจากการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทย ส่งผลให้หลายฝ่ายตื่นตัวเรื่องของการลงทุนแบตเตอรี่ในประเทศไทย ว่าไทยจะมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่หรือไม่ และจนถึงขณะนี้มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วมากน้อยเพียงใด

ล่าสุดนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่จำนวน 38 โครงการ เงินลงทุนรวม 23,600 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 23 โครงการ เงินลงทุน 11,700 ล้านบาท และแบตเตอรี่ความจุสูงสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ 15 โครงการ เงินลงทุน 11,900 ล้านบาท

รายชื่อบริษัทขอบีโอไอลงทุนแบตเตอรี่

โครงการลงทุนเกือบทั้งหมดเป็นการผลิตในขั้น Battery Module และ Battery Pack โดยมีผู้ผลิตรายสำคัญ เช่น BYD ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีน, CATL และ Gotion จากจีนซึ่งร่วมมือกับบริษัทในเครือ ปตท., SVOLT ในเครือเกรท วอลล์ มอเตอร์, Draexlmaier ซึ่งผลิตป้อนค่ายรถยนต์ยุโรป เป็นต้น

สำหรับผู้ผลิตในระดับต้นน้ำหรือ Battery Cell ปัจจุบันมี 1 รายคือ อมิตา เทคโนโลยี ในเครือพลังงานบริสุทธิ์ (EA)

มาตรการบีโอไอ ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่อย่างไรบ้าง

สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่จากบีโอไอ จะมีเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.กรณีมีขั้นตอนการผลิต Cell โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ไม่มีการผลิตในประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ จะอนุมัติให้คราวละ 1 ปี นับจากวันที่นำเข้าวัตถุดิบครั้งแรก

ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน)

2.กรณีนำ Cell มาเริ่มผลิต เช่น ผลิตเป็น Module หรือ BatteryPack เป็นต้นโดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ตามมาตรา 30 ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบที่ไม่มีการผลิตในประเทศเป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ จะอนุมัติให้คราวละ 1 ปี นัับจากวันที่นำเข้าวัตถุดิบครั้งแรก

ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี

3.กรณีนำ Module มาผลิตเป็น Battery Pack ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี

28/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS