info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.236.57.1

คมนาคมประมูลงานลอตใหญ่ 3 แสนล้าน พ.ค. ชิงมอเตอร์เวย์-ทางด่วน-รถไฟทางคู่

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

คมนาคมเปิดไทม์ไลน์ประมูลงานลอตใหญ่ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. มูลค่าเฉียด 3 แสนล้าน เร่งเครื่องมอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว ซอยยิบ 10 สัญญา ทางด่วนพระราม 3 จำนวน 2 สัญญา อัพราคาทะลุ 1.4 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.ได้ฤกษ์ประมูลทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและบ้านไผ่-นครพนม แบ่งเค้ก 5 สัญญา รฟม.ดันสุดตัวประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” รอบสอง ตามเกณฑ์ใหม่พิจารณาซองเทคนิคพร้อมราคา คาด ส.ค.เซ็นสัญญา วงการรับเหมาจับตาขาใหญ่ปาดเค้ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564 กระทรวงคมนาคมเริ่มมีการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 5 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 290,870 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)

พ.ค.ประมูลมอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน พ.ค.นี้ กรมจะเปิดประมูลงานสร้างทางยกระดับช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

โดยใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้าง วงเงิน 19,700 ล้านบาท แบ่งสร้าง 10 สัญญา โดยจะสร้างต่อจากช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 11 กม. ใช้งบประมาณก่อสร้าง วงเงิน 10,500 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามแผนจะสร้างเสร็จในเดือน ส.ค. 2565

“ปีหน้าคาดว่าจะเปิดใช้ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัยก่อน และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดสายถึงบ้านแพ้ว โดยเก็บค่าผ่านทางได้ภายในต้นปี 2568 พร้อมกับทางด่วนพระราม 3 จะทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้รวดเร็วขึ้น และจะแก้ปัญหารถติดบนถนนพระราม 2 ได้ครบสมบูรณ์”

ปิดจ็อบ 2 สัญญาด่วนพระราม 3

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 บอร์ดได้เร่งรัด กทพ.ให้มีการเร่งดำเนินการประมูลทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 18.7 กม. ในส่วนสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 โดยเร็วที่สุด

เนื่องจากใช้เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ที่ กทพ.ต้องรับภาระดอกเบี้ยประมาณ 4,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากความล่าช้าของโครงการ

“กทพ.รายงานจะประมูลใหม่ทั้ง 2 สัญญา ปลายเดือน เม.ย. และได้ผู้รับเหมาในเดือน พ.ค.นี้. เพื่อความรวดเร็ว จะลดระยะเวลาการก่อสร้างจาก 39 เดือน เหลือ 34 เดือน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัญญาที่ 1 งานทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. กรอบราคากลางเดิม 6,979 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. กรอบราคากลางเดิม 6,990 ล้านบาท ล่าสุด กทพ.จะปรับราคากลางเพิ่มอีกสัญญาละ 5% ทำให้ราคากลางปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 กว่าล้านบาท/สัญญา รวม 2 สัญญา เป็นวงเงินกว่า 14,000 ล้านบาท

เทกระจาดทางคู่ 1.28 แสนล้าน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง รวมวงเงิน 128,376 ล้านบาท ได้แก่ 1.สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 72,920 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท

ขายซองเด่นชัย-เชียงของ

“สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เริ่มเปิดขายซองประมูลเมื่อวันที่ 19 มี.ค. แบ่งงานก่อสร้าง 3 สัญญา ส่วนสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม อยู่ระหว่างเปิดรับฟังการวิจารณ์ร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดประมูลในเร็ว ๆ นี้ แบ่งเป็น 2 สัญญา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ฟ.ท.ได้ออกประกาศขายซองประมูลแล้วทั้ง 3 สัญญา ด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดยเปิดขายซองประมูลระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-วันที่ 17 พ.ค. และยื่นข้อเสนอวันที่ 18 พ.ค. 2564

ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท

ปล่อยผีรับเหมารายกลาง

โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาไทยและต่างชาติที่สนใจยื่นประมูลทั้งแบบรายเดียวหรือกิจการร่วมค้า แต่ต้องให้ผู้รับเหมาไทยเป็นแกนนำในสัดส่วนมากกว่า 50% สำหรับผลงานต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ อุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร ผลงานงานโยธา เช่น ถนน สะพาน ทางลอด ทางยกระดับ โรงซ่อมบำรุงรถไฟหรือรถไฟฟ้า

ซึ่งงานก่อสร้างทางรถไฟและงานโยธาที่นำมาใช้ยื่นให้ใช้ผลงานภายในประเทศ ส่วนงานอุโมงค์ใช้ผลงานภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ และผลงานที่นำมาเสนอต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จตามเงื่อนไขสัญญาไม่เกิน 20 ปี

รายละเอียดงานก่อสร้าง ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟ งานก่อสร้างงานอุโมงค์รถไฟ งานก่อสร้างสถานีรถไฟและป้ายหยุดรถ งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้รถไฟ และงานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ พร้อมสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทาง เพิ่มความรวดเร็ว ความปลอดภัยในการบริการ และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง มีระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 2 ปี

จับตาบิ๊กโฟร์รับเหมา

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า จากรายละเอียดในทีโออาร์ ดูแล้วเป็นการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น โดยให้รับเหมารายกลางที่รับงานก่อสร้างถนน สะพาน ทางลอด สามารถร่วมกับรับเหมาต่างชาติได้ ขณะที่รายใหญ่จะมี บมจ.ช.การช่าง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นต้น

“อาจจะได้เห็นรับเหมารายใหญ่ร่วมกันประมูล มีกระแสข่าว ช.การช่าง จะร่วมกับซิโน-ไทยฯ เหมือนที่เคยร่วมกันก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คือ สัญญาที่ 1 เด่นชัย-งาว 103 กม. ราคากลาง 26,599.28 ล้านบาท มีกระแสว่าอิตาเลียนไทยฯอาจจะได้ ส่วนสัญญาที่ 2 งาว-เชียงราย 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ 87 กม. ราคากลาง 19,406.43 ล้านบาท มีกระแสว่า ช.การช่างจะร่วมกับซิโน-ไทยฯ

2 สัญญาทางคู่บ้านไผ่-นครพนม

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม แบ่ง 2 สัญญา ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท

ทั้ง 2 สัญญาเป็นการก่อสร้างทางสายใหม่ ประกอบด้วยงานทางรถไฟ งานก่อสร้างสถานีรถไฟ และ stabling yard งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้ทางรถไฟ และงานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ

พร้อมสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ เพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการบริการให้รองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือน จะส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี

ประมูลรอบสองสายสีส้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกโครงการที่กำลังลุ้นจะเปิดประมูลได้อีกครั้งหรือไม่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม เป็นงานใต้ดินตลอดสาย จัดหาระบบ เก็บค่าโดยสาร รับสัมปทานเดินรถและบำรุงรักษาโครงการตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี

เนื่องจากยังมีความเห็นต่างกันถึงร่างทีโออาร์ที่ รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นของเอกชน จะใช้เกณฑ์พิจารณาซองเทคนิคและการเงินพร้อมกัน เมื่อเปิดซองคุณสมบัติ หากผ่านจะพิจารณาซองเทคนิค 30% ร่วมการเงิน 70% เพื่อยกร่างทีโออาร์เปิดประมูลใหม่ หลังยกเลิกไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า สิ้นเดือน มี.ค.นี้ จะนำร่างทีโออาร์ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 พิจารณอนุมัติ คาดว่าจะขายซองเดือน เม.ย. ยื่นข้อเสนอเดือน มิ.ย.-ก.ค. ได้เอกชนและเซ็นสัญญา ส.ค.-ก.ย.นี้ จากนั้นจะเร่งรัดงานระบบและจัดหาขบวนรถโดยเร็ว เพื่อให้สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่สร้างคืบหน้า 77.77% เปิดได้ตามกำหนดในปี 2567

25/3/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 มีนาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS