info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.222.104.49

"พฤกษา" เดินเกม ทวงคืนเจ้าพ่อทาวน์เฮ้าส์

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

การโหมโรงเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการของ โรงพยาบาลวิมุต มูลค่าลงทุน 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 4 ไร่ ทำเลใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ถนนพหลโยธิน ใกล้แยกสะพานควาย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการกดปุ่ม ผลักดันบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ระดับตำนานของไทยอย่าง บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าสู่โหมดธุรกิจใหม่ รับเทรนด์โดดเด่นของโลกในกลุ่มสุขภาพ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอนาคตแล้ว

อีกนัยยะนั้น พบยังเปรียบเสมือนเป็นการจุดพลุ เรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจหลัก การซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของพฤกษา ซึ่งนับจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลานานถึง 28 ปี ให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากการเกิดขึ้นของวิกฤติโควิด19 ในช่วงปี 2563 ผนวกกับความเข้มข้นของสถาบันการเงิน จากกฎเหล็ก LTV ทำให้พฤกษาได้ลงสู่จุดต่ำสุด รายได้รอบปีหายไปนับหมื่นล้านบาท ขณะแชมป์เจ้าตลาด ในแง่จำนวนโครงการเปิดใหม่ในแต่ละปี ซึ่งพฤกษาเคยครองตำแหน่งมาตลอด 10 ปี ก็ถูกโค่นลงจากรายใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ มาจากแผนการดำเนินธุรกิจลดเสี่ยงอย่างขีดสุด จนตัดสินใจชะลอการเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก จากแผน 30 โครงการ จบที่ 13 โครงการเท่านั้น และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบุคคลภายในที่อลหม่านตลอด 2 ปีโดย ปี 2564 คีย์แมนคนสำคัญ “นายปิยะ ประยงค์ ” วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้เข็มทิศ A Year of Value กลยุทธ์ 3 ด้าน ซึ่งนอกจากจะยังคงเน้นการบริหารจัดการสินทรัพย์ ระบายสต็อกผ่านโปรโมชั่นใหญ่ พฤกษาคุ้ม จบทุกดีล และ เลือกเปิดโครงการที่มีศักยภาพแล้ว

ในแง่โปรดักส์นั้น เป้าหมาย คือ โครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ - มีคุณค่า ซึ่งจะผนวกกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ เข้าไปเสริมเป็นจุดขายใหม่นั่นเอง ตั้งแต่การมีศูนย์สุขภาพอยู่ในโครงการ Pruksa Avenue ตลอดจนนำแนวคิดด้านสุขภาพเสริมเข้าไปในการออกแบบบ้าน และพื้นที่ส่วนกลางของโครงการต่าง ๆ นำร่องโครงการ พาทิโอ รัชโยธิน และโครงการระดับลักซ์ชัวรี่อย่าง เดอะ ปาล์มโดยมั่นใจ ว่าด้วยความต่าง สิทธิประโยชน์เหนือชั้นที่ลูกค้าจะได้ ในยุคที่เรื่องสุขภาพถูกให้ความสำคัญสูงสุด จะสามารถแย่งชิงมาร์เก็ตแชร์คืนมาได้ อย่างไรก็ตาม ลูกค้าเป้าหมายที่พฤกษามอง กลับไม่ใช่กลุ่มครอบครัวคนรุ่นเก่าอย่างในอดีต ที่นับวันจะมีบทบาทลดน้อยถอยลง แต่กลับเป็นกลุ่มคนและครอบครัวยุคใหม่ รายได้ช่วง 3 หมื่น - 1 แสนบาท ต่อเดือน ที่มีพฤติกรรมการอยู่อาศัย ลึก ละเอียด และมีความต้องการแฝงต่างไป ฉะนั้นสิ่งที่เคยเป็น รูปแบบการพัฒนาที่เคยใช้ วันนี้พฤกษามองว่าถึงเวลาต้อง ปฎิวัติ เพื่อความอยู่รอด โดยจะใช้จุดขายใหม่ที่มีผสมผสานร่วมกัน ล่าสุด 4 มิถุนายนที่ผ่านมา นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่าง จัดตั้งทีมงานรุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า Pruksa Next โดยคนรุ่นใหม่ กระบวนการทำงานนั้น จะเริ่มตั้งแต่สำรวจปัญหา ต่อยอดพัฒนานวัตกรรม และสร้างไอเดียธุรกิจใหม่ๆ โดยหนึ่งในปัญหาที่ค้นพบและกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ คือ ลูกค้าต้องการฟังก์ชั่นแตกต่างกัน ซึ่งนับจากนี้ พฤกษาจะเปิดให้ลูกค้าสามารถปรับฟังก์ชั่นบ้าน ลด หรือ เพิ่มจำนวนห้องได้ โดยนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ นายทองมา นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ก่อตั้งบริษัทมา ภายใต้โมเดล PRUKSA FLEX ลูกค้าจะปรับเปลี่ยนผนังบ้านได้ตามไลฟ์สไตล์ ,ปรับพื้นที่ใช้สอยได้ตามคิด มีการเปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา ในโครงการ บ้านพฤกษา รังสิต-ธัญบุรี 2 ทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ราคา 1.3 ล้านบาท ก่อนจะเปิดเป็นทางเลือกให้โครงการที่ 2 ที่โครางการ บ้านพฤกษา ประชาอุทิศ ที่มีกำหนดเปิดตัวเดือน ก.ค.นี้ ก่อนพิจารณาขยายสู่บ้านเดี่ยว และบ้านแฝดในอนาคตต่อไป

ย้อนไปปี 2536 พฤกษาก่อตั้ง และเริ่มพัฒนานวัตกรรมก่อสร้าง Precast หรือ พรีคาสท์ ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป รับน้ำหนักดี พลิกวงการอสังหาฯไทย จากโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน เป้าหมาย เพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มขึ้นจากการไม่มีเสา และ ช่วยให้การก่อสร้างเสร็จรวดเร็วขึ้น ผล คือ บ้านแข็งแรงคงทน แต่มีข้อจำกัดในการปรับปรุง - ปรับเปลี่ยน ความนิยมพรีคาสท์สำหรับการพัฒนาโครงการทาวน์เฮ้าส์ของพฤกษาดำเนินมาตลอด 28 ปี ท่ามกลางการก่อตั้งโรงงานผลิตพรีคาสท์เป็นของตัวเองมากถึง 7 แห่ง มีกำลังการผลิต รวมมากกว่า 1,100 ยูนิตต่อเดือน จนปี 2563 จำเป็นต้องปิดโรงงานบางแห่งลง เพราะงานในมือขาด การเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิดใหม่ดังกล่าว นายปิยะ ระบุ จะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์พฤกษาในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมของวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอีกครั้ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า พฤกษาเตรียมพร้อมในการส่งมอบที่อยู่อาศัยที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เช่นกัน เพื่อให้ตอบรับกับกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามสำหรับความคาดหวังเบื้องต้นนั้น คีย์แมนรายเดิม ตอบคำถาม "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนงานและกลยุทธ์ใหม่ๆที่ทยอยเกิดขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในช่วงปีนี้ หรือ ปีหน้า แต่จะเป็นการปูทางให้บริษัทยังคงเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เพราะปี 2564 ยังคงเป็นปีที่มีความท้าทายสูง จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ และเงินในกระเป๋าของลูกค้า ที่บริษัทอสังหาฯ ประสบปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม จุดขายใหม่ดังกล่าว ผนวกกับความเชื่้อมั่นในแบรนด์ คงมีช่วยผลักดันให้บริษัทบรรลุเป้าหมาย ยอดขาย และรายได้ที่วางไว้ 3.2 หมื่นล้านบาท ได้ไม่ยากสำหรับสินค้าคงเหลือของ บมจ.พฤกษา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่ามีทั้งสิ้น 11,731 ล้านบาท จากที่เคยมีสูงถึง 23,392 ล้านบาท ณ ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะกลยุทธ์ราคาและการขาย ทำให้ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) พฤกษาได้ส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา ด้วยยอดขาย 6,940 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 8.7% ของตลาด สำรวจยอดขายรอรับรู้รายได้ (BACKLOG) ช่วงปี 2564 – 2567 อยู่ที่ 21,988 ล้านบาทส่วนแผนเปิดโครงการใหม่ปีนี้ ผ่านมาเกือบครึ่งปี วิกฤติโควิดยังไม่คลี่คลาย แต่บอสพฤกษา ก็ยังยืนยัน ที่ 29 โครงการ มูลค่า 26,630 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ บ้านเดี่ยว 8 โครงการ และคอนโดมิเนียม 4 โครงการ สะท้อนการกลับมาบุกหนัก ทวงคืนตำแหน่งเจ้าพ่อทาวน์เฮ้าส์ของไทยอีกครั้ง

10/6/2564  ฐานเศรษฐกิจ (10 มิถุนายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS