info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.242.191.214

รฟม.อัพเดต ปักหมุดเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปี 2570

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ผู้ว่าการ รฟม. แถลงอัพเดตสายสีส้ม ลุ้นประมูลใหม่ ตุลาคมนี้ คาดได้เอกชนก่อสร้างฝั่งศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ปีหน้า

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 เวลา 18.30 น. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงข่าวผ่านระบบ ZOOM ว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท และการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ราคากลางที่ 78,720 ล้านบาท (ค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท และค่างานก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท) ดังนี้

1. ความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

2) รฟม.ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา

เข้าข้อตกลงคุณธรรม

3) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม.จึงได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 นี้ โดยจะใช้เวลายื่นข้อเสนอประมาณ 60 วัน จากนั้นจะเป็นช่วงของการพิจารณาซองข้อเสนอ และคาดว่าประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 จะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุน

ปักเป้าเปิดปี’68

ทั้งนี้ จะเร่งรัดเอกชนที่ได้ตัวเข้าพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อวางงานระบบเดินรถและจัดหาขบวนรถไฟฟ้าก่อน เพราะตอนนี้ตัวโครงการถไฟฟ้าสายสีส้มได้ดำเนินการก่อสร้างฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. คืบหน้าไปมากแล้ว จึงคาดว่าการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกน่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 และจะเปิดให้บริการทั้งสายทางในปี 2570

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

19/8/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (19 สิงหาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS