info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.221.188.161

คิงส์เกตทุ่มลงทุน 2.6 พันล้าน อัพเกรด 2 โรงงานผลิตทอง

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

คิงส์เกตฯ เปิดใจหลังฝุ่นตลบคดีเหมืองทองอัครายืดเยื้อ 6 ปี ไม่ถอยธุรกิจในไทย ทุ่มลงทุน 2.6 พันล้านอัพเกรด 2 โรงงานเพิ่มกำลังผลิต 1.2 แสนออนซ์ทอง/ปี ตั้งเป้าปั๊มค่าภาคหลวง-กองทุนส่งไทย 1,300 ล้านบาทต่อปี ปี’67 จ่อขยายไลน์สำรวจแหล่งแร่ใหม่ “สปป.ลาว” พร้อมปรับธุรกิจสู่เน็ตซีโร่ ติดโซลาร์ฟาร์ม-ใช้รถอีวี-ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นรอบเหมือง

ผ่านมา 6 ปี นับจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของอัครา ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหาย จากมาตรการของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 คำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป” พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ (22,672 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงด้านการลงทุน ภายใต้กรอบการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

ซึ่งมาถึงปัจจุบันอยู่ในกระบวนอนุญาโตตุลาการขั้นตอนเจรจาครบ กำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ล่าสุดทั้งรัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯ ได้ตกลงขยายขั้นตอนการเจรจาในกระบวนอนุญาโตตุลาการออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 แต่ทว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหา ได้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุขุม ผู้ต้องหาที่ 2 นายไมเคิล แพรทริค โมโนกาน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้ต้องหาที่ 4 ซึ่งจะนัดส่งตัวฟ้องในวันที่ 24 มกราคม 2567

ยังหวังสานสัมพันธ์

นายแดเนียล วีคส์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากรับตำแหน่งว่า อัพเดตคดีอัครา TAFTA ตอนนี้มีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทางคณะกรรมการก็มีการเลื่อนคำชี้ขาดออกไป 6 เดือน เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งทางเราไม่ได้มีความหนักใจอะไร ในระหว่างนี้ยังสามารถเดินหน้าธุรกิจปกติ เพราะเราดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไทย ขออนุญาตอะไรทุกอย่าง โดยไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไร สิ่งที่เราทำเป็นไปตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้เราได้มีการพบและพูดกับทางตัวแทนรัฐบาลไทย คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี

แต่ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ บริษัทมีความประสงค์จะที่ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ทางเราก็อยู่ระหว่างหาโอกาสที่จะเข้าไปพบท่าน เพราะเรามองว่าอุตสาหกรรมนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะ จึงอยากจะปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจเหมืองซึ่งที่ผ่านมาจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตจากหลายหน่วยงาน แต่บางครั้งอาจจะขาดการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานไปบ้าง เราคิดว่าหากมีโอกาสพบท่านนายกฯ ก็อยากจะนำประเด็นนี้ขึ้นมาหารือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะตอบสนองต่อดีมานด์ที่จะสูงขึ้นจากเทรนด์โลกที่ไปพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เมื่อไปเจาะลึกจะพบเลยว่าต้องใช้แร่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ และเรามองว่าประเทศไทยมีศักยภาพ หากได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐบาล และกระบวนการทำงานก็รองรับ จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตไปได้ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ย้ำภาพการทำงานร่วมกับไทย

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ผ่านมา 40 ปีนับจากสำรวจ บริษัทได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศผ่านการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศไทย อาทิ การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าภาคหลวงกว่า 4,500 ล้านบาท

ซึ่งภายหลังที่บริษัทสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลังแล้ว ค่าภาคหลวงและเงินกองทุนที่บริษัทจะนำส่งให้แก่ภาครัฐจะอยู่ที่ 1,300 ล้านบาทต่อปี โดยร้อยละ 50 ของค่าภาคหลวงถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเหมืองเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน

สื่อสารกับประชาชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบริษัทเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดผลกระทบในช่วงที่ผ่านมานับเป็นสิ่งที่สำคัญ ทางบริษัทมีทีมชุมชนสัมพันธ์ที่ลงพื้นที่เข้าไปหาประชาชนในพื้นที่ 28 หมู่บ้านรอบเหมืองเป็นประจำ เพื่ออัพเดตเรื่องราวและรับฟังข้อห่วงกังวลของชาวบ้าน เราก็อยากให้ชุมชนรอบเหมืองรับรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและเราทำงานอย่างโปร่งใส ทำให้มีการเปิดต้อนรับแขกผู้มาเยือนเสมอ และยังมีการจ้างงานโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาของบริษัท โดยจ่ายค่าตอบแทนกว่า 1,800 ล้านบาท จากการจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ซึ่งร้อยละ 99 เป็นคนไทย และร้อยละ 90 เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการ

“ภาพรวมของชุมชนอยากทำงานกับเหมืองเยอะมาก จะมีการติดต่อสอบถามมาในเพจว่ามีการรับสมัครงานไหม เพราะต้องยอมรับว่าคนมักจะเข้ามาหางานในเมือง ไม่ได้อยู่กับครอบครัว พอมีเหมืองเราเป็นนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณนั้น เขาก็อยากจะทำงานกับเรา จะได้อยู่ใกล้บ้าน คนที่อยู่ใกล้จะรู้ว่ามันไม่ได้มีผลกระทบอะไรอย่างที่เคยเป็นข่าว”

ทุ่มงบฯ 2.6 พันล้านอัพกำลังผลิต

“แผนของคิงส์เกตฯตอนนี้ บริษัทได้ใช้งบฯ 2,600 ล้านบาท ในการซ่อมแซมโรงงานที่หนึ่ง ซึ่งในกระบวนการผลิตของเรามี 2 โรงงาน โรงงานหนึ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็เปิดเมื่อเดือนมีนาคม 2566 และตอนนี้ก็ซ่อมแซมโรงงานอีกที่หนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจะมีการเปิดหน้าเหมือง ก็เลยจะผลิตทองคำมากขึ้น โดยคาดว่ากำลังการผลิตต่อปีจะเพิ่มขึ้น 1.2 แสนออนซ์ทอง”

ทั้งนี้ กำลังการผลิตของโรงประกอบโลหกรรมทั้ง 2 แห่งรวมกันอยู่ที่กว่า 5 ล้านตันต่อปี โดยโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.3 ล้านเมตริกตันต่อปี และโรงประกอบโลหกรรมที่ 2 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านเมตริกตันต่อปี สำหรับการผลิตทองคำเฉลี่ยที่ 120,000 ออนซ์ต่อปี

สำหรับค่าใช้จ่ายในการยกเครื่องซ่อมบำรุงเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรม ดังนี้ 1.โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 วงเงิน 578 ล้านบาท 2.โรงประกอบโลหกรรมที่ 1 อีก 525 ล้านบาท 3.อุปกรณ์ในการทำเหมือง 1,400 กว่าล้านบาท และการซ่อมแซมโครงสร้างต่าง ๆ ในการทำเหมือง 105 ล้านบาท

ลุยสำรวจแหล่งแร่ใหม่ ลาว

นายวีคส์กล่าวอีกว่า แผนการสำรวจแหล่งแร่ในตอนนี้ บริษัทมีการสำรวจ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเริ่มมีการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว การดำเนินการสำรวจแหล่งแร่ใหม่มีการดำเนินการทุกปีเพราะเป็นงานที่ต้องใช้ระยะยาวนานมากกว่า 5 ปี จึงจะตัดสินใจลงทุน ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้า การสำรวจก็ได้พบเจอแหล่งแร่ใหม่หลายจุด แต่ต้องบอกว่าการสำรวจมันใช้เวลาพอสมควรพอจะเจอแหล่งแร่ ต้องมีข้อมูลรายละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจในการลงทุน ว่าคุ้มค่าจะลงทุนหรือไม่

“การสำรวจเป็นขั้นแรกเท่านั้น ถ้าเราพบแหล่งแร่ทองคำใหม่ ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเปิดเหมืองได้เลย ต้องพิจารณาข้อมูลจากการสำรวจว่าจะมีการลงทุนหรือไม่ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ก็ต้องมีกระบวนการต่อไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และการสำรวจก็มีความเสี่ยงสูงมากถึงแม้ว่าจะเจอแหล่งแร่ใหม่ แต่เกรดของทองหรือแหล่งแร่นั้นอาจจะมีลักษณะเหมือนว่าอาจจะต้องใช้วิธีการผลิตที่อาจจะไม่คุ้มค่าก็ได้ ฉะนั้นเราอาจจะลงทุนในการสำรวจแล้วในที่สุดก็อาจจะตัดสินใจไม่สร้างเหมืองใหม่ก็ได้”

“ปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายการสำรวจออกไปที่ประเทศ สปป.ลาว เป็นปีแรก ตอนนี้บอกได้เพียงว่าเป็นการสำรวจเบื้องต้น กระบวนการเริ่มต้น ซึ่งทางเราได้พูดคุยกับที่ปรึกษาที่ลาวแล้ว แต่เทียบกับไทยไม่ได้ เพราะที่ลาวยังไม่ได้เริ่ม ส่วนที่ไทยเรามีข้อมูลพอสมควร จากที่ได้เริ่มสำรวจที่ประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แล้วพบแหล่งแร่ชาตรี”

เทรนด์เติบโตแต่ต้องเปลี่ยน

นายวีคส์มองว่า โอกาสทางธุรกิจของเหมืองยังมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น และคิงส์เกตฯมีแผนจะสร้างโซลาร์ฟาร์ม อาจจะเป็นแหล่งพลังงานสำรองให้กับกระบวนการผลิต เพื่อเข้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (เน็ตซีโร่) ตามเทรนด์ของโลก โดยขณะนี้บริษัทได้หารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเตรียมขอรับมาตรการส่งเสริม โดยจะมีการศึกษาขนาดกำลังการผลิตว่าจะติดได้ขนาดกี่เมกะวัตต์

“ธุรกิจเหมืองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัว การสร้างโซลาร์ฟาร์มที่จุดนั้น เป็นจุดเริ่มต้น เพราะมีเหมืองชาตรีเหมืองเดียว มีพื้นที่จำนวนมาก แต่ถ้าเราพบแหล่งแร่ใหม่ ถ้าคุ้มค่าอาจจะสร้างโซลาร์ฟาร์ม นอกจากนี้มีแนวทางเรื่องการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นในปี 2570 ในพื้นที่รอบเหมืองเป็นการทำ ESG และเรื่องรถมีการใช้รถอีวี”

อัคราปักหลักในไทย 23 ปี

อนึ่ง ธุรกิจอัคราปักหมุดในไทย นับจากปี 2543 รัฐบาลในยุคชวน หลีกภัย มีการเปิดให้สัมปทานการขุดเหมือง ชื่อ “ชาตรี” ทำบริเวณรอยต่อของ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ เป็นจำนวน 5 แปลง มีพื้นที่รวม 1,259 ไร่ หลังขุดทองกันได้ 7 ปี มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเมื่อปี 2550 แต่ระหว่างที่ภาครัฐตรวจสอบ ทาง บมจ.อัคราฯได้ขอสัมปทานเพิ่มเติมอีก 9 แปลง ในจังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ 2,466 ไร่ และได้รับสัมปทานจากรัฐ วันที่ 21 กรกฎาคม 2551-20 กรกฎาคม 2571 สัมปทานยาว 20 ปี ที่เรียกว่า “เหมืองทองคำชาตรีเหนือ” การตรวจสอบดำเนินมาจนถึง วันที่ 16 มกราคม 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการสุ่มตรวจ และพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัท อัคราฯ หยุดประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน ความขัดแย้งในพื้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มชาวบ้านมีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมืองทองคำ และฝ่ายที่ต่อต้านอยากให้เหมืองยุติ จนนำมาสู่คำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 วันที่ 14 ธันวาคม 2559 และนำมาสู่คดีการฟ้องร้องดังกล่าว

13/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 มกราคม 2567 )

Youtube Channel