ปี 2566 ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีก-ค้าส่ง ต่อสู้อย่างดุเดือด พาเหรดเปิดห้าง-ศูนย์การค้า ทั้งศูนย์การค้าแห่งใหม่ และ Renovate ศูนย์การค้าแห่งเดิม แต่งหน้าแต่งตัวใหม่ ให้ดูทันสมัยขึ้น
ในปี 2567 ก็เช่นกัน มีโครงการห้างและศูนย์การค้า จ่อคิวเปิดตัวใหม่ ให้บริการอย่างเป็นทางการอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และตามพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เริ่มต้นที่ เซ็นทรัล นครสวรรค์ (Central Nakhon Sawan) เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่มีครบ ทั้งศูนย์การค้า ในพื้นที่ 76,000 ตร.ม. ประกอบด้วย คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรม 200 ห้อง คอนโดฯ โรงพยาบาล และพื้นที่สีเขียว มูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท พร้อมด้วยการออกแบบศูนย์การค้าใช้แรงบันดาลใจจากจุดเด่นทั้งหมดของจังหวัดนครสวรรค์ ทั้ง ปากน้ำโพ และผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีน
เซ็นทรัล นครสวรรค์ จะเปิดให้บริการในวันที่ 31 มกราคม 2567 หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจากนี้
เซ็นทรัล นครสวรรค์ (Central Nakhon Sawan)
อีก 2 เดือนถัดมา จะเปิดบริการ เซ็นทรัล นครปฐม (Central Nakhon Pathom) มูลค่าโครงการ 8,200 ล้านบาท เป็นโครงการที่ใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มีทั้งศูนย์การค้า พื้นที่ 69,000 ตร.ม. โรงแรม 200 ห้อง, คอนโดมิเนียม, หมู่บ้านจัดสรร และ Urban Park ขนาดใหญ่ 4 ไร่ เป็นทั้งลานกิจกรรม และลานพักผ่อน เปิดบริการ 31 มีนาคม 2567
เซ็นทรัล นครปฐม (Central Nakhon Pathom)
ห้างที่ 3 คือ เซ็นทรัล กระบี่ โครงการมิกซ์ยูสในเมืองท่องเที่ยว ประกอบไปด้วยศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และโรงแรม ด้วยมูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท เปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
และอีก 2 ห้างที่เหลือ คือ โรบินสันไลฟ์สไตล์ 2 สาขา หนองคาย และนครพนม ภายใต้การดูแลของ เซ็นทรัลรีเทล (Central Retail) เปิดให้บริการภายในปี 2567 นี้เช่นกัน
ส่วนโปรเจกต์ใหญ่ อย่าง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) โครงการลักเซอรี่มิกซ์ยูสที่กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมทุนกับ กลุ่มดุสิตธานี ปั้นโครงการนี้ บนพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานี เตรียมเปิดให้บริการส่วนของโรงแรม ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากนั้นจะทยอยเปิดอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโครงการที่พักอาศัยภายในปี 2569
นอกจากนี้ เครือเซ็นทรัลยังบุกห้างค้าส่ง ในชื่อของ โก โฮลเซลล์ (Go Wholesale) ซึ่งเปิดสาขาที่ 5 แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่พระราม 2 (พื้นที่เดิมของ Tops Club) และจะเปิดสาขาใหม่อีก 7 แห่ง เน้นทำเลที่มีศักยภาพในหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล-โรบินสันไลฟ์สไตล์ เลือกขยายสาขายังไง ?
สำหรับหลาย ๆ คนที่อาจสงสัย นอกจากการบริหารงานหลักโดยคนละนิติบุคคลแล้ว ยังมีกลยุทธ์ในการขยายสาขาที่แตกต่างกัน โดยศูนย์การค้าเซ็นทรัล หรือที่หลายคนอาจคุ้นเคยชื่อเรียกว่า เซ็นทรัลพลาซา นั้น จะเน้นการขยายสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่หัวเมืองหลักทั่วประเทศ
ขณะที่ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จะเน้นการขยายไปตามพื้นที่ที่เป็นเมืองรอง มีคนในพื้นที่เยอะ แม้กำลังซื้อต่อหัวจะยังไม่สูงมากเท่าระดับห้างเซ็นทรัล หรือขยายไปตามพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เยอะ จังหวัดที่เป็นเมืองหน้าด่านทางการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน จนถึงการขยายสาขาเพื่อรองรับกำลังซื้อจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่
กลุ่มเดอะมอลล์ เปิดโฉมใหม่ บางแค
ฟากกลุ่มเดอะมอลล์ ก็เดินหน้าเปิดห้างใหม่แบบรัว ๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประเดิมที่ เอ็มสเฟียร์ (EmSphere) ศูนย์รวมความบันเทิงและแหล่งแฮงเอาต์ ย่านพร้อมพงษ์ จนถึงการเปิดตัวโฉมใหม่ของ เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่แปลงโฉมเป็น เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ตามสาขาอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไปก่อนหน้าแล้ว
ในปีนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ เตรียมเปิดตัวโฉมใหม่ของ เดอะมอลล์ บางแค ในชื่อใหม่ คือ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ซึ่งตอนนี้ทยอยเปิดโซนโฉมใหม่แล้ว และจะเปิดโฉมใหม่อย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้
เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางแค (The Mall Lifestore Bangkae)
หลังจากนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ จะบุกพลิกโฉมเดอะมอลล์โคราช และเดอะมอลล์รามคำแหง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำแบบพัฒนาโครงการ คาดว่าจะสรุปแผนลงทุนโครงการได้ภายในปี 2567
เดอะมอลล์ ไม่หยุดเพียงแค่นี้ ยังเตรียมการเปิดตัวโครงการใหญ่อย่าง แบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) โปรเจ็กต์ศูนย์การค้าใหญ่ของเดอะมอลล์ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด ตอนนี้เร่งการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569-2570
มิกซ์ยูส เทรนด์อสังหาริมทรัพย์ ของโลกวันนี้
ไม่เพียงแต่การบุกเปิดห้างใหม่ รีโนเวตห้างเก่า แต่กิจการค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า กำลังพัฒนาโครงการหลายแห่ง เป็นแบบมิกซ์ยูส
สำหรับใครที่อาจไม่คุ้นเคย หรือคลุกคลีกับวงการอสังหาริมทรัพย์นั้น อาจสงสัยว่า โครงการมิกซ์ยูส คืออะไร ? ต่างจากห้างสรรพสินค้าเดิมที่เราเคยเดินอย่างไรบ้าง ?
โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ผนวกพื้นที่ที่อยู่อาศัย และพื้นที่พาณิชย์ พื้นที่ขายของ เข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน โดยรูปแบบของโครงการมิกซ์ยูส มีได้ทั้งแบบ 2 in 1 อาจเป็นที่อยู่อาศัย บวกกับห้าง หรือบวกกับอาคารสำนักงาน หรืออาจผสมมากกว่า 2 อย่าง มีทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ออฟฟิศ โรงแรม และพื้นที่แบบอื่น ๆ เข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน
โครงการมิกซ์ยูส เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เมือง ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบายของผู้อาศัย ผู้ใช้งานพื้นที่ และตอบโจทย์การลงทุน ทั้งเรื่องการใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และเรื่องการสร้างรายได้ ที่ทำให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการมีรายได้ที่มาจากอสังหาริมทรัพย์เพียงรูปแบบเดียว
ในปีนี้ คงจะได้เห็นภาพการแข่งขันที่ดุเดือดของห้างยักษ์ใหญ่ในทุกค่าย ที่เปิดกลยุทธ์การต่อสู้ทุกระดับ และเราต้องจับตาว่า ห้างไหนจะสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดลูกค้าได้มากกว่ากัน
27/1/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 27 มกราคม 2567 )