ดีเดย์ 12 กุมภาพันธ์ 2566 กคช.-การเคหะแห่งชาติ จะครบรอบก่อตั้ง 50 ปี
โดยสรุปผลงานสำคัญ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางไม่ต่ำกว่า 7 แสนหน่วย
ปี 2566 ภารกิจยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้โครงการ บ้านเคหะสุขประชา
50 ปี 7.47 แสนหน่วย
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะฯจะก่อตั้งครบ 50 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาได้พัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบจำนวนทั้งสิ้น 747,234 หน่วย
อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการเคหะชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด โครงการเคหะข้าราชการ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการอาคารเช่า เป็นต้น
ทั้งนี้ การเคหะฯมีพันธกิจในการสร้างที่อยู่อาศัยและดูแลคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกันด้วย โดยให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ 2560-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
เดินหน้า เคหะสุขประชา
สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2566 มีการสานต่อโครงการสำคัญ อาทิ บ้านเคหะสุขประชา ซึ่งเป็นโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพ ภายใต้โมเดล มีบ้าน-มีอาชีพ-มีรายได้-มีความสุข เป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายใน 5 ปี (2564-2568)
อัพเดตล่าสุด ได้ก่อสร้างโครงการนำร่องและส่งมอบพร้อมทำสัญญาเช่าให้กับผู้ได้สิทธิแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ บ้านเคหะสุขประชา ฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย
รวมทั้งมีการจัดตั้ง บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จ โดยการเคหะฯถือหุ้น 49% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเอกชนอีก 6 ราย โดยจัดทำโครงการต้นแบบบ้านเคหะสุขประชาภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 จำนวน 3 พื้นที่
ได้แก่ 1.บ้านเคหะสุขประชา วังน้อย อำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 2.บ้านเคหะสุขประชา ลำลูกกาคลอง 12 อำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี 3.บ้านเคหะสุขประชา ธรรมศาลา อำเภอเมือง จ.นครปฐม
เฟสต่อไป อยู่ระหว่างนำเสนอให้ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน อีก 10 โครงการ ประกอบด้วยโครงการใน จ.ปทุมธานี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สระบุรี สระบุรี กำแพงเพชร นครสวรรค์ ระยอง
ต่อยอดบ้านเช่า-สูงวัย
ไฮไลต์อีกด้านของการเคหะฯ คือการสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในรูปแบบการเช่า โดยมีโครงการบ้านเคหะสุขเกษม จ.สมุทรปราการ (เทพารักษ์) ซึ่งเป็นบ้านเช่ารองรับสังคมผู้สูงอายุ เน้นออกแบบอารยสถาปัตย์ (universal design)
แบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟส จำนวน 90 อาคาร รวมทั้งสิ้น 3,956 หน่วย ที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี สมุทรปราการ
ควบคู่กับจัดทำโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีอาคารเช่า 10 โครงการ พร้อมเข้าอยู่ 6 โครงการ ได้แก่ จ.สมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3), มหาสารคาม, สุรินทร์ (สลักได), อุบลราชธานี, นครสวรรค์ 2, ลำปาง
และอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ พังงา (ตะกั่วป่า), กาญจนบุรี, ลพบุรี (เฟส 1), สมุทรปราการ (บางพลี) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการบรรจุผู้เช่าใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566 นี้
ขณะเดียวกัน มีโครงการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน เปิดโอกาสให้ผู้เช่าได้เช่าตรงกับการเคหะฯ ซึ่งเป็นแผนงานที่ดำเนินงานตั้งแต่ 1 เมษายน 2564-30 กันยายน 2565 ปัจจุบันรับคืนโครงการแล้ว 57 สัญญา รวม 28,741 หน่วย มีผู้เช่าทำสัญญาเช่าตรงกับการเคหะฯแล้ว 11,061 หน่วย
สินเชื่อผู้มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ การเคหะฯได้เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแต่ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคาร โดยจัดให้มีโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
โดยมีคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) ของการเคหะฯเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้าโดยตรง
ผลดำเนินงานด้านนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563-2565 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,507 ราย เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป 1,321 ราย กลุ่มเปราะบาง 186 ราย วงเงินสินเชื่อ 977.24 ล้านบาท แผนงานในปีงบประมาณ 2566 มีเป้าหมายให้สินเชื่อกับลูกค้า 574 ราย วงเงินสินเชื่อ 381.55 ล้านบาท
เล็งประมูล TOD-เวลเนส
แผนงานระดับเมือง การเคหะฯมีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง, โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง, โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา, โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง
รวมทั้งโครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการภายใต้โมเดล TOD (transit oriented development) โครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ (wellness center) และการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ
ทุกโครงการบรรจุไว้ในแผนและกำลังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากชะงักเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา โดยแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2566 โครงการเชิงยุทธศาสตร์มี 31 โครงการ
เชิดชูค่านิยม HOMES
ณ ปี 2566 การเคหะฯมีการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรใหม่ 5 S ประกอบด้วย 1.spirit รวมพลังใจในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมไทย 2.skill มุ่งแสวงหาและเพิ่มพูนความรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
3.service ให้บริการที่ตอบโจทย์ 4.speed รวดเร็ว ตรงเวลา และทันต่อสถานการณ์ และ 5.sustainability พัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
ตลอดจนส่งเสริมค่านิยมที่มาจากคำว่า HOMES ได้แก่ happiness to all เสริมสร้างความสุข, open to collaborate ประยุกต์ความร่วมมือ, mastering to innovate ยึดถือนวัตกรรม, efficient & ethical process ประสิทธิภาพพร้อมคุณธรรม และ service excellence ยกระดับการบริการ
ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมทั้งการสร้างมุมมอง ทัศนคติ และทักษะต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ปัจจุบัน
ล่าสุด ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2565 การเคหะฯได้คะแนน 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ถือเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัด พม. และเป็นอันดับ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมิน
ทั้งยังได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศอีกด้วย
จัดอีเวนต์ใหญ่ 10 ก.พ. 66
ทวีพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเคหะฯกำหนดจัดอีเวนต์ในวาระครบรอบ 50 ปี ในวันศุกร์ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมแสดงความยินดี โดยของดรับของขวัญหรือกระเช้าแสดงความยินดี
เปลี่ยนเป็นรณรงค์ขอรับเป็นเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
โดยสามารถบริจาคเงินภายในงาน หรือโอนเงินเข้าบัญชี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 020-3-045451
50 ปีที่ผ่านมา เราสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางไปแล้วกว่า 7 แสนหน่วย ต้องยอมรับว่าทุกโครงการทุกพื้นที่มีทั้งปัญหาและอุปสรรค หลายทำเลเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จ
2/2/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 กุมภาพันธ์ 2566 )