ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เร่ง สมอ. เดินหน้าเฟส 2 ทุ่มงบอีก 1,667.69 ล้านบาท สร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่ง LAB และทดสอบการชน คาดสร้างเสร็จปี 2569 มีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center-ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย
ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ
รวมทั้งยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจเกิดการพัฒนาและโตยิ่งขึ้น เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ สร้างโอกาสในการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยในอนาคตด้วย รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ส่วนระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 55% โดยใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินงบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จครบทุกระยะ คาดว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ สมอ.ได้เปิดให้บริการทดสอบตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้วจำนวน 136 ราย และได้รับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์และยางล้อไปแล้วรวมทั้งสิ้น 985 ฉบับ
และในเดือนเมษายน 2566 นี้ กำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบระบบเบรกมือ ส่วนสนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track) และสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track) พร้อมเปิดให้บริการทดสอบได้ในกลางปี 2567
สำหรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่ง LAB ทดสอบการชน รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง โดยคาดว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติจะเปิดให้บริการทดสอบเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2569
10/2/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 กุมภาพันธ์ 2566 )