info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.144.26.221

FPT ชี้เทรนด์ อสังหาขาขึ้น อัพเกรดสู่ Real Estate as a Service Brand

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

FPT-บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ผู้นำอสังหาฯครบวงจรรายแรกของไทย จากโมเดลธุรกิจ one platform “ที่อยู่อาศัย-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม” ประกาศโรดแมป FPT Next 2025 ยกระดับสู่ “Real Estate as a Service Brand” เพื่อส่งมอบการบริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence) ในทุกมิติ ต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีคำถามมากมายว่าเทรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างไร มีการพลิกฟื้นแล้วหรือยัง

ดังนั้น วันนี้จึงได้นำเสนอเทรนด์ปี 2566 ในรูปแบบ Thailand Property Clock เพื่ออธิบายให้เข้าใจง่ายและให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยดูแต่ละเซกเตอร์ของธุรกิจอสังหาฯ ว่าอยู่ช่วงขาขึ้นหรือขาลง โดยเปรียบเทียบกับเทรนด์ธุรกิจตามการหมุนของเข็มนาฬิกาเลข 1-12 ดังนี้

ปีท้าทายของตลาดรีเทล

“ธุรกิจรีเทล” จุดโฟกัสอยู่ที่เลข 4-5 นาฬิกา (จุดต่ำสุดอยู่เลข 6) เป็นช่วงนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา อัตราการเช่าและค่าเช่ายังอยู่ในช่วงขาลง ในวงการชาเลนจ์กันอยู่ว่าค่อนข้างเป็นเซกเมนต์เฉพาะ แต่ละศูนย์การค้าพยายามสร้างจุดขาย ปีนี้เป็นปีท้าทายของตลาดรีเทล

“ออฟฟิศ” จุดโฟกัสอยู่ช่วงเลข 5-5.5 นาฬิกา แนวโน้มตลาดปีนี้-ปีหน้ายังโอเค สำหรับสำนักงานเกรด A ที่มีการต่อตรงกับระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที อย่างไรก็ตาม ทำเลซีบีดีค่อนข้างจะเหนื่อย มีความท้าทายจากการมีซัพพลายใหม่เข้ามาเติมตลาด ซึ่งอาจมีภาพของดีมานด์เติบโตไม่ทันซัพพลาย

“สินค้าทาวน์โฮม” จุดโฟกัสอยู่ในช่วงเลข 6-6.5 นาฬิกา (เลยจุดต่ำสุดมาแล้ว) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอาจมีผลกระทบจากด้านกำลังซื้อ เพราะตลาดทาวน์เฮาส์ลูกค้าหลักกำลังซื้อระดับกลาง (middle income) เจอปัญหาหนี้ครัวเรือน การอนุมัติสินเชื่อจะยาก ถึงแม้เราจะมีการขายได้มาก แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อก็ยังสูง

ตลาดทาวน์โฮมผมเชื่อว่าในแง่ความต้องการซื้อยังมีอีกมาก เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราจัดการเรื่องนี้ได้ดีขึ้นก็จะมีโอกาสทางธุรกิจ

“ฮอสพิทาลิตี้” จุดโฟกัสอยู่ใกล้เคียงเลข 7 นาฬิกา การเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา ตัวอย่างจากภูเก็ตเริ่มมีปัญหารถทัวร์ ไกด์ไม่เพียงพอ เป็นภาพเดียวกับยุคก่อนโควิด ฉะนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแล้ว กรุงเทพฯ เยาวราช นักท่องเที่ยวจีนเดินเต็มไปหมด แม่ค้าในเยาวราชบอกว่าบรรยากาศกลับมาเหมือนเดิมแล้ว

แน่นอนว่าปีนี้ นักท่องเที่ยวอาจไม่สามารถกลับมาเติมเต็มจากที่เคยมี 30 กว่าล้านคนได้ แต่อย่างน้อยตลาดก็เริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยโรงแรมพรีเมี่ยม โรงแรมที่เป็นเดสมิเนชันฟื้นตัวขึ้นมาได้ ค่าห้องพักเริ่มปรับตัวดีขึ้น

“โรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า” จุดโฟกัสอยู่ช่วง 9-9.5 นาฬิกา (เลข 12 นาฬิกาคือจุดพีก) สถานการณ์โควิดตลาดอีคอมเมอร์สทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นขาขึ้น ซัพพลายเออร์ต้องสต๊อกสินค้าประเทศต่างๆ แทนที่สินค้าจะถูกส่งมาจากประเทศจีน ทำให้ดีมานด์ความต้องการแวร์เฮาส์โลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ผู้เล่นต่างๆ สนใจที่จะเข้ามา

ทั้งนี้ อสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรมของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ก็สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อัตราการเช่าสามารถเมนเทนที่สัดส่วน 84-85%

“สินค้าบ้านเดี่ยว” จุดโฟกัสอยู่ที่ช่วง 10 นาฬิกา ตลาดบ้านเดี่ยวถูกยกระดับขึ้นมาจากดีมานด์สูง ถ้าเศรษฐกิจดีคนมีเงินจะซื้อเงินสดด้วยซ้ำ เขาไม่ห่วงเรื่องสินเชื่อ กลับคิดว่าเป็น goodwill เป็นโอกาสอันดีที่จะซื้อบ้านเดี่ยว

ในขณะที่ผลประกอบการของ FPT ปี 2565 ทำรายได้รวม 16,346 ล้านบาท สัดส่วนหลัก 75% จำนวน 12,259 ล้านบาทมาจากธุรกิจที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป, สัดส่วน 17% มาจากอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งมีพื้นที่ให้เช่า 3.2-3.3 ล้านตารางเมตร ทำให้เรามีค่าเช่าต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่เยอะแต่ก็ทำได้ 2,780 ล้านบาท

และสัดส่วน 8% มาจากรายได้คอมเมอร์เชียลทั้งออฟฟิศและรีเทล จำนวน 1,307 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มั่นคง ในแง่มูลค่าทรัพย์สินของอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรมรวมกับคอมเมอร์เชียล มีมูลค่าในสัดส่วน 40-45%

แผนธุรกิจปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ 17,925 ล้านบาท มาจากธุรกิจที่อยู่อาศัย 13,055 ล้านบาท สัดส่วน 73% อุตสาหกรรม 3,405 ล้านบาท สัดส่วน 19%และคอมเมอร์เชียล 1,435 ล้านบาท สัดส่วน 8% เท่าเดิม

“ภายในปี 2570 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่าเราจะวางเป้าหมายระยะไกลให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เราไม่ได้เน้นตัวเลขจะต้องสูงที่สุดมากที่สุด เพราะเราให้ความสำคัญกับคุณภาพของรายได้เป็นไปอย่างยั่งยืนดีกว่า นี่คือภาพรวมแผนธุรกิจปี 2566-2570” คำกล่าวของนายธนพล

สำหรับแผนธุรกิจปี 2566 เป็นต้นไป FPT จะขับเคลื่อนองค์กรผ่านการเป็น Real Estate as a Service Brand การขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยต่อยอดด้านนวัตกรรมการบริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

ทั้งนี้ FPT เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ด้วยการผนึกกำลังความสามารถด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ของทีมงานมืออาชีพจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ (อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย, อสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรม, อสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์)

ในด้านเทคโนโลยีการบริการต่าง ๆ อาทิ ส่งเสริมด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ ใช้ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) ในการเข้า-ออกพื้นที่ ระบบอำนวยความสะดวกด้านการควบคุมยานยนต์เข้า-ออกพื้นที่ ติดตามการจราจรและระดับมลภาวะภายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำด้านอาคารยั่งยืนที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานระดับสากล

สำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัยได้เสริมการให้บริการลูกค้าอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น ด้วยแอปพลิเคชัน Home+ อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าตลอดกระบวนการขายและบริการ ส่งมอบบริการเสริมต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายพันธมิตรเพื่อดูแลลูกบ้านให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับไลฟ์สไตล์และความต้องการในการอยู่อาศัย พร้อมส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ภายในบ้านซึ่งช่วยยกระดับการใช้ชีวิต

ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานของคนสมัยใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง FPT ได้เดินหน้านวัตกรรมการบริการในธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าภายใต้คอนเซ็ปต์ Core & Flex ที่มีทั้งพื้นที่สำนักงานแบบมาตรฐาน และแบบยืดหยุ่น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมีค่าใช้จ่ายตามประเภทการบริการหรือระยะเวลาที่ต้องใช้งาน

อีกทั้งเตรียมผลักดันการให้บริการ Co-Warehousing เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องใช้บริการรายครั้ง (Pay-Per-Use) หรือต้องการจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้าตามจำนวนพาเลท (Pay-Per-Pallet) รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่, สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่เป็นของส่วนกลางโดยจ่ายค่าบริการตามจำนวนการใช้งาน

ขับเคลื่อนสู่การเป็น Real Estate as a Service Brand

นายธนพลกล่าวต่อว่า เพื่อขับเคลื่อน FPT สู่การเป็น Real Estate as a Service Brand ภายในปี 2568 บริษัทกำหนดแผนการดำเนินงาน 3 มิติหลัก ได้แก่

1.People-มุ่งดูแลพนักงานซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสนับสนุนให้ทุกคนในองค์กรมีเส้นทางการเติบโตในอาชีพอย่างชัดเจน ดูแลด้านสวัสดิการที่เท่าเทียมและสอดรับกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพื่อสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจทั้งในปัจจุบันและการเติบโตในอนาคต

โดยมีเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็น Employer of Choice หรือบริษัทที่คนอยากร่วมงานด้วย

2.Planet-ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นและคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) สร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัท ในทุกด้าน

ปัจจุบัน FPT เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทยรายแรกที่ได้รับจัดอันดับมาตรฐานในระดับ A ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทในหมวดหมู่ Southeast Asia Diversified Business ตามมาตรฐานของ GRESB (Global Real Estate Sustainability Benchmark) ซึ่งเป็นดัชนีด้านความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์

พร้อมเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 6 แสนต้นในปี 2025 เพื่อที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050

3.Purpose-เพิ่มเติมจากการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ FPT จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ให้เป็นที่จดจำ และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านการดำเนินงานของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าติด Top 5 ของแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2568

“เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ Inspiring experiences, creating places for good. หรือ สร้างสรรค์พื้นที่ ให้ประสบการณ์ที่ดีคงอยู่ FPT จึงดำเนินตามแผน FPT Next 2025 และมุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพสูงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดี พร้อมทั้งตอบโจทย์ความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าและผู้ใช้บริการไปพร้อมกัน” นายธนพลกล่าว

อนึ่ง ภาพรวมธุรกิจของ FPT มีดังนี้

“กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย” มีการพัฒนาบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม รวม 10 แบรนด์ ปี 2566 จะขยายพอร์ตโฟลิโอโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักเซอรี่-ซูเปอร์ลักเซอรี่ราคา 60-120 ล้านบาท ผ่าน 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ The Royal Residence (เดอะ โรยัล เรสซิเดนซ์), Alpina (อัลพีน่า) และ The GRAND (เดอะ แกรนด์) รวมถึงมีแผนบุกตลาดคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ราคา 3-5 ล้านบาท

“กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม” มีพื้นที่ภายใต้บริหารจัดการกว่า 3.4 ล้านตารางเมตรในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้ลูกค้าอีก 150,000 ตารางเมตร ส่งผลให้บริษัทฯ จะมีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3.55 ล้านตร.ม. ตอกย้ำการเป็นผู้นำอันดับ 1

ขณะเดียวกันมีเมกะโปรเจกต์เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนพื้นที่ 4,600 ไร่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแผนลงทุนในปี 2566 ตั้งงบลงทุนที่อยู่อาศัย 3,000-4,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรม ……….. ล้านบาท และคอมเมอร์เชียล 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรีโนเวตเป็นหลัก เตรียมประกาศแผนธุรกิจโครงการเมืองอุตสาหกรรมภายในกลางปี 2566 นี้

“กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม” แข็งแกร่งด้วยโครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมือง สามย่านมิตรทาวน์และสีลมเอจ, ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงานเกรดเอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ย่าน CBD ทำให้สามารถรักษาอัตราการเช่าเฉลี่ยของทั้งพอร์ตโฟลิโอสูงกว่า 90%

จากความหลากหลายของธุรกิจที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แพลตฟอร์มของ FPT ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าสินทรัพย์ 98,967 ล้านบาท ตั้งเป้าในปี 2568 จะมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเกิน 100,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายกระดับเป็นแบรนด์ Top 5 ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมของประเทศไทย

17/2/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 17 กุมภาพันธ์ 2566 )

Youtube Channel