ล่าสุด ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ปี 2565 มีนโยบายผลักดันการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามเจ้าพระยาที่เป็นโครงการเชื่อมต่อจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโครงการในแผนลงทุนของ ทช.-กรมทางหลวงชนบท แต่ติดขัดปัญหางบประมาณมีจำกัด โดยมีข้อสั่งการมอบหมายให้ กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยลงทุนบางส่วน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ทางได้เร็วขึ้น เพราะการบริหารจัดการงบประมาณลงทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด
กรณีที่จะให้การทางพิเศษฯ ทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนแทนทางหลวงชนบท จริง ๆ โปรเจ็กต์ใหญ่เป็นวงแหวนรอบสามด้านใต้ที่จะวิ่งเลียบจากบางขุนเทียนไปทะลุพระราม 2 แต่ปรากฏว่าติดรายงานสิ่งแวดล้อม EIA เพราะไปเจอป่าชายเลน ผมเลยบอกให้ตัดเอาแค่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างน้อยคนที่อยู่สมุทรปราการให้เดินทางข้ามมาเจ้าพระยาไม่ต้องวิ่งเข้ากรุงเทพฯ แต่สามารถข้ามมาฝั่งพระสมุทรเจดีย์แล้วออกพระประแดงได้เลย ซึ่งมีการศึกษาผลตอบแทนการลงทุนแล้วบอกว่าทำแบบนี้แล้วคุ้ม
ทั้งนี้ การวางนโยบายเรื่องนี้ เนื่องจากการทางพิเศษฯมีเครื่องมือทางการเงินที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางไว้คือการระดมแหล่งทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF-Thailand Future Fund) สำหรับนำมาใช้ก่อสร้างโครงการ
ทางด่วน 6 เลน 59 กม. สำหรับรายละเอียดโครงการ ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบทระบุว่า กรมเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวไว้แล้วในปีงบประมาณ 2555 มีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 และได้ออกแบบรายละเอียด พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ในปีงบประมาณ 2557
โครงการสะพาน รูปแบบโครงการเป็นถนนยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ความยาวทั้งโครงการ 59.138 กิโลเมตร (โดยมีช่วงที่ขยายเป็น 8 ช่องจราจร คือ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 7.450 กิโลเมตร)
โครงการมีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ใน ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน บริเวณใกล้ ๆ ปากแม่น้ำท่าจีน แล้วขนานกับคลองพิทยาลงกรณ์ ผ่านเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และขนานกับคลองสรรพสามิต ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้ ๆ กองเรือทุ่นระเบิดผ่านอำเภอเมือง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สิ้นสุดโครงการที่ ถนนเทพารักษ์ นอกจากทางยกระดับแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างถนนบริการระดับพื้นดินขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ในช่วงที่มีชุมชน บ้านเรือนประชาชนหนาแน่น มีความยาวรวมกันทั้งหมด 35.706 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ความยาว 59 กิโลเมตรตลอดโครงการ จะมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ 1.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสะพานพระสมุทรเจดีย์ ออกแบบเป็นสะพานขึง (Cable stayed Bridge) มีความยาวช่วงตอม่อ 660 เมตร ทำให้ไม่มีตอม่ออยู่ในแม่น้ำ มีความสูงช่องลอด 57 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้ได้รับฉายาว่าเป็นสะพานโกลเด้นเกตของกรมทางหลวงชนบท
2.สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ออกแบบเป็นสะพานคานขึง (Extrabosed Bridge) ต่อเนื่องกับสะพานคานคอนกรีต รูปกล่องชนิดยื่นสมดุล สะพานนี้มีความยาวช่วงตอม่อช่วงที่ข้ามแม่น้ำ 277 เมตร ความสูงช่องลอด 57 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ทช.ลงทุนคู่ขนานกับ กทพ. ตัวโครงการมีการแบ่งออกเป็น 7 ช่วงด้วยกัน (ดูกราฟิกประกอบ) โดยช่วงที่ 1-6 มีระยะทางรวม 59.137 กิโลเมตร กับช่วงที่ 7 เพิ่มเติมโครงการถนนเชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ถึงถนนบางนา-ตราด 1 ช่วง โดย ทช.ก่อสร้างช่วงที่ 1-4 และจะมีการตัดแบ่งการลงทุนช่วงที่ 5-7 ให้การทางพิเศษฯเป็นผู้ลงทุนคู่ขนานไปด้วยกัน
6/2/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (6 กุมภาพันธ์ 2565)