info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.118.20.148

เอสซีจี มุ่งพลังงานสะอาด เจาะไทย-อาเซียนติดตั้งโซลาร์เซลล์

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

“เอสซีจี” ประกาศลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรในตลาดไทย-อาเซียน เริ่มจากกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง ภายใต้เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ บริษัทน้องใหม่ในเครือที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปี

“อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ว่า เอสซีจีมีการพัฒนาเรื่องการใช้พลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานที่มาจากโซลาร์เซลล์

ด้วยการนำแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในโรงงานของเอสซีจีเองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกกระบวนการเราออกแบบเอง ติดตั้งเอง และใช้งานเองมาราว ๆ 5 ปี สิ่งที่พบคือทำให้เรามีองค์ความรู้เกิดขึ้น

การใช้โซลาร์เซลล์สามารถลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจเราได้จริง อีกทั้งยังเห็นว่าต้นทุนในการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับสถานการณ์ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาต้นทุนพลังงานสูงขึ้น

อีกทั้งผลกระทบจากโลกร้อนเริ่มรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า เกิดขึ้นถี่มาก ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องหันมาช่วยโลก พร้อมกับโฟกัสเรื่องพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

“จากองค์ความรู้ที่เรามี จึงต่อยอดเป็นธุรกิจที่ทำเรื่องพลังงานสะอาดโดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกค้าข้างนอกที่ไม่ใช่เอสซีจีมีพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดใช้งาน สิ่งที่เราทำคือรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมด เอามาพัฒนาเป็นโซลูชั่น เพื่อทำให้ลูกค้ามีความสะดวกสบาย มีความง่าย จึงเกิดเป็นเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ด้วยการให้บริการด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มี 3 แบบ ได้แก่ 1.ติดตั้งบนพื้นดิน 2.ติดตั้งบนผิวน้ำ 3.ติดตั้งบนหลังคา กล่าวกันว่าทั้ง 3 แบบมีความยากง่ายในการพัฒนาทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าและพื้นที่ที่มี

“เราทำงานโดยมีเครือข่ายจากทุกบริษัทในเครือเอสซีจี จาก 2 ธุรกิจหลัก ๆ ได้แก่ 1.ธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งเก่งในเรื่องโครงสร้าง ฉะนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ใช่เอาไปตั้งได้เลย แต่ต้องออกแบบในเชิงวิศวกรรมโยธาด้วย

2.เคมิคอลล์ ถ้าติดตั้งโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำจะต้องมีการใช้ทุ่นสำหรับการอำนวยความสะดวก เพื่อไปบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และทางเคมิคอลล์ ผลิตทุ่นได้ เพราะเขาถนัดเรื่องวัสดุที่เป็นพอลิเมอร์ เขาต้องดูว่าทำอย่างไรทุ่นที่ผลิตจะเหมาะสมกับการใช้ในน้ำ ไม่ทำลายระบบนิเวศในน้ำ”

“อรรถพงศ์” กล่าวต่อว่า สำหรับโซลูชั่นของเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีจุดเด่นอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง ระบบการซื้อขายไฟผ่านแพลตฟอร์ม smart grid จากที่ได้สำรวจข้อมูลมา พบว่าผู้ประกอบการในประเทศไทย หรือลูกค้ามีลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางรายอยากใช้ไฟฟ้ามากในช่วงจันทร์-ศุกร์ แต่เสาร์-อาทิตย์ไม่ใช้ ขณะที่บางรายใช้ไฟฟ้ามากในช่วงเสาร์-อาทิตย์ และเขาอยากใช้พลังงานสะอาด แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ติดตั้งโซลาร์เซลล์ตรงไหน เราจึงพัฒนาระบบขึ้นมาสำหรับลูกค้า อยากใช้เท่าไหร่ ซื้อเท่านั้น

สอง เป็นคู่คิดให้กับลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ การใช้โซลาร์เซลล์เป็นงานทางวิศวกรรม จึงต้องมีการออกแบบที่สำคัญ เป็นงานที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย เอสซีจีเราจะดูแลเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งการสำรวจพื้นที่ให้ลูกค้า การออกแบบ ว่าติดตั้งได้เท่าไหร่ ติดตั้งได้จริงไหม ต้องมีการวิเคราะห์การใช้ไฟของเขา ติดตั้งได้เท่าไหร่ ต้องดูว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความเข้มแสงเท่าไหร่ด้วย

สาม ลงทุนติดตั้งให้เลย แล้วดูแลเรื่องการบำรุงรักษา ลูกค้าแค่รับไฟอย่างเดียว เราจะทำสัญญาการซื้อขายไฟให้ อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การใช้โรบอตเพื่อช่วยทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ มีการนำโดรนมาใช้ตรวจสอบ

เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ใช่แค่พื้นที่ 1-2 ตารางเมตร แต่พื้นที่เป็นไร่ จะใช้แรงงานคนทำทั้งหมดก็ใช้เวลานาน แถมคุณภาพไม่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีระบบติดตาม ลูกค้าสามารถดูประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้จากทุกที่ ทั้ง 3 จุดเด่นเราเชื่อมั่นว่าสามารถบริการลูกค้าให้เกิดความประทับใจตั้งแต่ต้นจนจบได้

“กลุ่มลูกค้าตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าเยอะ เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลุ่มที่สองคือเชิงพาณิชย์ใหญ่ ๆ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าวันนี้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงตั้งเป้าว่าปีนี้จะเติบโตประมาณ 4 เท่า เพราะมองเห็นโอกาสหลาย ๆ อย่าง และมั่นใจในประสบการณ์ของตนเองที่จะสามารถดูแลลูกค้าได้ พร้อมกับขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังตลาดอาเซียน

สำหรับเหตุผลที่ไปตลาดอาเซียน เนื่องจากเรามีธุรกิจในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เราคิดว่าเราจะนำองค์ความรู้ที่ทำได้ดีในเมืองไทยไปขยายผลที่นั่นได้เลย อีกทั้งยังเตรียมเงินลงทุนอีกราว 3 พันล้านบาท โดยเน้นไปที่เรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มเติม เช่น อาจจะเป็นระบบแบตเตอรี่ ที่นำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าและแปลงเป็นความร้อน โดยส่วนนี้เหมาะสำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไป”

12/2/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 12 กุมภาพันธ์ 2566 )

Youtube Channel