การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจต้องมูฟไป ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ถึงการเดินหน้ากลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อขยายพอร์ตพลังงานสีเขียวและต่อยอดนวัตกรรมพลังงานในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่บ้านปูก้าวเข้าสู่ปีที่ 40
ลงทุน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
หลังจากที่กลยุทธ์ Greener & Smarter ช่วยให้บ้านปูสามารถทำรายได้ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์มาแล้วในปี 2565 ถึง 272,270 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากปี 2564
ในปี 2566-2568 บ้านปูยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน
ในส่วนกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ปัจจุบันบ้านปูลงทุนในธุรกิจเหมืองอยู่แล้ว ซึ่งในปีนี้ยังคงเพิ่มโอกาสและมองหาแหล่งแร่ใหม่ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูงอย่างแร่แห่งอนาคต (Strategic Minerals)
ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะต้องหาโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่และพัฒนาโครงการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเราเองก็เป็นผู้นำในการผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว ทั้งหมดเพื่อจะก้าวสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2568
ต่อมาคือธุรกิจผลิตไฟฟ้า ต้องเพิ่มมูลค่าและรักษาประสิทธิภาพการผลิตในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้สามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง เน้นการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐ การซื้อขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี มองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(HELE) และแสวงหาโอกาสลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
สุดท้าย คือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพ เสริมสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดในพอร์ตธุรกิจนี้ ล่าสุดเดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด 70 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโอกาสในธุรกิจแบตเตอรี่
แบ่งการลงทุนไว้ 2 ส่วน
3 กลุ่มธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31,500 ล้านบาท ซึ่งตามแผนการลงทุนปี 2566-2568 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดสัดส่วน 60% ลงทุน Gas-based ในสหรัฐ อีก 40% ควบคู่ไปกับการเน้นบริหารจัดการต้นทุนให้มีความยืดหยุ่น ที่ยังคงทำต่อในปีนี้
เราต้องรับความผันผวนในตลาดที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านราคา ด้วยปัจจัยภายนอกอาจสะท้อนหลายอย่าง มีทั้งภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอน มีผลต่อการลงทุนในอนาคต
ยอดขายถ่านหิน 42 ล้านตัน
ขณะที่ธุรกิจเหมือง การผลิตถ่านหินในออสเตรเลียตั้งเป้าหมายผลิต 9.1 ล้านตัน อินโดนีเซีย 16.6-17 ล้านตัน และในจีน 10.8 ล้านตันในปีนี้
โดยคาดว่ายอดขายปีนี้จะอยู่ที่ 42 ล้านตัน เพราะอาจได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/2566 ที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาถ่านหิน แต่ต้องดูสถานการณ์สต๊อกถ่านหินโลกที่ยังคงมีเหลือจากปีก่อน เพราะปีก่อนไม่หนาวมาก และอีกด้านคือต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น เราจึงต้องปรับปรุงออกแบบเหมือง และควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ดีล 2 โรงไฟฟ้า
ส่วนธุรกิจไฟฟ้าปีนี้ มีที่อยู่ระหว่างศึกษาโครงการในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม นอกจากนี้เราอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่ม 2 โครงการ จะมีโครงการหนึ่งที่กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ส่วนความคืบหน้าการซื้อขายไฟให้รายย่อยในรัฐเทกซัสจะเริ่มเห็นความชัดเจนในไตรมาส 2/2566 เป้าหมายปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้เพิ่มขึ้นตามที่วางไว้ 5,000 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ 4,264 เมกะวัตต์
บ้านปูเน็กซ์วางเป้าหมายว่า ปี 2568 จะมีธุรกิจ Solar Rooftops & Floating ที่ 500 เมกะวัตต์ ส่วนแบตเตอรี่และโซลูชั่นกักเก็บพลังงาน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ Li-ion เพิ่มจาก 1 เป็น 3 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ส่วนเมืองอัจฉริยะ (SMART CITES & ENERGY MGMT) จะมี 30 โครงการ และธุรกิจการซื้อขายไฟมีเป้าหมายที่ 2,000 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง
5/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 มีนาคม 2566 )