สยามแม็คโคร กางแผนลุยค้าส่ง-ค้าปลีก ไม่ยั้ง ประกาศทุ่ม 2.5-2.7 หมื่นล้าน ปูพรมสาขา แม็คโคร-โลตัส ไทย-ต่างประเทศ แจงเหตุผลเปลี่ยนชื่อใหม่ มุ่งย้ำไดเร็กชั่นธุรกิจ-ก้าวสู่โกลบอลเพลเยอร์เต็มตัว ยึดทำเลทองเลียบคลอง 2 เปิดแม็คโครคู่โลตัส ทดสอบตลาดเจาะ B2B-B2C พร้อมซุ่มศึกษาใช้ประโยชน์พื้นที่เปิดโมเดลใหม่ 2 in 1 ค้าปลีก ค้าส่ง ในพื้นที่เดียวกัน
นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสายงานบัญชีและการเงิน ร่วมกับนางภัทรวัลล์ สุกปลั่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจค้าส่ง แม็คโคร และธุรกิจค้าปลีก โลตัส เปิดเผยในงาน Opportunity Day (9 มี.ค. 2566) ว่า ปีนี้บริษัทจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 25,300-27,500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขา แบ่งเป็น ธุรกิจค้าส่ง แม็คโคร 13,100-14,100 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาในประเทศไทยเพิ่มประมาณ 12 สาขา อาทิ ฟู้ดเซอร์วิส 8 สาขา
ล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพิ่งเปิดที่สนามบินน้ำ และอีโค พลัส หรือคลาสสิก อีก 4 สาขา ส่วนต่างประเทศจะมีการขยายสาขาในประเทศที่บริษัทได้ลงทุนอยู่แล้ว ทั้งอินเดีย จีน เมียนมา และกัมพูชา รวมกันประมาณ 4-6 สาขา และธุรกิจค้าปลีก โลตัส 12,200-13,400 ล้านบาท เพื่อเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 3-4 สาขา ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 2 สาขา (ไอซีเอส ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ และ อ.สีคิ้ว นครราชสีมา) ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในไทยและมาเลเซียรวม 10-14 สาขา และโลตัส โก เฟรช ที่เป็นสมอลล์ฟอร์แมต 100-150 สาขา
เพิ่มน้ำหนักรุกขายออนไลน์
นางเสาวลักษณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีแผนจะลงทุนเพื่อปรับปรุงเรื่องการส่งสินค้าถึงร้านลูกค้า ซึ่งตอนนี้ยอดขายของธุรกิจออนไลน์ต่อยอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 10% แต่ปัจจุบันดีมานด์ของบริการดีลิเวอรี่ หรือออร์เดอร์ผ่านแม็คโครโปร หรือโลตัสแอป ค่อนข้างสูงมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องเพิ่มกำลังและความสามารถในการส่ง โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเห็นตัวเลขของยอดขายออนไลน์อยู่ประมาณ 15-20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ที่ผ่านมาแม้ธุรกิจค้าส่งจะมีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจาก แม็คโคร มีการขายนอกร้าน มีการขายผ่านออนไลน์ แต่บริษัทมีแผนจะมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยเน้นเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งรองรับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าแม็คโครส่วนหนึ่งก็เริ่มมีอายุขึ้น และอาจจะไม่สะดวกสบายในการเดินทางไปที่สาขา
เราพยายามจะตอบสนองและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านคอมพิวเตอร์ และมีการลงทุนในเรื่องของการส่งของไปถึงร้านค้า การส่งของก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องของค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าคน แต่เราก็ไม่หยุดที่จะศึกษาว่าจะทำให้ใช้ค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างก็ตาม สำหรับปีนี้บริษัทต้องการจะผลักดันยอดขายธุรกิจค้าส่งให้เติบโตเป็นดับเบิลดิจิต หรือมากกว่า 10% ขึ้นไป ส่วนธุรกิจค้าปลีกแม้อาจจะเติบโตได้ไม่เท่าธุรกิจค้าส่ง เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกก็จะเติบโตตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นหลัก จึงตั้งเป้าการเติบโตไว้เพียง 4% ขณะเดียวกันก็จะมุ่งไปที่การพัฒนาความสามารถในเรื่องการใช้พื้นที่ในมอลล์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ.ที่ผ่านมา การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same Store Sales Growth&SSSG) ยังมีการเติบโตที่ดี โดยในส่วนของธุรกิจค้าส่งหรือ แม็คโคร ยังเติบโตเป็นดับเบิลดิจิต ขณะที่ธุรกิจรีเทล หรือโลตัส การเติบโตยังเป็นซิงเกิลดิจิต และในช่วงเดือน มี.ค. ในภาพรวมก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตดีขึ้น
ซุ่มศึกษาโมเดลใหม่ 2 in 1
นางเสาวลักษณ์ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก สยามแม็คโคร เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT (กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 วันที่ 20 เม.ย. 2566) โดยย้ำว่า เนื่องจากตัวแม็คโคร บริษัทไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการขายในประเทศไทยเท่านั้น แต่มุ่งที่จะเป็นผู้เล่นในเอเชียด้วย เพราะฉะนั้นพอไปในชื่อของแม็คโคร ก็ทำให้ลูกค้าในต่างประเทศเข้าใจว่า สยามแม็คโครเป็นธุรกิจค้าส่งอย่างเดียว และอีกอันหนึ่งก็คือว่า ชื่อของแม็คโคร ไปได้ไม่ทุกประเทศในเอเชีย จึงมีการหารือกันว่า ถ้าจะเป็นโกลบอลเพลเยอร์เป็นบริษัทที่อยู่ในระดับนานาชาติ ก็อาจจะต้องส่ง messages ดังกล่าวออกไป และควรจะเป็นชื่อที่สามารถจะบอกถึงไดเร็กชั่นของธุรกิจว่า บริษัทไม่ได้ทำเฉพาะธุรกิจค้าส่ง แต่ยังทำธุรกิจค้าปลีกด้วย
ขณะเดียวกัน เนื่องจากกลุ่ม CP เองก็มีความชำนาญหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทก็พยายามที่จะใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์เข้ามาพัฒนาในพื้นที่ของทั้งแม็คโครและโลตัสด้วย โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองโมเดลใหม่ ด้วยการเปิด โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก นอกจากนี้ยังได้ทดลองเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต พรีเมี่ยม Lotuss Priv? ก็ได้รับการตอบรับดีเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกที่หนึ่งที่ยังไม่เคยเปิดตัว คือ การเปิดสาขาใหม่ของโลตัส ที่เลียบคลอง 2 ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีร้านค้าเช่ามากขึ้น ขณะที่แม็คโครก็ไปเปิดติด ๆ กัน ห่างกันแค่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งการเปิดของทั้งโลตัสและแม็คโครดังกล่าวเป็นการตอบสนองความสะดวกสบายให้กับกลุ่มลูกค้า ทั้งลูกค้าที่เป็น B2B และลูกค้า B2C ซึ่งทั้งสองร้านก็ได้รับการตอบรับที่ดี ผลประกอบการดีกว่าเป้าหมาย และมองว่าถ้ารูปแบบนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม
เราอาจจะมองไปถึงในแง่ของประโยชน์ใช้สอยในสาขา ไม่ว่าจะเป็นแม็คโคร หรือโลตัส เรามีพื้นที่ มีที่ดิน ของตัวเองเยอะ อาจจะพัฒนาเป็นทั้งรูปแบบค้าปลีก ค้าส่ง อยู่ในอาคารเดียวกันได้หรือไม่ กำลังศึกษาอยู่ ขณะเดียวกันในกลุ่มนี้ก็จะมีเรื่องมิกซ์ยูส ซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่ว่าถ้าองค์ประกอบ 3 อย่าง มาอยู่ในพื้นที่ของแม็คโคร และโลตัส เราจะสร้าง value เพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นมากขนาดไหน อันนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการศึกษาอยู่
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท สยามแม็คโคร มีสาขาเครือข่ายมากถึง 2,805 สาขา แบ่งเป็น แม็คโคร 162 สาขา และโลตัส 2,643 สาขา มีพื้นที่รวมมากกว่า 2.67 ล้าน ตร.ม. และมีพื้นที่เช่ารวมมากกว่า 1 ล้าน ตร.ม. ตอนนี้บริษัทประกอบธุรกิจในเอเชียมากกว่า 9 ประเทศ มีกลุ่มลูกค้ารวมทั้งกลุ่มแม็คโครและโลตัส รวมกันกว่า 30 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีแผนจะสร้างการเติบโต ทั้งสินค้าประเภท private labels และ fresh food
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา แม็คโครได้เปิดไป 14 สาขา เป็นประเทศไทย 11 สาขา และต่างประเทศอีก 3 สาขา ส่วนโลตัสเปิดไป 92 สาขา และปีที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 447,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 188,552 ล้านบาท หรือ 72.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าเช่าและรายได้จากการให้บริการศูนย์การค้า 13,477 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการ 5,422 ล้านบาท และรายได้อื่น 3,050 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 21,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 14,212 ล้านบาท หรือ 183.7% และมีกำไรสุทธิ 7,697 ล้านบาท ลดลง 5,990 ล้านบาท ลดลง 43.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รวมกำไรทางบัญชีจากการรวมธุรกิจแบบขั้นที่เกิดจากการรวมธุรกิจค้าปลีกเข้ามาเมื่อตุลาคม 2564 หากไม่รวมรายการดังกล่าว กำไรสุทธิของบริษัทและบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อน ประกอบด้วยกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 7,074 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก 623 ล้านบาท
16/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 มีนาคม 2566 )