info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.140.195.140

“ไมเนอร์” เร่งปั๊มพอร์ต ปักหมุดเพิ่ม 65 โรงแรมภายในปี 2568

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

ยังเดินหน้าขยายโรงแรมภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดีสำหรับกลุ่ม “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ที่เป็นทั้งเจ้าของ ผู้บริหาร และนักลงทุน โดยปัจจุบันมีโรงแรมกว่า 530 แห่งใน 56 ประเทศทั่วโลก

ภายใต้แบรนด์ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช โฮเทลส์, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, นาว, เอเลวาน่า, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์. เซ็นต์ รีจิส และเรดิสัน บูล

“ดิลิป ราชากาเรีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ให้สัมภาษณ์ถึงผลประกอบการ และแนวทางการขยายธุรกิจโรงแรม ดังนี้

“ดิลิป” บอกว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีโรงแรมอยู่ในเครือทั้งสิ้น 530 แห่ง ใน 56 ประเทศ มีห้องพักจำนวนรวมกว่า 76,000 ห้อง โดยมีแบรนด์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เช่น อนันตรา nh Hotels และมีแผนขยายโรงแรมในช่วงปี 2566-2568 จำนวน 65 แห่ง หรือมากกว่า 13,000 ห้องพักทั่วโลก

ในจำนวนนี้ “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ทำการลงทุนเอง 7 แห่ง และรับบริหาร 58 แห่ง จากแผนดังกล่าวนี้เป็นการเข้าทำตลาดในประเทศใหม่ 3 ประเทศ คือ บาห์เรน เปรู อียิปต์

“อัตราการขยายตัวของโรงแรมสูงกว่าก่อนโควิด-19 เนื่องจากมีโรงแรม nh เข้ามาอยู่ในเครือ”

สำหรับประเทศไทย “ไมเนอร์ โฮเทลส์” เตรียมเปิดโรงแรมอนันตรา เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ และโรงแรมเอ็นเอช คอลเลคชั่น เชียงใหม่ ปิง ริเวอร์ (NH Collection Chiang Mai Ping River) ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567

ผนึกพันธมิตรจีน-ตะวันออกกลาง

ส่วนโรงแรมในต่างประเทศ บริษัทได้เซ็นสัญญากิจการร่วมค้ากับฟันยาร์ด โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท (Funyard Hotels Resorts) จากประเทศจีน ทำให้ปัจจุบันมีการเปิดโรงแรมภายใต้แบรนด์ เช่น nh Hotels, Oaks ในประเทศจีน แล้วจำนวน 8-9 แห่ง และมีโรงแรมอีก 30 แห่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาในอนาคต โดยกลุ่มฟันยาร์ดคาดหวังว่าในเวลา 5 ปีข้างหน้าจะขยายเป็น 100 แห่ง

“การร่วมมือกับฟันยาร์ดถือเป็นก้าวสำคัญของเรา ไมเนอร์ฯสามารถขยายแบรนด์ต่าง ๆ ไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกทั้งทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนคุ้นเคยกับแบรนด์มากขึ้น และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังโรงแรมในเครือ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังต่างประเทศ”

นอกจากนี้ ไมเนอร์ โฮเทลส์ ยังได้เซ็นสัญญากิจการร่วมค้าร่วมกับ Abu Dhabi Fund for Development (ADFD) ในการขยายโรงแรมหลายแห่ง มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น nh COLLECTION MALDIVES ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ลงนามทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกองทุนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนาโรงแรมระดับไฮเอนด์ด้วย

“ดิลิป” บอกด้วยว่า ไมเนอร์ฯเข้าซื้อกิจการ The Wolseley Hospitality Group ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารชั้นนำในลอนดอน มูลค่า 74 ล้านปอนด์ และได้นำร้าน Cafe Wolseley เปิดตัวในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และในอนาคตเตรียมขยายร้านในเครือไปยังนิวยอร์ก ดูไบ เซี่ยงไฮ้

ยึดเติบโตอย่างมั่นคง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไมเนอร์ บอกอีกว่า ไมเนอร์ โฮเทลส์ ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “Asset Right” เน้นรักษาสมดุลการเพิ่มรายได้และการทำกำไร ระหว่างรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่ลงทุนเอง (Asset Heavy) และรายได้จากการรับบริหารโรงแรม (Asset Light)

โดยหนึ่งในแผนดังกล่าวคือ การนำแบรนด์ที่โดดเด่นจากแต่ละพื้นที่ไปเติบโตในตลาดใหม่ ๆ เช่น นำแบรนด์โรงแรมเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ซึ่งมีชื่อเสียงและโด่งดังในยุโรป ให้มาเติบโตในเอเชียและตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน นำแบรนด์โรงแรมอนันตรา เป็นแบรนด์ดั้งเดิมของเครือไมเนอร์ที่มีชื่อเสียงในเอเชีย ไปบุกตลาดยุโรป

พร้อมกันนี้ ยังรักษาระดับรายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไตรมาส 1/2566 พบว่า อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 71% รายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) อยู่ที่ 8,353 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนการระบาดโควิด-19 ที่ 14% ส่วนรายได้ห้องพักเฉลี่ยของห้องพักที่เปิดขายทั้งหมด (RevPAR) อยู่ที่ 5,903 บาท ต่ำกว่าไตรมาส 1/2562 เพียง 1%

ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 1/2566 กลุ่มไมเนอร์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 647 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 82% หากจำแนกรายได้ธุรกิจโรงแรมแต่ละภูมิภาคพบว่า รายได้มีสัดส่วนมาจากประเทศไทย 16% และต่างประเทศ 84%

ส่วนการเติบโตของรายได้ พบว่า ประเทศไทยมีรายได้เติบโตขึ้น 213% ยุโรป 77% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 22% มัลดีฟส์และตะวันออกกลาง 3% และทวีปอเมริกา 30%

ขณะที่เดือนเมษายน 2566 พบว่า รายได้ห้องพักเฉลี่ยของห้องพักที่เปิดขายทั้งหมด (RevPAR) อยู่ที่ 5,180 บาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกัน 8%

ดีมานด์ยังเพียบ

“ดิลิป” ยังประเมินด้วยว่า ในปี 2566 อัตราการเข้าพักในตลาดการท่องเที่ยวยุโรปจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด-19 จากกิจกรรมของภาคธุรกิจ และดีมานด์ในกลุ่มประเทศยุโรปกลางเติบโตขึ้น

ขณะที่ในประเทศไทย สายการบินเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชื่อมโยงต่างประเทศมากขึ้น ทำให้อัตราการจองปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยประเมินว่าไตรมาสที่ 2 นี้ ความต้องการออกเดินทางยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ขณะที่ไตรมาส 3-4 ของปีนี้ มองว่าดีมานด์ยังคงแข็งแกร่งเช่นกัน ความต้องการออกเดินทางยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนจะออกเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น

“แม้นักท่องเที่ยวในทวีปยุโรปต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ราคาบัตรโดยสารสายการบินอยู่ในระดับสูง แต่กลุ่มดังกล่าวยังออกเดินทาง โดยกลุ่มครอบครัวขนาดใหญ่อาจเดินทางในทวีปยุโรปเอง สำหรับไทยพบว่าความนักท่องเที่ยวจากแถบตะวันออกกลาง อินเดีย รัสเซีย จีนยังมีดีมานด์สูง”

และมองด้วยว่า ความท้าทายของครึ่งหลังของปี 2566 คือ สถานการณ์เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย สงคราม รวมถึงปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งในประเทศไทยอยู่ระหว่างการกลับสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับในทวีปยุโรป

“ดิลิป” ทิ้งท้ายด้วยว่า การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะให้ความสำคัญกับภาคท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้ทั้งธุรกิจทางตรงและทางอ้อม คิดเป็นสัดส่วน 20% ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางที่ไร้รอยต่อ

3/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 3 มิถุนายน 2566 )

Youtube Channel