info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.85.233

“บางกอก เวิลด์” จิ๊กซอว์ใหม่ หนุน “สวนสยาม” ดึงนักท่องเที่ยว

Recreation News / ข่าวหมวดสถานนันทนาการ

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 43 แล้วสำหรับ Siam Amazing Park หรือ “สวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ” ภายใต้การนำทัพของ ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ที่ผ่านวิกฤตมาครั้งแล้วครั้งเล่า และทำทุกอย่างเพื่อให้สวนสนุก-สวนน้ำแห่งนี้ยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งขายที่ดิน ขายสินทรัพย์ที่มี จนถึงยอมให้ธนาคารฟ้องล้มละลาย

กระทั่งวันนี้ “Siam Amazing Park” เดินมาถึงจุดยุติภาวะขาดทุนและช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว และล่าสุดได้ลงทุนในโครงการ “บางกอก เวิลด์” และจัดตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือสังคมและคนรุ่นต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ประธานบริษัทสยามพาร์คซิตี้ จำกัด ผู้สร้างอาณาจักรสวนสนุกและสวนน้ำ “สวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ” หรือ Siam Amazing Park ถึงแนวคิดและทิศทางการบริหารหลังจากเปิดให้บริการโครงการ “บางกอก เวิลด์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ไว้ดังนี้

“ไชยวัฒน์” บอกว่า โครงการ “บางกอก เวิลด์” หรือ Bangkok World ใช้เงินลงทุนไปถึง 3,000 ล้านบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ย้อนบรรยากาศวันวาน รวมสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาคารสวยงามสมัยรัชกาลที่ 5 และแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ

อาทิ อาคารเฉลิมกรุง อาคารเฉลิมไทย อาคารแบดแมนแอนด์โก อาคาร บี. กริม แอนด์โก ตลาดสำเพ็ง ประตูสามยอด เสาชิงช้า ฯลฯ รวมถึง SMEs Market แหล่งจำหน่ายสินค้าโอท็อป ตลาดน้ำ และตลาดนัดกลางคืน เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้ตั้งอยู่บนที่ดินจำนวน 70 ไร่ บริเวณด้านหน้าและเป็นทางเข้า “สวนสยาม”

“ไชยวัฒน์” บอกด้วยว่า โครงการใหม่นี้จะสอดคล้องกับสวนสยามเดิม โดยชื่อ “สวนสยาม” นั้นหมายถึงประเทศไทย ส่วนโครงการใหม่คือ “บางกอก เวิลด์” หมายถึง ที่ทำการของสยาม เป็นหัวใจของประเทศไทย

“อยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทยมาเที่ยวกรุงเทพฯ และมาเที่ยวที่นี่ เพราะสถานที่แห่งนี้เราได้รวมแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ และรวมวัฒนธรรม แหล่งช็อปปิ้ง ท่องเที่ยว และอาหาร ของหลายชาติ หลายศาสนา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่รุ่นปู่-ย่า ตา-ยาย และพ่อ-แม่ ของเขาได้เล่าให้ฟังเมื่อครั้งมาเที่ยวเมืองไทย หากมาตามรอยและหาสถานที่พวกนี้ไม่เจอให้มาที่บางกอกเวิลด์ เขาจะได้พบเจอทุกเรื่องราวในอดีตของกรุงเทพฯ”

เมื่อถามว่า ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ตัดสินใจลงทุนสูงถึง 3,000 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคืออะไร “ไชยวัฒน์” บอกว่า นี่คือจังหวะและโอกาสของเขา โดยมองว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องของเศรษฐกิจประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไหร่ ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตมากขึ้นเท่านั้น

“ที่ผ่านมาคนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงินใช้จ่าย แต่เรามองว่าถ้าเราหยุดสร้างเท่ากับเราทำให้เศรษฐกิจมันแย่ลง เราเลือกที่จะทำให้คนมีงานทำ คนมีที่ค้าขาย และยังได้ช่วยเอสเอ็มอีทั่วประเทศด้วย”

พร้อมย้ำว่า “บางกอก เวิลด์” เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของเขาที่ได้ทำสิ่งนี้

และก็คาดหวังว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย โดยมีแผนทำการตลาดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และร่วมกับบริษัทนำเที่ยว เพื่อให้บรรจุโปรแกรม “สวนสยาม” และ “บางกอกเวิลด์” ไว้ในรายการนำเที่ยว โดยได้จัดห้องรับรองสำหรับไกด์นำเที่ยวโดยเฉพาะด้วย

“ไชยวัฒน์” บอกอีกว่า เชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วโครงการ “บางกอก เวิลด์” จะเอื้อกับธุรกิจท่องเที่ยวของ “สวนสยาม” ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมและเป็นธุรกิจหลักของตระกูล “เหลืองอมรเลิศ” ตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา โดยคนที่มาเที่ยวที่บางกอกเวิลด์ก็จะมีคนที่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อเข้าไปเที่ยวสวนน้ำและสวนสนุกด้วย

“พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมเข้ามาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมต้องลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยอาคารแต่ละหลังมีอายุหลายร้อยปีทั้งนั้น และคนที่สร้างก็เป็นชาติที่เจริญมาสร้างในสมัยร้อยปีที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นแม็กเนตเพิ่มเติมจากสวนน้ำ-สวนสนุก ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

โดยมีเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1% จากเป้านักท่องเที่ยวปี 2566 ที่จำนวน 30 ล้านคน หรือประมาณ 3 ล้านคน และคาดหวังว่าในจำนวน 3 ล้านคนที่เข้ามาเที่ยวโครงการ “บางกอก เวิลด์” นี้จะเข้าไปเที่ยวในสวนสนุกและสวนน้ำอีก 1% หรือประมาณ 3 แสนคน

“ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ใครที่ผ่านปีนี้ไปได้ทุกคนจะแข็งแรงหมด”

“ไชยวัฒน์” ยังบอกอีกว่า นอกจากโครงการ “บางกอก เวิลด์” แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เขาตั้งใจทำคือ การสร้างมูลนิธิ ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ (เฮี้ยงเม่งตั้ว) ปัจจุบันจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหลานจารึกถึงบรรพบุรุษของเราที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทั่งลูกหลานมีอยู่มีกิน สิ่งที่เหลือกินและเหลือใช้จะนำไปช่วยเหลือผู้อื่น

โดยเบื้องต้นมีแผนนำกำไรส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือด้านการศึกษา เนื่องจากตัวเองเรียนน้อย จบการศึกษาแค่ ป.4 แต่โตมาจากการเรียนรู้เอง ทำเอง ซึ่งยุคนี้การจบแค่ ป.4 ไม่มีโอกาสที่จะเติบโตได้เลย ดังนั้น จึงอยากช่วยด้านการศึกษาเป็นเรื่องแรก ทั้งด้านให้ทุนการศึกษา ช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การศึกษา เสื้อผ้า ฯลฯ

“ผมตั้งใจส่งจดหมายไปทั้ง 77 จังหวัดว่า ในแต่ละจังหวัดมีโรงเรียนไหนบ้างที่ขาดแคลน ให้ส่งเรื่องมาที่มูลนิธิได้ กรรมการจะพิจารณางานการเงินของมูลนิธิ ว่าควรไปช่วยเหลือที่ไหนก่อน และคาดว่าจะให้การช่วยเหลือได้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศภายใน 3 ปีนับจากนี้”

พร้อมทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้เป็นการวางรากฐานไว้ให้รุ่นลูกและรุ่นหลานเดินต่อในแนวทางที่ถูกที่ควร เพราะปีนี้คนชื่อ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” อายุ 85 ปีแล้ว…

1/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 มิถุนายน 2566 )

Youtube Channel