การดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จนนำมาซึ่งความเสี่ยง และโอกาส ผลเช่นนี้ จึงทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้อยู่รอด และเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นที่ทุกธุรกิจทั่วโลกต้องบูรณาการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมตามบริบทของแต่ละองค์กร
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยในรูปแบบ Retail-led mixed use ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่เพิ่งประกาศว่า
ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2566-2570 จะขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนตามเป้าหมาย NET Zero 2050 ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน โดยตั้งงบลงทุนด้านนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินให้ครอบคลุมทั้งมิติ People และ Planet พร้อม Green Initiatives ใหม่ ๆ
นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัลพัฒนามุ่งเป็น The Ecosystem for All หรือระบบที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนที่สร้างความเติบโตให้กับทุกฝ่าย เป้าหมายสำคัญคือ Better Futures ต้องการสร้างอนาคตของการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ ecosystem ของเรายั่งยืนคือการเป็น Place Making ผ่านการพัฒนาพื้นที่โครงการต่าง ๆ ซึ่งทุกการพัฒนาโครงการของเราจะพยายามเชื่อมโยงการใช้ชีวิตของคนให้มากที่สุด และในแผนธุรกิจ 5 ปี เราตั้งงบฯลงทุนด้านความยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
ดังนั้น หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อนนับตั้งแต่ตอนเริ่มดำเนินธุรกิจ เราทำเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว เพียงแต่คำว่ายั่งยืนตอนนั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และการดำเนินการอาจยังไม่เข้มข้นเหมือนยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า
ในช่วง 10 ปีหลัง เราค่อนข้างตระหนัก และนำกลยุทธ์ Environment, Social, และ Governance หรือ ESG เข้ามาใช้ ดิฉันมองว่าการที่ธุรกิจเราจะยั่งยืนนั้น ต้องทำให้เกิดผลกระทบในทุกมิติ และดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่พนักงาน ชุมชน สังคม ตลอดจนความใกล้ชิดกับ stakeholders
ทั้งนี้ ในส่วนของการร่วมมือกับ stakeholders เซ็นทรัลพัฒนาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
หนึ่ง Consumers เราประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้คนเข้ามาใช้โครงการประมาณ 1.8 ล้านคนต่อวัน ฉะนั้น เราต้องดูแลคุณภาพชีวิตของทุกคน ตั้งแต่การออกแบบโครงการให้เป็น eco-friendly mall ยกระดับสู่โลว์คาร์บอนมอลล์ และสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
สอง Tenants หรือผู้เช่า เนื่องจากเราเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่ริเริ่ม Green Partnership จึงเตรียมผนึกกำลังกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ SCG ด้วยการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ร่วมกับร้านค้า และพันธมิตรทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ ตั้งเป้าไว้กว่า 100 รายที่จะดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน,
อีกส่วนสำคัญคือ Waste Management กับร้านค้าในโครงการของเรา ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท Food Passion เปิดร้านอาหารโลว์คาร์บอนแห่งแรกในไทยที่เซ็นทรัล วิลเลจ
สาม Non-Tenant Partners พันธมิตรอื่น ๆ นอกจากผู้เช่า ต่อยอดความสำเร็จในการเป็นอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกรายแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และเตรียมวางแผนออก Sustainability linked loan/bond ใหม่ประมาณ 10,000 ล้านบาท พร้อมกับติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกสาขารวมมากกว่า 400 ช่องจอด
นภารัตน์ กล่าวต่อว่า ในมิติด้านความยั่งยืน เซ็นทรัลพัฒนาวางแผนออกหุ้นกู้ และพันธบัตรที่เป็นกรีน (Sustainability linked loan/bond) ใหม่ วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยปี 2566 จะออกหุ้นกู้ วงเงินเบื้องต้น 5,000-6,000 ล้านบาทก่อน คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง หรือประมาณไตรมาส 3 นี้
สำหรับการออกหุ้นกู้และพันธบัตรที่เป็นกรีนครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทเป็นอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกรายแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) วงเงิน 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565 ทั้งยังได้รับผลตอบรับดีมาก อีกทั้งปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญนโยบายความยั่งยืนก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งก็อยู่ในแผนการที่จะดำเนินต่อไป
สี่ Community ชุมชนและสังคม แบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1) ด้าน Local Wealth จะส่งเสริมการจ้างงานท้องถิ่นจากการขยายโครงการครอบคลุมกว่า 30 จังหวัด ในอีก 5 ปี, มอบพื้นที่ตลาดจริงใจ ฟาร์เมอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้า 18 สาขา โดยตั้งเป้าสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรกว่า 38,000 ราย พร้อมสร้างรายได้คืนกลับสู่ชุมชน 139 ล้านบาท (ตัวเลขโดยประมาณปี 2565), เปิดพื้นที่ค้าขายให้ SMEs ปีละกว่า 100,000 ตารางเมตร เป็นต้น
2) ด้าน Well-Being จะมีโครงการใหม่ ๆ ที่เน้นเพิ่มพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียวในปี 2565 เพิ่มขึ้น 11% และเรายังคงเป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวกสถานที่ เช่น การฉีดวัคซีนโควิด และการบริจาคโลหิต
3) ด้าน Inclusivity ขับเคลื่อน Human Right ในองค์กร สนับสนุนความเท่าเทียม และโครงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น
นภารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับ Journey to NET Zero 2050 ของเซ็นทรัลพัฒนามีความก้าวหน้าต่อเนื่องตามแผนในด้านต่าง ๆ อาทิ Energy การใช้พลังงานสะอาด ติดตั้ง Solar Rooftop สำเร็จแล้ว 50% ของจำนวนศูนย์การค้าทั้งหมด คาดว่าจะครบ 100% ในปี 2567 นอกจากนี้ยังมีเรื่องลดการใช้น้ำ ใช้น้ำซ้ำ และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมติดตั้งระบบผลิตน้ำรีไซเคิล จำนวนรวม 19 โครงการ เป็นต้น
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เซ็นทรัลพัฒนาเป็นองค์กร Purpose-Driven และการขยายโครงการทั่วประเทศ ทำให้เราสร้าง impact ทั้งการ Drive Partnership และเข้าถึงภาคประชาชน โดยจากวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนขององค์กร
เราริเริ่มโครงการ และแคมเปญต่าง ๆ ให้เรื่อง Sustainability เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คน อย่างเช่นการจัดงานกรีนเอ็กซ์โป Better Futures Project ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 24-29 พฤษภาคมผ่านมา เราได้ออกแบบการเรียนรู้เป็น Experiential Space ทำให้คนเรียนรู้ ทดลอง และนำไปปรับใช้ได้จริง พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรจากหลากหลายวงการ
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลมีบทบาทชัดเจนทั้ง Educate-Enable-Engage ในการร่วมสร้าง Green Citizens หรือคนที่มี Eco-Conscious Lifestyle ผ่านการริเริ่ม Green Initiatives ต่าง ๆ ทั้งนี้ เรามีแผนเตรียมนำกรีนเอ็กซ์โป Better Futures Project ไปโรดโชว์ที่สาขาอื่น ๆ เช่น เซ็นทรัล พระราม 9 และพิษณุโลก, งานกรีนมาร์เก็ต Better Market
รวบรวมทั้งอาหาร สินค้าของตกแต่งบ้าน เตรียมจัดที่เซ็นทรัลเวิลด์, อีสต์วิลล์, พระราม 3 และเวสต์วิลล์, Wednesday ช็อปทุกพุธ หยุดโลกร้อน โดยจะเริ่มแคมเปญเซลกลางปี เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายไปพร้อม ๆ กับการรักษ์โลก เพราะเพียงแค่ช็อปปิ้งแบบรักษ์โลกครบตามเงื่อนไขที่ร้านร่วมรายการ ก็จะได้รับของที่ระลึก และสะสม e-Stamp ต่อเนื่องตลอดปี
ส่วนไตรมาส 4 เตรียมเปิดตัวศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ (Central WestVille) ศูนย์การค้าโลว์คาร์บอน ต้นแบบรักษ์โลกแห่งแรกในไทย โดยจะตั้งอยู่บริเวณย่านราชพฤกษ์ พื้นที่โครงการ 93,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ขนาด 40 ไร่ ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่ง (Outdoor) ในสัดส่วนประมาณ 30-40% และการจัดทำระบบที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมลดใช้พลังงาน ภายในมีร้านค้าชั้นนำกว่า 300 ร้าน คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนตุลาคม 2566 หรือภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
4/6/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 มิถุนายน 2566 )