AOT เปิดมหกรรมลงทุน 1 แสนล้านเพิ่มศักยภาพสนามบิน กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขยายสนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-เชียงใหม่ เต็มสูบ จ่อรับโอนเพิ่มอีก 3 แห่ง กระบี่-บุรีรัมย์-อุดร ปลายปีนี้ ตั้งเป้า 9 สนามบินในเครือรองรับผู้โดยสารได้ 220 ล้านคน พร้อมดันบริษัทลูกรับงานเพิ่ม เฟ้นนักลงทุนพัฒนา Airport City-เขตปลอดภาษี 723 ไร่ ยกเลิกสัมปทานผูกขาด ดันสุวรรณภูมิติด 1 ใน 30 สนามบินโลก
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ถึงแผนการบริหารงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังจากเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานที่ดี
โดยในแผนระยะสั้นจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแออัดในทุกขั้นตอนของการเดินทาง ตั้งแต่เคาน์เตอร์เช็กอิน การตรวจค้น ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไปจนถึงกระบวนการเข้าไปในพื้นที่สะพานเทียบเครื่อง และรอขึ้นเครื่อง
ใช้เทคโนโลยีลดแออัดสนามบิน
โดยนำคีออสก์ระบบเช็กอินและโหลดกระเป๋าเดินทางด้วยตัวเองมาให้บริการ เพื่อลดภาระของสายการบิน และทำให้ผู้โดยสารมีความจำเป็นที่จะไปรอคิวเคาน์เตอร์น้อยลง พร้อมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจค้น และเครื่องเอกซเรย์ในพื้นที่จุดตรวจค้นให้มีปริมาณมากเพียงพอกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร
รวมถึงการนำระบบ auto gate มาใช้เพื่อลดการต่อแถวบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองและแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่เพียงพอในบางช่วงเวลาด้วย
ผมตั้งเป้าสำหรับการเข้ามาเป็นผู้บริหารของ AOT ไว้ว่า ภายใน 6 เดือนแรกเราต้องลดระยะเวลาผ่านกระบวนการเดินทางลง กล่าวคือตั้งแต่กระบวนการเช็กอิน ตรวจค้น และผ่านด่าน ตม. จะต้องไม่เกิน 30 นาทีสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศ และไม่เกิน 50 นาทีสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
อันนี้เป็นเป้าที่ผมมอบให้ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง เพื่อให้คนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว ที่สำคัญ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องความแออัดในการใช้บริการได้ ภาพลักษณ์การให้บริการของสนามบินเราก็จะดีขึ้นด้วย ดร.กีรติกล่าว
และว่า หากดูสถิติปริมาณผู้โดยสารที่ผ่านมาเทียบกับปี 2562 พบว่าปัจจุบันผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาแล้วเกือบ 100% ทำให้ปัญหาที่เรื่องผู้โดยสารมากกว่าขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานเคยมีในอดีตเริ่มกลับมา ขณะที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นกลับมาอยู่ในระดับ 70% ซึ่งใกล้เข้าสู่จุดที่เป็นขีดความสามารถในการให้บริการของ AOT แล้วเช่นกัน
ลงทุนเพิ่มกว่า 1 แสนล้าน
ดร.กีรติกล่าวด้วยว่า สำหรับแผนระยะยาวนั้นจะเป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อขยายท่าอากาศยาน และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานแต่ละแห่งให้สอดรับกับแนวโน้มของปริมาณผู้โดยสาร โดยส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติงบฯลงทุนจากคณะกรรมการ AOT ในการดำเนินการแล้วรวมกว่า 1 แสนล้านบาท
โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลัก บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) มูลค่าลงทุน 39,000 ล้านบาท มีพื้นที่รวมประมาณ 200,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน (หลังเดิมรองรับได้ 45 ล้านคน) ซึ่งมีกำหนดเปิดทดลองให้บริการในเดือนกันยายนนี้ และเปิดบริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566
และเตรียมพัฒนาโครงการ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) มูลค่าลงทุน 7,830 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2567 แล้วเสร็จประมาณปี 2570
3.6 หมื่นล้านผุด T3 ดอนเมือง
นอกจากนี้ ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต เชียงราย และหาดใหญ่ (สงขลา) บริษัทก็มีโครงการขยายท่าอากาศยานและขยายอาคารผู้โดยสารเพื่อที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารในอนาคตด้วยเช่นกัน
กล่าวคือ ท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัทมีแผนจะขยายให้เป็นท่าอากาศยานสำหรับเที่ยวบินที่เป็นการให้บริการแบบจุดต่อจุด (point to point) ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและต่างประเทศ จากเดิมที่เป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ และมีแผนสร้างอาคารหลังใหม่ เรียกว่าเทอร์มินอล 3 (T3) รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20 ล้านคนต่อปี
พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (T1) และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (T2) ให้รวมกัน เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 30 ล้านคนต่อปี โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าลงทุนรวม 36,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดประมูลในช่วงปลายปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
เมื่อเสร็จทั้งหมด ท่าอากาศยานดอนเมืองจะรองรับผู้โดยสารได้ 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะสอดรับกับรันเวย์ที่มีอยู่ 2 รันเวย์ และรองรับได้ประมาณ 50 ล้านคนต่อปีเช่นกัน ดร.กีรติกล่าว
ภูเก็ตขยายรับอีก 6 ล้านคน
ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น บริษัทจะเน้นลงทุนเพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้ได้ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศรองรับผู้โดยสาร 6 ล้านคน
แต่หลังจากเปิดให้บริการได้เพียง 4-5 ปี พบว่าจำนวนผู้โดยสารเต็มขีดความสามารถในการรองรับแล้ว ขณะที่อาคารภายในประเทศก็รองรับได้ 6 ล้านคน
บริษัทจึงมีแผนขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มูลค่าลงทุนประมาณ 5,700 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้อีก 6 ล้านคนต่อปี ทำให้ศักยภาพรวมของภูเก็ตรองรับผู้โดยสารได้รวม 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะไปสอดรับกับศักยภาพของรันเวย์ที่มีอยู่เช่นกัน
สร้างอาคารอินเตอร์ เชียงใหม่
ดร.กีรติกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่นั้น ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 18-20 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารภายในประเทศ บริษัทจึงเตรียมก่อสร้างพื้นที่รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ รองรับผู้โดยสาร 6 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาดำเนินการและประเมินมูลค่าโครงการ แต่คาดว่ามูลค่าลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567
จากนั้นจะนำอาคารผู้โดยสารเดิมที่รองรับผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมารวมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อให้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศอย่างเดียวที่ประมาณ 12 ล้านคนต่อปี
ส่วนท่าอากาศยานหาดใหญ่และเชียงรายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพของการบริหารเป็นหลัก เนื่องจากทั้ง 2 แห่งนี้อัตราการเติบโตของความต้องการด้านการบินไม่มาก
แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพในการให้บริการในบางชั่วโมงที่ผู้โดยสารมีความหนาแน่น ดังนั้นในปี 2567 นี้เราจะทำเรื่องการสร้างพื้นที่ในการให้บริการเพิ่มเติม เช่น ปรับปรุงห้องโถงพักคอยผู้โดยสารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น ดร.กีรติกล่าว
รับมอบ 3 สนามบิน ปลายปีนี้
ดร.กีรติยังกล่าวอีกว่า สำหรับ 3 ท่าอากาศยานที่บริษัทมีแผนรับมอบจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาบริหารงาน ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์นั้น
ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการที่กรมท่าอากาศยานกำลังดำเนินการขอใบอนุญาตให้บริการสนามบินสาธารณะ จากนั้นประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน บริษัทจะขอมติ ครม.อีกครั้ง เพื่อรับโอนทั้ง 3 ท่าอากาศยานดังกล่าวเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของ AOT ซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้
และเพื่อให้ท่าอากาศยาน 3 แห่งนี้สามารถดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกับอีก 6 ท่าอากาศยานของ AOT ในเบื้องต้นบริษัทประเมินงบฯลงทุนเพิ่มเติมไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท
โดยส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี และบุรีรัมย์ ถือเป็นการเปิดประตูสำหรับการให้บริการผู้โดยสารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทไม่มีท่าอากาศยานในภาคอีสาน
ขณะที่มีผู้โดยสารที่เดินทางจากยุโรปจำนวนหนึ่งมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดในภาคอีสาน ดังนั้นหากท่าอากาศยานอุดรธานี และบุรีรัมย์ เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลเกตเวย์ ก็จะทำให้มีไฟลต์บินตรงจากยุโรปสู่จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกและมีดีมานด์เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่จะเป็นตัวช่วยบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งเป็นโมเดลที่เรียกว่า Sister Airport หรือ สนามบินคู่ขนาน ที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร เหมือนกับที่ภาคเหนือมีท่าอากาศยานเชียงรายช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานเชียงใหม่
โครงการพัฒนาและขยายท่าอากาศยานทั้งหมดของ AOT ส่วนใหญ่จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปี 2570-2571 เมื่อถึงเวลานั้น 9 ท่าอากาศยานในสังกัดจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรวม 220 ล้านคนต่อปี ดร.กีรติกล่าว
สร้างการเติบโตบริษัทลูก
ดร.กีรติยังกล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนด้านรายได้และกำไรด้วยว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท และหากดูจากแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มั่นใจสิ้นปีงบประมาณ 2566 นี้ บริษัทจะมีผลกำไรที่เป็นบวกได้แน่นอน เมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่มีผลประกอบการขาดทุน
และยังเชื่อมั่นด้วยว่าการเติบโตของผู้โดยสารจะฟื้นกลับมา 100% เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิดได้ภายในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าตัวเลขกำไรจะกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีกำไร 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ นอกจากรายได้ในส่วนของการให้บริการด้านการบิน (aero) แล้ว ปัจจุบันบริษัทยังผลักดันการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามทำให้บริษัทลูกเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่อุตสาหกรรมการบินยังขาด เช่น ธุรกิจให้บริการภาคพื้น ที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่จำนวนหนึ่ง
แต่มีปัญหาเรื่องการฟื้นตัว บริษัทจึงนำ AOTGA ไปให้บริการเพิ่มเติมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงระหว่างรอประมูลผู้ให้บริการรายที่ 3 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายนี้ ซึ่งบริษัท มีแผนส่ง AOTGA เข้าร่วมประมูลด้วย
หรือบริษัทรักษาความปลอดภัย (AOTAVSEC) ที่ให้บริการในเรื่องมาตรการความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตรวจค้น เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการให้บริการในมาตรฐานเดียวกันทั้ง 6 ท่าอากาศยานในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีบริษัท AOTTO ที่ให้บริการด้านคาร์โก้ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าการเกษตร เป็นต้น
เป้าหมายและกลยุทธ์ในการตั้งบริษัทลูกคือ การตอบโจทย์ในเรื่องการเติมเต็มของอุตสาหกรรมการบิน และสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วบริษัทลูกเหล่านี้จะช่วยสร้างกำไรเพิ่มเติมมาให้บริษัทแม่ด้วย ดร.กีรติกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่ 723 ไร่ บริเวณท่าอากาศสุวรรณภูมิ ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามแผนพัฒนาโครงการ Airport City และพื้นที่เขตปลอดภาษี
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความสนใจของนักลงทุน คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2567 และเริ่มพัฒนาได้ในปี 2568 และแล้วเสร็จประมาณปี 2570-2571
เลิกผูกขาด-ทลายส่วยสนามบิน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสร้างมิติใหม่ของการให้บริการ โดยรีวิวสัญญาสัมปทานบางส่วนใหม่ และลดการผูกขาดกับรายใดรายหนึ่ง แต่จะให้บริการทั้งระดับพรีเมี่ยม ระดับกลาง และระดับทั่วไป เพื่อให้ผู้โดยสารทุกระดับมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่น การบริการรถโดยสารที่สนามบินที่จะเปิดกว้างให้ทุกแพลตฟอร์มเข้าถึงได้ จากเดิมที่เรียกได้เฉพาะแท็กซี่เท่านั้น เป็นต้น
รวมถึงยกระดับการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น SAWASDEE by AOT ที่เพิ่มบริการบัดเลอร์และรถ Buggy ส่วนตัวกับ Premium Service Butler & Buggy ซึ่งทุกคนสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม
ใครอยากได้รับบริการพรีเมี่ยมเรามีบริการเสริมให้ ซึ่งผู้โดยสารทุกคนสามารถเลือกใช้บริการได้ว่าจะใช้บริการแบบพรีเมี่ยม แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หรือแบบทั่วไปที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย
ซึ่งตรงนี้จะเป็นการทลายระบบส่วยสนามบินให้มาเป็นบริการบนแอปพลิเคชั่นที่ทุกคนสามารถเลือกใช้บริการได้ เพื่อให้ท่าอากาศยานในสังกัดสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมมีเป้าหมายว่าภายใน 4 ปีที่เข้ามาบริหารจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดอันดับท็อป 30 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกให้ได้ ดร.กีรติกล่าว
10/6/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 มิถุนายน 2566 )