รพ.บ้านแพ้ว MOU บริษัท โงวฮก จำกัด ทุ่ม 520 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว โดยเป็นอาคารสูง 12 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 12,500 ตารางเมตร ดีเดย์ให้บริการ 2571
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ บริษัท โงวฮก จำกัด ทุ่มงบประมาณ 520 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร โรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้แก่ การตรวจการวินิจฉัย การสวนหัวใจด้วยห้องคุณภาพสูงจำนวน 3 ห้อง ห้องผ่าตัดหัวใจที่ทันสมัยจำนวน 3 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤตและหอผู้ป่วยในรวม 122 เตียง ห้องตรวจสำหรับผู้ป่วยนอก จำนวน 12 ห้อง
รวมทั้งจะใช้เป็นอาคารที่เป็นแหล่งฝึกฝนการเรียนรู้การวิจัยด้านหัวใจระดับเขตสุขภาพ ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วไปสู่ระดับประเทศอีกด้วย
สำหรับการ MOU ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุเมธ ตันธุวนิตย์ ประธานกรรมการ บริษัท โงวฮก จำกัด นายพัชร์ เคียงศิริ กรรมการ ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และ นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมลงนาม
นายสุเมธ ตันธุวนิตย์ กล่าวว่า ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตามการทำงานของโรงพยาบาลบ้านแพ้วมาอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านการช่วยเหลือการเข้าถึงสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะภารกิจดูผู้ป่วยโรคตาและโรคหัวใจ ที่ดำเนินการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่มากกว่า 20 ปี และครั้งนี้กำลังจะขยายการให้บริการเป็นศูนย์หัวใจที่มีขนาดใหญ่ รองรับการรักษาอย่างครบวงจรมากขึ้น
การดำเนินงานดังกล่าวตรงกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯ อีกทั้งบริษัทกำลังจะมีอายุครบรอบ 100 ปี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงใช้โอกาสนี้มอบสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณจำนวน 520 ล้าน สมทบการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว ซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่อยากช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศ ให้ได้รับการรักษาผ่าตัดหัวใจอย่างทันที
เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วแล้วเสร็จ มั่นใจว่าโรงพยาบาล จะสามารถนำความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ และความพร้อมของสถานที่ ไปต่อยอดการรักษาเกี่ยวกับโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและแผ่นดินนี้อย่างสูงสุดในอนาคต นายสุเมธกล่าว
ด้าน ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ เผยถึงสถานการณ์โรคหัวใจโดยรวมของในคนไทยว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประเทศ จากสถิติมีผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจในเขตบริการสุขภาพที่ 5 สูงถึง 600 รายต่อปี มีระยะเวลารอคอยในการผ่าตัดประมาณ 1-4 เดือนทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องรอคอยการผ่าตัด และบางรายอาจต้องเสียชีวิตไป โดยไม่ได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที
ส่วนอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีประมาณ 7.7% จากสถิติดังกล่าวจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ป่วย ประกอบกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เมื่อปี 2564 โรงพยาบาลได้จัดตั้ง ศูนย์ผ่าตัดหัวใจทรวงอกและหลอดเลือด ขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องการช่วยลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้ทันท่วงที ลดการสูญเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ในระหว่างการรอผ่าตัด
ดร.นพ.พิศิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลการ จัดอันดับจำนวนการผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาลรัฐบาลในประเทศไทยปี 2565 พบว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หลังเปิดศูนย์ผ่าตัดหัวใจมาได้เพียง 1 ปี ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 สามารถทำการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจไปได้มากกว่า 400 ราย มีจำนวนการผ่าตัดหัวใจมากเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ในเขตบริการสุขภาพที่ 5
นั่นเป็นการแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ศักยภาพของทีมแพทย์ บุคลากรด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจมีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยพื้นที่จำกัด รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอ รองรับการใช้บริการของประชาชน จึงทำให้ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากต้องอยู่ระหว่างการรอคอยการรักษา โรงพยาบาลฯ จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เดินหน้าระดมทุนสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วขึ้น
การสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วนับว่ามีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเราต้องใช้การระดมทุนจากภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ความหวังของผู้ป่วยโรคหัวใจชัดเจนขึ้น เมื่อบริษัท โงวฮก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินด้านการขนส่งระหว่างประเทศได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วในครั้งนี้ ทำให้ความตั้งใจนี้จะสามารถสำเร็จได้รวดเร็วมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง
ช่วงท้าย ประธานกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ยังบอกอีกว่า อาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนในปีเดียวกัน โดยเป็นอาคารสูง 12 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 12,500 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ถึง 1,000 คน/วัน พร้อมระบบอาคารที่ออกแบบเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยคาดว่าจะรองรับผู้ป่วยสวนหัวใจ ได้ 1,500 รายต่อปี การผ่าตัด 10-12 ราย ต่อสัปดาห์ และการใช้เตียง CCU มากถึง 2,000 รายต่อปี
และเพื่อศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ยังมีแผนการระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ มูลค่ารวม 249 ล้านบาท เพื่อโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถมีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์พร้อมใช้ทันที หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้เข้าถึงการรักษาและลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัด ให้โรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้วแห่งนี้เป็นความหวังของทุกหัวใจที่ได้เต้นต่อ ดร.นพ.พิศิษฐ์กล่าวปิดท้าย
ผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมสมทบทุนซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคหัวใจ ได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ศูนย์ผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ธนาคารกรุงไทย สาขาบ้านแพ้ว เลขที่บัญชี 745-057961-8 (สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า)
7/6/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 มิถุนายน 2566 )