สวนสัตว์แห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีคืบหน้า เผยเฟสแรกงบประมาณ 5 พันล้าน เบิกจ่ายไปแล้ว 140 ล้าน พร้อมเปิดบริการปี 2569 มีประชาชนเข้าชม 1.2 ล้านคนต่อปี คาดทำรายได้ 5 พันล้าน/ปี จากตั๋วเข้าชมและร้านค้าโดยรอบ แต่ช่วงแรกเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับพระราชทานโฉนดที่ดินเนื้อที่ 300 ไร่ บริเวณคลองหก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าในการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่
สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ โดยในระยะที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2568 อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ล่าสุดมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามเร่งรัดการดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย
นายอรรถพร ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวว่า การดำเนินงานก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ได้น้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา ก่อให้เกิดการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
มีการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ตามที่ได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมเป็นหน่วยงานแรกของปีงบประมาณ 2566 และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ไปแล้วตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2565
นายอรรถพรกล่าวว่า สวนสัตว์แห่งใหม่ ล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 2.33% เฟสแรก ได้งบประมาณมา 5,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 140 ล้าน คาดว่าเฟสแรกจะเปิดบริการได้ในปี 2569 พื้นที่ที่เปิดจะเป็นโซนสวนสาธารณะและอาคารเฉลิมพระเกียรติ แสดงผลงาน ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยในเฟสแรก จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีก่อน
ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า สำหรับการแสดงในสวนสัตว์แห่งใหม่นั้น ประชาชน สามารถเข้าชมสัตว์จากแอฟริกา และสัตว์ในเอเชียก่อน เช่น ช้างไทย ยีราฟ ตัวโกคาพี ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์หลายชนิดในตัวเดียวกัน มังกร โคโมโด เป็นต้น ส่วนเฟสที่ 2 จะเปิดบริการได้ประมาณปี 2571 จะมีสัตว์จากออสเตรเลียและอเมริกาใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีสัตว์กว่า 1,000 ตัว จาก 100 ชนิด
สวนสัตว์แห่งใหม่นี้ จะเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศ ที่จะเป็นกรีนโซนที่แท้จริง จะมีระบบประหยัดไฟฟ้า โดยการใช้โซลาเซลล์ประหยัดพลังงานทุกพื้นที่ ไม่มีพลาสติก มีระบบบำบัดน้ำเสีย และต้นไม้ทุกต้น สามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ทั้งหมด โครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนจับตามอง ทุกอย่างจึงทำด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ นายอรรถพรกล่าว
นายอรรถพรกล่าวว่า เมื่อสร้างได้แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าชมปีละ 1.2 ล้านคน สามารถทำรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี จากตั๋วเข้าชมและร้านค้าโดยรอบ ทั้งนี้ประเมินว่า จะมีค่าใช้จ่ายจากการมาเที่ยวชมสวนสัตว์ครั้งละ 300-500 บาทต่อคน โดยเป็นค่าเข้าครั้งละ 150 บาท
สำหรับโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่นี้ จะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แห่งใหม่ของประเทศไทยในอนาคต ด้วยการเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับธรรมชาติของสัตว์ มีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี นำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบบริหารจัดการอัจฉริยะมาใช้ รวมถึงมีระบบบริหารจัดการน้ำ การใช้พลังงานสะอาด และระบบการจัดการของเสียที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งมีระบบรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นแหล่งนันทนาการที่รองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ ภายใต้แนวคิด ชุบชีวิตทุ่งน้ำ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ชีวิตสัตว์ป่า การอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งนันทนาการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
29/8/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 25 สิงหาคม 2566 )