กำลังเป็นที่สนใจมากสำหรับข่าวลงทุนสร้างสนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 และสนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาสร้างรายได้ และเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้าลงทุนพร้อมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา เพื่อรับฟังปัญหาการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน ที่จังหวัดภูเก็ต และพังงา ในช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคม 2566
แหล่งข่าวในธุรกิจการบินรายหนึ่ง บอกกับ ประชาชาติธุรกิจ ส่วนตัวคาดการณ์ว่าสนามบินใหม่ทั้ง 2 แห่งดังกล่าวที่อยู่ในแผนการพัฒนา ได้แก่ 1. สนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 จะตั้งอยู่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และ 2. สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จังหวัดลำพูน
พร้อมให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวนี้เป็นนโยบายผลักดันกันมาตั้งแต่ยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และมี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โดยช่วงนั้นสนามบินหลักของไทย เริ่มเกิดความแอดอัด มีจำนวนผู้โดยสารเกินศักยภาพในการรองรับ (capacity) โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต และเชียงใหม่ และมีแนวโน้มของจำนวนผู้โดยสารที่ขยายตัวต่อเนื่องปีละกว่า 10% (ก่อนวิกฤตโควิด) รัฐบาลจึงเร่งให้ AOT ศึกษาแผนการขยายศักยภาพรองรับผู้โดยสารของสนามบินทั่วประเทศ รวมถึงแผนรับสนามบินในภูมิภาคขอกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปบริหารด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 และสนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 นั้นได้ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมไปเมื่อกลางปี 2563 โดย ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ทำการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 หรือเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
ทื้งนี้ ในส่วนของ AOT ทอท. นั้นได้ระบุว่า บริษัทได้จ้างที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาสนามบินทั้งหมด 2 แห่งแล้ว พร้อมกำหนดกรอบวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน)
แบ่งเป็น สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 พื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ ลงทุนประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 พื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่เช่นกัน ลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท
ลุ้นกันต่อว่า สนามบิน ภูเก็ต-เชียงใหม่ แห่งที่ 2 จะเกิดในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นี้หรือไม่ หลังจากผลักดันกันมา 5-6 ปีแล้ว ขณะที่ในแผนพัฒนาสนามบินของ AOT ในวันนี้ไปจนถึงปี 2571 ยังไม่ได้บรรจุโครงการสนามบินทั้ง 2 แห่งนี้แต่อย่างใด
27/8/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 27 สิงหาคม 2566 )