info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.137.175.166

เปิดพิมพ์เขียวรถไฟฟ้า กทม. สีเทามี 5 จุดตัด-สีเงินจอดป้ายสุวรรณภูมิ

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าในมือกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ภายใต้ยุค “ทีมชัชชาติ”

ด้วยธีมการบริหารมหานครเมืองหลวงแนวใหม่ เชิดชูเป้าหมายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปลุกปั้นให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครน่าอยู่สำหรับทุกคน ให้ความสำคัญกับการสร้างฟาซิลิตี้ระดับเส้นเลือดฝอยทุกอณูของเมือง

กทม.สนลงทุนสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน

ล่าสุด “รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการ กทม. กำกับดูแลงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาความเป็นไปได้มี 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ

เบื้องต้น กทม.สนใจลงทุนเองเพียงโครงการเดียวคือ สายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน วงเงินไม่สูงมากนักอยู่ที่ 14,000 ล้านบาทเชื่อมต่อกับสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งตลิ่งชันเป็นย่านชานเมืองที่ความเจริญกำลังคืบคลานออกไป

และสำคัญที่สุดสำหรับการเป็นระบบราชการก็คือ มีพื้นที่อยู่ในขอบอำนาจของ กทม.โดยตรง

ขณะที่อีก 2 เส้นทางมีแนวนโยบายส่งต่อให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะไปสุดทางการเป็นเจ้าภาพที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นคนทำ

ประกอบด้วย สาย “สีเทา” เหตุผลเพราะมีจุดตัดจำนวนมาก ทำให้ในอนาคตจะเกิดปัญหาการเดินทางข้ามสายทาง จะทำให้ผู้โดยสารต้องจ่าย “ค่าแรกเข้า” ที่เป็นค่าใช้จ่ายดับเบิลหรือซ้ำซ้อน

อีกเส้นทางคือ สาย “สีเงิน” แนวเส้นทางทอดยาวตั้งแต่บางนาถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทำให้ล้ำเส้นทางปกครองของ กทม. ไปชนกับขอบอำนาจของจังหวัดสมุทรปราการ

สายสีเทาเต็มโครงการ 40 กม. 40 สถานี

ล่าสุด “ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟฟ้า 3 เส้นทางของ กทม. ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บท M-Map2 อยู่แล้ว

โฟกัสรถไฟฟ้าสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ ระยะทางรวม 40 กิโลเมตร จำนวน 40 สถานี ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ตัวรถและโครงสร้างเป็นรางเดี่ยวและทางวิ่งมีขนาดเล็ก การก่อสร้างทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่กีดขวางจราจร สามารถผลิตจากโรงงานและยกประกอบหน้างานได้รวดเร็ว รองรับผู้โดยสาร 8,000-20,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ความเร็วเฉลี่ย 35-80 กม./ชั่วโมง

ในเชิงวิศวกรรมการออกแบบ ยังรวมถึงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในระหว่างการก่อสร้างและช่วงหลังการก่อสร้างมีน้อย เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ใช้ล้อยางเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งทำให้มีเสียงดังน้อยกว่าระบบราง

ตามแผนแบ่งพัฒนา 3 เฟส คือ เฟส 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี, เฟส 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และเฟส 3 ช่วงต่อขยายพระราม 3-ท่าพระ 11.5 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี (ดูกราฟิกประกอบ)

“วัชรพล-ทองหล่อ” มี 5 จุดตัดรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ วงเงินการลงทุน 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินการพัฒนาเฟส 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ซึ่งได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จึงเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีความพร้อมมากที่สุดในขณะนี้ ในการนำออกมาเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP

ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีวัชรพล 2.สถานีนวลจันทร์ 3.สถานีเกษตร-นวมินทร์ 4.สถานีคลองลำเจียก 5.สถานีโยธินพัฒนา 6.สถานีลาดพร้าว 71 7.สถานีสังคมสงเคราะห์

8.สถานีฉลองรัช 9.สถานีศรีวรา 10.สถานีประชาอุทิศ 11.สถานีพระราม 9 12.สถานีเพชรบุรี-ทองหล่อ 13.สถานีแจ่มจันทร์ 14.สถานีทองหล่อ 10 และ 15.สถานีทองหล่อ

ไฮไลต์อยู่ที่มีจุดตัดหรือจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น 5 จุดตัดด้วยกัน ได้แก่

1.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่ “สถานีวัชรพล” บริเวณจุดตัดถนนรามอินทรากับถนนประดิษฐ์มนูธรรม

2.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่ “สถานีคลองลำเจียก” ของสายสีเทา กับ “สถานีต่างระดับฉลองรัช” ของสายสีน้ำตาล (แผนบนกระดาษ) ที่บริเวณทางต่างระดับฉลองรัชตัดกับถนนประเสริฐมนูกิจ

3.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ “สถานีฉลองรัช” ของสายสีเทา กับ “สถานีลาดพร้าว 71” ของสายสีเหลือง บริเวณจุดตัดถนนลาดพร้าว กับถนนประดิษฐ์มนูธรรม

4.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ “สถานีพระราม 9” บริเวณจุดตัดถนนพระราม 9 กับถนนประดิษฐ์มนูธรรม

5.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ “สถานีทองหล่อ” ของสายสีเทา กับ “สถานี BTS ทองหล่อ” เชื่อมด้วยสกายวอล์กห่าง 130 เมตร

สายสีเงิน บางนา 19.7 กม. 14 สถานี

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) รองรับผู้โดยสารสูงสุด 15,000-30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง โดยสามารถทำระดับดินหรือยกระดับได้ เป็นข้อเด่นที่สุดของระบบนี้ เพราะมีความคล่องตัว โดยหากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นในทำเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเลี่ยงปัญหาจราจร เมื่อออกนอกเมืองก็ใช้ระดับดินเช่นเดียวกับรถยนต์

โดยการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ สรุปผลออกมาว่าจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง

ทั้งนี้ สายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ มีระยะทางรวม 19.7 กิโลเมตร จำนวน 14 สถานี แผนภาพรวมแบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี กับเฟส 2 ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี โดยมีโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง หรือดีโป้ (Depot) พื้นที่ 29 ไร่ อยู่ติดกับสถานีธนาซิตี้

รายละเอียดระยะทาง 19.7 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ประกอบด้วย

1.เริ่มต้นที่หัวถนนบางนา-ตราด สถานีแยกบางนา อยู่ห่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างสถานีอุดมสุข ห่าง 1.1 กิโลเมตร และสถานีบางนา ห่าง 1 กิโลเมตร ปัจจุบัน กทม.ได้ก่อสร้างสกายวอล์ก ทางเดินยกระดับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตสามารถเชื่อมต่ออีกเพียง 150 เมตร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีเงิน

2.สถานีประภามนตรี ใกล้โรงเรียนนานาชาติเบิร์คลีย์ และเยื้องกับโรงเรียนประภามนตรี

3.สถานีบางนา-ตราด กม.17 อยู่หน้าปากซอยบางนา-ตราด 17

4.สถานีบางนา-ตราด กม.25 ใกล้ห้างเซ็นทรัล บางนา และบิ๊กซี

5.สถานีวัดศรีเอี่ยม สร้างคร่อมทางต่างระดับวัดศรีเอี่ยม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 2 สถานี คือ ห่างสถานีศรีเอี่ยม ระยะทาง 200 เมตร กับห่างสถานีศรีลาซาล 1.25 กิโลเมตร

6.สถานีเปรมฤทัย ตรงข้ามอาคารเนชั่นทาวเวอร์

7.สถานีบางนา-ตราด กม.6 ตรงข้ามบางนาทาวเวอร์

8.สถานีบางแก้ว ใกล้ทางเข้า ม.รามคำแหง 2

9.สถานีกาญจนาภิเษก ตรงข้ามห้างเมกา บางนา

10.สถานีวัดสลุด เยื้องซอยวัดสลุด และเยื้องห้างบุญถาวร

11.สถานีกิ่งแก้ว อยู่หน้าตลาดกิ่งแก้ว

12.สถานีธนาซิตี้ อยู่หน้าหมู่บ้านธนาซิตี้ ซึ่งจะมีดีโป้ขนาด 29 ไร่ อยู่ที่นี่

13.สถานีมหาวิทยาลัยเกริก อยู่หน้า ม.เกริก

และ 14.สถานีสุวรรณภูมิใต้ อยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิส่วนทิศใต้

ข้อมูลจำเพาะ สายสีเงินรูปแบบ LRT มีขนาดรางสแตนดาร์ดเกจ 1.435 เมตร มีระยะทางเฉลี่ยระหว่างสถานี 1 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่่วโมง และความเร็วเฉลี่ย 36 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีระยะเวลาเดินทางไปกลับตลอดเส้นทางอยู่ที่ 1 ชั่วโมง

ในด้านการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ณ ปี 2564 อยู่ที่ 14-37 บาท มีอัตราแรกเข้า 12 บาท ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 2 บาท/กิโลเมตร

รวมทั้งหมายเหตุการก่อสร้างเฟส 2 มีปัจจัยคำนึงมาจากแผนลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิของ AOT-บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย ซึ่งในปี 2564 แจ้งว่ามีการขยับแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ โดยส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2578

ส่งผลให้ส่วนต่อขยายของสายสีเงินอีก 5.1 กิโลเมตร จากปากทางถนนสุขุมวิทเข้าสู่สนามบิน จำนวน 2 สถานี ต้องขยับไปเปิดให้ตรงกันในปี 2578 ด้วย

6/9/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 กันยายน 2566 )

Youtube Channel