หากพูดถึง 9.9 ในยุคนี้ หลายคนคงนึกถึงโปรโมชั่นของบรรดาแอปช็อปปิ้งออนไลน์ ที่หลาย ๆ แบรนด์พาเหรดกันลดราคาแบบกระหน่ำในช่วงวันที่ 9 กันยายน
แต่ถ้าเป็น 9.9 ของคนยุคก่อน ๆ โดยเฉพาะชาวยุค 80-90 หลายคนจะคุ้นเคยกับโฆษณา แฟลตปลาทอง
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดให้จองในวันที่ 9 เดือน 9 แถมด้ายการตลาดและราคาที่สุดแสนจะดึงดูดใจคนในยุคนั้นพอสมควร
เนื่องในโอกาส วันที่ 9 เดือน 9 (ปี 2566) พอดิบพอดีแล้ว Prachachat BITE SIZE วันนี้ ชวนไปรู้จักโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการนี้กัน
จุดเริ่มต้น แฟลตปลาทอง
โครงการแฟลตปลาทอง เริ่มต้นการพัฒนาในช่วงปี 2532 โดย พงศกร ญานเบญจวงศ์ เจ้าของบริษัท ปลาทองกะรัต จำกัด บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตวุ้นเส้นไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ และเริ่มทำอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งมองเห็นโอกาสตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะบ้านจัดสรรและอาคารชุด ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มเปิดตัวโครงการเมื่อ 17 สิงหาคม 2532 โดยเป็นการจัดงานแถลงข่าวและลงนามสัญญาเงินกู้จากธนาคารสหธนาคาร เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว จำนวนกว่า 300 ล้านบาท
เมื่อเปิดตัวเสร็จ ก็เริ่มต้นโหมโฆษณาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการใช้งบฯการตลาดกว่า 20 ล้านบาทเพื่อโปรโมตการขายโครงการนี้ มาครบทุกสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อนอกบ้าน (Out of Home) รถวิ่งโฆษณาอีก 40-50 คัน ทั่ว กทม. พร้อมคีย์เวิร์ดสำคัญของการโปรโมตคือ จองแค่ 5,000 บาท และเปิดจองวันเดียวคือ 9 เดือน 9 (9 กันยายน 2532)
แต่ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุด หนีไม่พ้นโฆษณาโทรทัศน์ ที่ติดหูผู้คนในเวลานั้นเป็นอย่างมาก ได้ศิลปินตลกชื่อดัง ทั้งล้อต๊อก-แม่ชูศรี มีสมมนต์-น้อย โพธิ์งาม-โน๊ต เชิญยิ้ม-เทพ โพธิ์งาม-ดอน จมูกบาน มาร่วมเล่นโฆษณา และได้มือแต่งเพลงอย่าง อาจารย์เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์ แต่งเพลงโฆษณาที่ขายจุดเด่นแบบตรง ๆ ทั้งเรื่องราคาและสิ่งอำนวยความสะดวก
ทั้งนี้ โฆษณานี้ได้รับรางวัล TACT Awards หรือการประกวดโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ที่ผ่านการตัดสินทั้งมุมมองการตลาดและความคิดสร้างสรรค์
สุดท้าย มีผู้คนมารอจองโครงการนี้เป็นจำนวนมาก และเริ่มก่อสร้างเป็นทางการ ช่วงตุลาคมปีเดียวกัน ก่อนจะเปิดให้เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในอีก 1 ปีถัดมา
โครงการแฟลตปลาทอง ใหญ่ขนาดไหน ?
โครงการแฟลตปลาทอง มีเนื้อที่กว่า 130 ไร่ อยู่ในย่านบางพูน ปทุมธานี ซึ่งใกล้กับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่มีคนทำงานไม่ต่ำกว่า 300,000 คน
ในพื้นที่แฟลตปลาทอง มีทั้งอาคารพาณิชย์ 72 คูหา และอาคารแฟลตสำหรับอยู่อาศัย มากกว่า 130 อาคาร รวมกว่า 7 พันยูนิต และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งตลาดสด อยู่ใจกลางโครงการ และพื้นที่ส่วนกลางอย่าง สระว่ายน้ำ-สโมสร ซึ่งอยู่ท้ายโครงการ
สำหรับราคาขาย สนนราคาขายในช่วงเปิดตัวอยู่ที่ประมาณ 189,000 บาทต่อห้อง ซึ่งถูก และได้รับความสนใจอย่างมากในสมัยนั้น เพราะว่าคนหาเช้ากินค่ำ หรือทำงานข้าราชการ เงินเดือนหลัก 3-4 พันในสมัยน้ัน ก็สามารถซื้อเป็นเจ้าของได้ง่าย หรือต่อให้กู้ ก็เป็นเจ้าของง่าย ดาวน์ก็น้อย ผ่อนต่อเดือนก็ต่ำอีก
จากโครงการใหญ่ สู่วันทรุดโทรม
จากหน้าฉากที่ใครหลายคนมองว่า แฟลตปลาทอง เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในแง่การขายอย่างมาก แต่ผ่านไปได้ประมาณ 3 ปี หลังเปิดให้เข้าอยู่ ก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น
ทั้งการบริหารจัดการที่ไม่มีระเบียบ ไม่มีความเรียบร้อย อาคารและพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ ไม่ได้รับการดูแลให้มีสภาพที่ดี จนถึงปัญหาอาชญากรรมและการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้โครงการแฟลตปลาทอง ดูโทรมไวกว่าที่ควรจะเป็น และมีผู้อาศัย ตัดสินใจย้ายออกไป
ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาอื่น ๆ ในบริษัท จนทำให้ตึกสร้างไม่เสร็จ ตึกไม่ถูกโอน ก็ทำให้เกิดปัญหากลับมาที่ ปลาทองกะรัต ซึ่งเป็น Developer ด้วย
สุดท้าย โครงการแฟลตปลาทอง ก็ถูกขายให้กลุ่มซัมมิท ของตระกูล จึงรุ่งเรืองกิจ มาดูแลต่อ และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น รังสิตซิตี้ ในปัจจุบัน ส่วนบริษัท ปลาทองกะรัต ปัจจุบัน ล้มละลายเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ปี 2559
ขณะที่แฟลตปลาทอง ในปัจจุบัน ยังมีการขาย ให้เช่าอยู่ในบางห้อง ทั้งเจ้าของห้องขาย-ให้เช่าเอง หรือเป็นทรัพย์ NPA ของธนาคาร-บริษัทบริหารสินทรัพย์ มีตั้งแต่หลัก 4-5 หมื่นถึงหลักแสนบาทต่อห้อง บางตึกถูกนำมารีโนเวตเป็นโครงการคอนโดฯใหม่ ในชื่อ ซิตี้ คอนโด (City Condo) ซึ่งเปิดราคาขายไว้ที่ประมาณ 699,000 บาทต่อห้อง
นับเป็นอีกบทเรียนให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จนถึงผู้ที่เป็นนิติบุคคลดูแลอาคารชุด ที่ต้องมองถึงการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตต่อ ๆ ไป รวมถึงผู้อยู่อาศัยทุกคนที่ต้องช่วยดูแลกันอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน
ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.19 ได้ที่ https://youtu.be/BsG6fzuSDeY
9/9/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 กันยายน 2566 )