พีระพันธุ์ เปิดอาคารใหม่ Net Zero Energy Building (อาคาร 70 ปี พพ.) ใหญ่ที่สุดในไทย พพ.ทุ่มงบ 81.6 ล้านบาท ออกแบบใต้แนวคิด ลดพลังงาน เสริมคุณภาพชีวิต ตั้งเป้าปี 2579 สร้างอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร
วันที่ 8 ธันวาคม 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Energy Building (อาคาร 70 ปี พพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน
โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ ตลอดจนก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งสอดคล้องกับแผนของประเทศไทยที่ได้ประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น
โดยเมื่อปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้างอาคารต้นแบบ Net Zero Energy Building (อาคาร 70 ปี พพ.) แห่งนี้ขึ้น ซึ่งมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานในอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิด อาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB)
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ GGOODs ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน Zero Energy Building ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย
โดยอาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ Net Zero Energy Building เป็นอาคารสำนักงานสูง 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 2,650 ตารางเมตร โดยมีการออกแบบ ตามแนวคิด ลดพลังงาน เสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่ Passive Design ซึ่งเป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และ Active Design ที่มีการออกแบบโครงสร้างอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยควบคุมการใช้พลังงาน
รวมถึงอาคารแห่งนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร อาทิ การออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยใช้หลอด LED ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเข้มแสงและจำนวนผู้ใช้อาคาร เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด หลอดไฟอยู่ริมหน้าต่างอัตโนมัติเมื่อแสงธรรมชาติเพียงพอ และปรับปริมาณแสงสว่างให้เพียงพอต่อการใช้งาน
อีกทั้งยังใช้ระบบปรับอากาศ ประเภท Variable Refrigerant Flow ที่ทำงานร่วมกับเครื่องตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 Sensor เพื่อเติมอาการบริสุทธิ์ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดภาวะอยู่สบาย และยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น PM 2.5 ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังติดตั้งพลังงานหมุนเวียน ด้วยแผงโซล่าร์เซลส์บนหลังคากว่า 100 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ประมาณ 145,157 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็น 92.9% ของความต้องการใช้ พร้อมแบตเตอรี่ลิเธี่ยม-อิออนเพื่อกักเก็บพลังงานสำหรับใช้ในอาคาร ขนาด 5 กิโลวัตต์ชั่วโมง 12V จำนวน 2 ชุด รวม 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร
8/12/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 8 ธันวาคม 2566 )