info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

ย้ายศาลาว่าการ กทม. ต่อยอด “พิพิธภัณฑ์เสาชิงช้า”

Building News / ข่าวหมวดอาคารทั่วไป

ทำ ๆ เลิก ๆ นโยบายย้ายศาลาว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ล่าสุด ผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ปัดฝุ่นโครงการย้ายศาลาว่าการจากเสาชิงช้า ไปประจำการที่ดินแดงเต็มรูปแบบอีกครั้ง และดูเหมือนมีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อประเมินจากผลงาน 7 เดือนที่ผ่านมา

จินตนาการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับทำเนียบ 50 เมืองน่าอยู่ระดับโลก เดินคู่ขนานไปกับผลักดันให้เป็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงศิลปะของโลก

ด้วยการปรับให้ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าเดิม ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ของประเทศฝรั่งเศส

จากกรุงเกษมสู่เสาชิงช้า

ประวัติศาสตร์หน้าแรกของ กทม. มีจุดเริ่มต้นจากการเช่าบ้าน “คุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัติ” ที่ถนนกรุงเกษม เปิดดำเนินงาน “เทศบาลนครกรุงเทพ” เมื่อ 27 พฤษภาคม 2480 โดยมี “พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ” เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก

ในเวลาต่อมา บ้านพักหลังนี้ถูกใช้เป็นที่ทำการ “สศช.-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

ถัดมา ปี 2484 มีการย้ายที่ทำการเทศบาลนครกรุงเทพ มายังตลาดเสาชิงช้า (ที่ตั้งศาลาว่าการและลานคนเมืองในปัจจุบัน โดยรัฐบาลขอซื้อที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในราคา 6 แสนบาท

รวม 2 เทศบาลนคร

ถัดมา 24 มิถุนายน 2499 สถานที่คับแคบเป็นครั้งแรก ทำให้ต้องสร้างใหม่ โดย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้วางศิลาฤกษ์อาคารทำการแห่งใหม่ และมี “ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร” เจ้าของผลงานออกแบบพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้ออกแบบศาลาว่าการเทศบาลนครกรุงเทพแห่งใหม่

พิมพ์เขียวเดิม ออกแบบให้มีหอนาฬิกาและหอสูงสำหรับสังเกตการณ์ คล้ายกับหอสูงของสถานีดับเพลิง แต่ใช้งบประมาณสูงและไม่จำเป็นเร่งด่วน “รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” จึงได้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน

ถัดมา 15 ธันวาคม 2515 มีการรวม 2 เทศบาลนคร คือ “กรุงเทพ+ธนบุรี” เปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร” อาคารที่ทำการเสาชิงช้าจึงถูกใช้เป็นศาลาว่าการ กทม. ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน

และเป็นที่ทำการของผู้ว่าฯ กทม. 17 คน แบ่งเป็น 2 ยุคการเมือง คือ ผู้ว่าฯแต่งตั้ง 9 คน กับผู้ว่าฯเลือกตั้ง 8 คน

กฤษฎาเริ่ม-ชัชชาติจบ

ตัดฉากกลับมาปี 2566 “จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดการย้ายศาลาว่าการ กทม. จากเสาชิงช้าไปอยู่ดินแดง ริเริ่มในปี 2535 สมัย “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” เป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง

โดยโครงการก่อสร้าง “ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง” หรือ “กทม. 2” ยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม.มีอายุการทำงาน 4 ปี เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ ทำให้การก่อสร้าง-ตกแต่งสะดุดเป็นระยะ ๆ

จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2560 ในสมัย “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เป็นผู้ว่าฯ กทม.

และปัญหางบประมาณจำกัดก็ตามมาหลอกหลอนอีกครั้ง จากเดิมออกแบบให้มีการก่อสร้างอีก 2 อาคาร ขนาบข้างตึกธานีนพรัตน์ แต่ถูกปรับแบบออกไปในที่สุด

หากจะนับจุดเริ่มต้นนโยบายย้ายศาลาว่าการ กทม. ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในยุค “สมัคร สุนทรเวช” เป็นผู้ว่าฯ กทม. อนุมัติงบประมาณย้ายเมื่อปี 2547 วงเงิน 1,438 ล้านบาท

จนถึงปี 2555 ยุคผู้ว่าฯ กทม. “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” มีนโยบายย้ายแน่นอน แต่ติดปัญหาก่อสร้างไม่เสร็จ

และยุคพ่อเมืองส้มหล่น “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 16 ยกเลิกนโยบายย้ายศาลาว่าการ กทม. ออกจากเสาชิงช้า

ดังนั้น ผู้ว่าฯคนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จึงเป็นพ่อเมืองกรุงเทพฯ ที่รื้อฟื้นนโยบายย้าย กทม.อีกครั้ง

เมืองโต-งบฯโต-เขตโต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ความจำเป็นในการย้ายที่ทำการ หรือศาลาว่าการ เหตุผลหลักเกิดจากเมืองขยายตัว โครงสร้างองค์กรของ กทม.ก็เบ่งตัวเช่นกัน ทั้งในด้านงบประมาณ และจำนวนเขต (ไม่รวมสำนักเฉพาะกิจ)

โดยจุดเริ่มต้นมาจากปี 2515 ที่มีการยุบรวม 2 เทศบาลนคร แล้วตั้งชื่อใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร” ถัดมา ข้อมูล ณ 24 สิงหาคม 2516 กทม.มีเพียง 24 เขต งบประมาณเพียง 68 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าฯ กทม. มาจากการแต่งตั้งชื่อ “ชำนาญ ยุวบูรณ์”

การขยายตัวของเมืองเริ่มเห็นในปี 2532 ยุคผู้ว่าฯ กทม. “พลตรีจำลอง ศรีเมือง” เพิ่มอีก 12 เขต รวมเป็น 36 เขต งบประมาณ กทม.อยู่ที่ 6,974 ล้านบาท

ปี 2537 ยุคผู้ว่าฯ กทม. “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” เพิ่มเป็น 38 เขต งบประมาณ 17,904 ล้านบาท

ปี 2540 ผู้ว่าฯ กทม. “พิจิตต รัตตกุล” ขยายเพิ่มเป็น 44 เขต งบประมาณ 24,469 ล้านบาท และปี 2541 มีงบประมาณ 26,761 ล้านบาท มีการขยายเขตอีกครั้ง ทำให้เบ็ดเสร็จ กทม.มี 50 เขต จนถึงปัจจุบัน

จะเห็นว่าเมืองโต งบประมาณเมืองเติบโตตามเป็นเงา โดยยุคผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 79,719 ล้านบาท

ทำพิพิธภัณฑ์เสาชิงช้า

ทั้งนี้ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ระบุว่า ที่ทำการ กทม.มี 2 แห่ง ทำให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานไม่ราบรื่น และประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ค่อนข้างต่ำ เช่น ห้องผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ มีทั้งที่เสาชิงช้า-ดินแดง ดูเหมือนจะเกินจำเป็น

ดังนั้นการยุบรวมที่ทำการให้เหลือ 1 แห่ง จะทำให้มีความคล่องตัว ทั้งการใช้พื้นที่และงบประมาณดูแลรักษา

ปฏิบัติการย้ายจากเสาชิงช้าไปดินแดง บุคลากร กทม. รวมทั้งสิ้น 88,000 คน ในการย้ายที่ทำการมีผลกระทบเพียง 8 หน่วยงาน บุคลากร 2,500 คน

พิมพ์เขียวที่วางไว้ จะมีการรีโนเวตศาลาว่าการ กทม.ปัจจุบัน ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์เสาชิงช้า” แทน ไทม์ไลน์ที่วางไว้คือทำให้จบภายใน 1 ปี หรือภายในสิ้นปี 2566 นี้

เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ถอดรหัส “ชัชชาติโมเดล” ในการย้ายที่ทำการ กทม. ตั้งเป้าอัพเกรดสำนักงานเสาชิงช้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ครอบคลุม 4 ภารกิจ ได้แก่

1.ต้องการให้เป็นศูนย์กลางความเป็นคนเมือง ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์รูปแบบเก่า แต่ความเป็นคนเมืองจะต้องผนวกอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ นำเสนอข้อมูลอดีต ปัจจุบัน และทิศทางเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดกว้างมากขึ้น

2.ต้องการฟื้นฟูสภาพเมืองชั้นในให้มีความคึกคัก มีการเชื่อมโยงกับหลายพื้นที่มากขึ้น ตั้งแต่โซนราชดำเนินกลางที่มีหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, นิทรรศน์รัตนโกสินทร์, โลหะปราสาท ภูเขาทอง วัดสุทัศน์

เชื่อมโยงย่านเยาวราช, ศาลหลักเมือง, พระบรมมหาราชวัง และสนามหลวง พัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงกันกับบริบทแต่ละพื้นที่

3.ต้องการให้เป็นหมุดหมายสำคัญในการดึงดูดผู้คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วยความมีชีวิตชีวา เป็นแลนด์มาร์ก เป็นจุดเช็กอินของผู้มาเยือนจากทั่วโลกเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของฝรั่งเศส

4.ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ มีพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามามีกิจกรรมร่วมกันได้

สอดคล้องกับนโยบายหาเสียง “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนโหวต 1.38 ล้านเสียง

4/1/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 มกราคม 2566)

Youtube Channel