info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.26.226

สรุปโอกาส-ความท้าทาย เหมืองแร่โพแทช “อุดรฯ-ชัยภูมิ”

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ความพยายามของรัฐบาลในการเร่งรัดฟื้นโครงการเหมืองแร่โพแทช 2 แหล่งใหญ่ ที่สำคัญของไทยอย่าง จังหวัดอุดรธานีและชัยภูมิเพื่อนำแร่โพแทชขึ้นมาผลิตปุ๋ยใช้เองจะได้ประโยชน์มหาศาล ทั้งค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับ และยังลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศที่ไทยขาดดุลมาตลอด รวมถึงการสร้างงานในท้องถิ่น แต่อาจต้องแลกมากับการทำลายสิ่งแวดล้อม

ฟื้นโปรเจ็กต์แร่โพแทชอีสาน

ภายใต้การบริหารงานของ “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ต้องการจะฟื้นโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ของ บริษัท เอเซียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC)

และโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องหยุดชะงักไปนานนับสิบ ๆ ปี

หนทางที่จะฟื้นโครงการขึ้นมาได้ จะมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.รัฐจะต้องออกมาตรการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนและเข้มงวด 2.ตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคม 3.เป็นฝั่งของเอกชนที่ต้องหามีเงินทุนพร้อม ถ้าครบทั้งหมดนี้โครงการเหมืองแร่โพแทชก็ไม่ใช่เรื่องยาก

โพแทชอุดรฯ รอแบงก์ไฟเขียว

โครงการโพแทช จ.อุดรธานี ตั้งอยู่ใน อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 มีพื้นที่ดำเนินการ 26,000 ไร่ ข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่า ปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชได้ 34 ล้านตัน ดูเหมือนใกล้ความจริงมากที่สุด

ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ (project finance) หากได้รับการอนุมัติ บริษัทจะสามารถเริ่มการผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา จำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่า 15% เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุดรธานี และรัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ 7% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท

ในระหว่างนี้ เอกชนจึงเข้าพัฒนาพื้นที่นำหน้าไปแล้ว โดยประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ จ.อุดรธานี ร่วมกำกับดูแลการทำเหมือง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่ส่วนใหญ่ยังคงกังวลผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน และผลกระทบต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน

กพร. ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้ตามที่ประชาชนต้องการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น

ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุน 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร

“เหมืองแร่โพแทช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ” ที่ได้ทำการศึกษา ขุดเจาะอุโมงค์ลงไปลึกจนพบแร่โพแทช ซึ่งกินเวลามานานถึง 34 ปี แต่โครงการต้องหยุดชะงัก และขณะนี้อยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อระดมทุนจากผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 18,000 ล้านบาท และในส่วนของเงินกู้อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท รวมประมาณ 60,000 ล้านบาท

แต่ที่น่ากังวลในขณะนี้ คือบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตร ยังคงมีภาระหนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐ ที่ต้องชำระรวมค่าปรับผิดนัดชำระคิดเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท

รัฐบาลได้พยายามหาหนทางแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัทผ่อนชำระด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีผลผลิต

การตกลงทำสัญญาครั้งนี้ อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ยอมรับเงื่อนไขทุกประการ และยังมั่นใจที่จะผลิตแร่โพแทชได้ภายในปี 2571 หรือนับจากนี้อีกไม่เกิน 5 ปี แต่หากไม่สามารถผลิตแร่โพแทชได้ จะยินยอมชำระหนี้เป็นเงินตามจำนวนหนี้ที่ผิดนัดทั้งหมด พร้อมค่าปรับ 15% ต่อปี นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงจนถึงวันที่ชำระจริง

ที่สำคัญคือประทานบัตรแม้จะมีอายุ 25 ปี จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2583 มีเวลาอีกเพียง 17 ปีเท่านั้นที่เหมืองแร่แห่งนี้จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ

7/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel