info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

ส่องแผน ราช กรุ๊ป ปี’67 ทุ่มลงทุน 1.5 หมื่นล้าน เปิดซีโอดีทุบสถิติ 11 โครงการ

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

ราช กรุ๊ป จ่อปิดดีล 2 โครงการ ดันยอด COD ปี’66 ทะลุ 1,000 MW กางแผน ปี’67 ทุ่มงบฯลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ลุยเปิด COD อีก 11 โครงการ 459 MW สร้างการเติบโต EBITDA 5% ทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมรักษากระแสเงินสดมั่นคง

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่าการดำเนินธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายสร้างการเติบโต EBITDA ได้ 5% ถึง 12,000 ล้านบาท โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างปิดดีลการเข้าซื้อโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตที่มีการงานเชิงพาณิชย์ (COD) ไฟฟ้าในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ จากในช่วง 9 เดือน ปีนี้ที่ทำได้แล้ว 700 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการที่ได้มีการเปิด COD ในปี 2566 ประกอบด้วย โครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น การโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีโค่วิน เวียดนาม ขณะเดียวกันบริษัทยังประสบความสำเร็จในการดำเนินการธุรกิจ non-power ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่ สปป.ลาว

นางสาวชูศรีกล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่และพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุน กว่า 10 โครงการ

นอกจากนี้ ยังเน้นการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเดินเครื่องได้ทันกำหนดเวลาตามที่สัญญาระบุไว้ โดยมีกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุนรวม 2,918.23 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2567-2576

ในปี 2567 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 459 เมกะวัตต์ โดยมี 11 โครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ได้แก่

1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2567

2.โครงการโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น ซึ่งบริษัทถือหุ้น 40% จะ COD ในเดือนมกราคม 2567

3.โครงการโรงไฟฟ้าสหโคเจนใหม่ กำลังการผลิต 79.5 เมกะวัตต์กำหนดการ COD เดือนเมษายน 2567

4.โครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยายระยะที่ 3

5.การจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านทางบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะเวลา 3 ปี กับบริษัท Gunvor Singapore Pte. Ltd. โดยจะมีการส่งมอบในปริมาณปีละ 0.5 ล้านตัน และการส่งมอบครั้งแรกจะดำเนินการในเดือนมีนาคม 2567

6.โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา ในกลุ่มโรงพยาบาลพรินซิเปิ้ล โรงแรมแลโรงงาน ที่ลงทุนผ่านบริษัทสหโคเจน (ชลบุรี) รวมกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์

7.โครงการส่วนขยายระยะที่ 3 โรงผลิตไฟฟ้านวนคร ขนาด 30 เมกะวัตต์ เดินเครื่อง COD ธันวาคม 2567

8.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 ที่ประเทศเวียดนามกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์เดือนธันวาคม 2567

9.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า ในประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 74.10 เมกะวัตต์กำหนดการ COD ภายในปี 2567

10.โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนภัยตันกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

11.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2561 ครบทุกสถานีและส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2568

และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา จะเสร็จปลายปี 2567 และหมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรีจะเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2561 ปลายปี

แผนลงทุนต่อเนื่องถึงปี 2576 อีก 7 โครงการ

ส่วนแผนที่จะลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2568-2576 ดังนี้

1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ มีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568

2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบนแจที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2568

3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอนแกบ (Lincoln Gap 3) ที่ประเทศออสเตรเลีย กำลังการผลิต 252 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2569

5. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซิบันดง ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 73.7 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2572

6.โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ริสท์ ถุงฝ้ายจังหวัดลำปาง กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ กำหนดการเดินเครื่องปี 2573

7.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเซกอง 4A และ 4B ที่ประเทศ สปป.ลาว กำลังการผลิต 355 เมกะวัตต์ กำหนดการเดินเครื่องปี 2576

เล็งหาโอกาสใหม่

“ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญ โดยมีบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและลงทุน บริษัทเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเสริมความเชื่อถือ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ออสเตรเลียกำลังจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

บริษัทศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพมาก โดยมีแนวคิดยกระดับสินทรัพย์โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อให้บริการผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 152 เมกะวัตต์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 81 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานขนาด 100 เมกะวัตต์ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานทดแทนและจำหน่ายผ่านระบบสายส่ง

ส่วนเวียดนาม บริษัทได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสการลงทุนจากจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตถึง 150 กิกะวัตต์ โดยร้อยละ 40 จะเป็นพลังงานทดแทน ปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนในการขยายฐานธุรกิจโดยมีการศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

อีกทั้งยังมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเช่นกัน สำหรับฟิลิปปินส์ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เนโกรส ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2567 โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง ในอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า บนเกาะลูซอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างได้ในปี 2568

บริษัทเชื่อมั่นว่า แผนงานดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงแก่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนสร้างสรรค์ประโยชน์สู่สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

งบฯลงทุน 15,000 ล้าน

นางวดีรัตน์ เจริญคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน กล่าวว่า การวางงบประมาณในการลงทุนในปี 2567 ที่ 15,000 ล้านบาทนั้น เป็นงบฯที่บริษัทตั้งไว้เพื่อที่จะขยายการลงทุนในแต่ละปีโดยสัดส่วน 50% จะเป็นการลงทุนในโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่วนอีก 7,000-8,000 ล้านบาท ที่จะเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการลงทุนในโครงการใหม่

ส่วนการบริหารโครงการและสินทรัพย์ เน้นการบริหารงบประมาณโครงการและก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาของสัญญา รวมทั้งจัดการประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วย

คุมต้นทุนการเงิน-รักษากระแสเงินสด

ทั้งนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการรักษากระแสเงินสด และการบริหารจัดการต้นทุนทางด้านการเงิน โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ ต้นทุนทางด้านการเงินเฉลี่ยจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3 ถึง 3.25%

โดยขณะนี้แผนการออกหุ้นกู้ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ดบริหารบริษัทวงเงิน 15,000 ล้าน ได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 8,000 ล้าน ยังเหลือที่สามารถออกหุ้นกู้ได้เพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีหุ้นกู้ที่ครบอายุ 1 ชุด มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ขยายระยะเวลาหุ้นกู้ออกไป 3 ปี ในอัตราดอกเบี้ยที่ 3.08%

ปัจจัยบวกลบต่อการทำธุรกิจ

นายสาครินทร์ ตังคะวชิรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจไฟฟ้า กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคต บริษัทยังคงยึดธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาธุรกิจและลงทุน จะมุ่งขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย

พร้อมทั้งจะขยายไปสู่ตลาดแห่งใหม่ โดยเน้นประเทศที่พัฒนาแล้ว และให้น้ำหนักการลงทุนทั้งแบบกรีนฟิลด์และการซื้อกิจการให้มีความสมดุลเพื่อบริหารกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัท โดยบริษัทมุ่งหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตปีละไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์

“การลงทุนของบริษัทจะเน้นไปที่การผลิตพลังงานหมุนเวียนแต่ก็ต้องมองให้รอบด้าน ถึงเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด อย่างเรื่องของแก๊สธรรมชาติและโครงการไฮโดรเจนก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม”

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ ในเรื่องของการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่นั้น บริษัทจะได้รับผลกระทบน้อยมาก ต่ำกว่า 4%

โดยจะมีเฉพาะโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP ไม่กระทบ และในส่วนที่เป็นการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 80% ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะมีเฉพาะส่วนที่ขายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่เพียง 20% เท่านั้น

ส่วนทิศทางต้นทุนเชื้อเพลิงในปี 2567 มองว่าทิศทางการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณน่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาดูแนวโน้มการเจรจา OCA พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อจะทำให้ประเทศมีทางเลือกในการดึงวัตถุดิบที่ราคาถูก มีผลกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต

13/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel