info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

AWC รบทุกสนามอสังหาฯ รุกแบรนเดดเรสซิเดนซ์-ออฟฟิศ 2.7 แสน ตร.ม.

Equipment News / ข่าววัสดุอุปกรณ์

“เอ็มไพร์ เรสซิเดนซ์” หนึ่งในอาณาจักรธุรกิจภายใต้ AWC-Asset World Corp กำลังนำเสนอโมเดลธุรกิจแห่งแรกในโลก ปักหมุดที่กรุงเทพฯ สู่การยกระดับเป็นมหานครไลฟ์สไตล์ระดับโลก

ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้า เอ็มไพร์ทาวเวอร์เป็นสำนักงานให้เช่าหรือออฟฟิศบิลดิ้ง ที่มีความสูง 50 ชั้น ขนาดใหญ่กว่า 3 แสน ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ออฟฟิศครึ่งหนึ่ง หรือ 1.5 แสน ตร.ม. ขนาดใหญ่มากพอที่จะเนรมิตอะไรก็ได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้เช่า

ประวัติการรีโมเดลเอ็มไพร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2011 หรือปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 ที่มีการลงทุน 1,000 ล้านบาท อัพเกรดจากออฟฟิศปกติให้เป็นออฟฟิศ+รีเทล ผู้เช่าหรือ Tenant มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต

ล่าสุดการรีโมเดลเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงรอยต่อปี 2566-2567 ลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท อัพเกรดจากการเป็นเซอร์วิสออฟฟิศ ที่ไม่ใช่แค่ “Coworking” แต่ก้าวกระโดดไปสู่บิสซิเนสโมเดลในการนำเสนอให้เป็น “Coliving” นำโจทย์การใช้ชีวิตในที่พักอาศัย มาเติมเต็มให้กับการใช้ชีวิตในที่ทำงาน เพราะตระหนักดีว่าทุกวันนี้ คนเราใช้เวลาในออฟฟิศเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ไปแล้ว

โคลิฟวิ่งสเปซสูงที่สุด ชั้น 53

ผู้บริหารสูงสุด “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ช่วงปลายธันวาคม 2566 ถือเป็นมิติใหม่ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในการรวมประสบการณ์บ้าน-โรงแรม-อาคารสำนักงาน เข้าเป็นรูปแบบ Coliving Collective : Empower Future ในการเพิ่มพลังการใช้ชีวิตและการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยตอบโจทย์ Workplace Destination

โดย AWC เปิดมาตรฐานใหม่ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ “The Empire Residence” นำเสนอพื้นที่บ้านให้กับทุกคนในอาคารเอ็มไพร์ ได้เชื่อมต่อประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตในหลากหลายไลฟ์สไตล์ครบครัน

ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคตขององค์กรชั้นนำระดับโลก ที่กำลังมองหาออฟฟิศยุคใหม่ใจกลางย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางขององค์กรและพนักงานจากทั่วโลก

The Empire Residence ตั้งอยู่บนชั้น 53 ของอาคารเอ็มไพร์ ด้วยพื้นที่แบบ Coliving กว่า 1,500 ตร.ม. ที่มีขนาดใหญ่และไม่เหมือนที่ไหนในอุตสาหกรรมอาคารสำนักงานในประเทศไทย เป็นจุดเทกวิวของกรุงเทพฯจากมุมสูง เปิดโอกาสให้ผู้เช่าทุกรายสามารถเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

มหานครไลฟ์สไตล์ระดับโลก

ทั้งนี้ อาคารเอ็มไพร์ ได้เปิดให้บริการ Cafe Pittore ร้านคาเฟ่สไตล์อิตาเลียนที่นำเสนอกลิ่นอายในแบบเอเชีย บริเวณชั้น G ในรูปแบบล็อบบี้เลานจ์ เปิดให้บริการแก่ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน รองรับการนัดประชุมงาน พักผ่อน หรือนั่งทำงานระหว่างวัน บริการอาหารและเครื่องดื่มที่เรียบง่ายด้วยการบริการระดับโรงแรม

สเต็ปถัดไป อาคารเอ็มไพร์ ยังได้เริ่มเปิดพื้นที่ “EA Rooftop at The Empire” จุดหมายปลายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มบนรูฟท็อปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บริเวณชั้น 55-60

ประกอบด้วย “EA Gallery” ชั้น 55 แหล่งรวมไลฟ์สไตล์ร้านอาหารและคาเฟ่กับทัศนียภาพที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ ที่ทยอยเปิดร้านคาเฟ่และร้านอาหารตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และจะเปิดเต็มรูปแบบในไตรมาสแรกปี 2567

และ “EA Chef’s Table” ชั้น 56 ห้องอาหารไทยบนรูฟท็อปแห่งแรก โดยเชฟมิชลินสตาร์ “เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร” และห้องอาหารจีนที่อยู่สูงที่สุดในไทย โดย “เชฟวิคกี้ เชง”

และ “Nobu Bangkok” ชั้น 57-58 และ “Nobu Bangkok Rooftop Bar” ชั้น 60 ห้องอาหารและบาร์ภายใต้แบรนด์ Nobu ที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงยังเป็นห้องอาหาร Nobu แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้าและพนักงานภายในอาคารเอ็มไพร์ ได้อย่างครบวงจร ภายในไตรมาส 3/67

ใช้ชีวิตสะดวกสบายไร้รอยต่อ

สำหรับอาคารเอ็มไพร์ การเปิดตัว Coliving รูปแบบใหม่ในวันนี้ มอบสิทธิประโยชน์จาก “AWC Infinite Lifestyle” (AWI) และแอปพลิเคชั่น “Pikul” เชื่อมโยงผู้เช่าและนักเดินทางเข้ากับเครือข่ายทั้งหมดของกลุ่มโรงแรม ห้องอาหารในเครือ AWC มอบประสบการณ์ลูกค้าเพลิดเพลินไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน ทั้ง “Office-Home-Hotel-Retail” ได้อย่างไร้รอยต่อในสัมผัสเดียว ไม่ว่าจะเป็น การเข้าอาคาร การจองห้องประชุม และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

อาคารเอ็มไพร์เตรียมเพิ่มดีกรีด้านการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ บริการนำรถไปจอด (Valet Parking) เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ (Drop-off Concierge) บริการ Room Service และแผนกต้อนรับลูกค้า (Guest Reception) เป็นต้น

“การเปิดตัว The Empire Residence และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ มากมายในอาคารเอ็มไพร์ ในวันนี้ นอกจากเปิดตัวแลนด์มาร์กแห่งใหม่ตลาดออฟฟิศบิลดิ้งในกรุงเทพฯ ยังแสดงถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของ AWC ในการเปิดประสบการณ์อาคารเอ็มไพร์ ให้เป็นจุดหมายปลายทางการทำงานผสานไลฟ์สไตล์แบบ AWC’s Lifestyle Workplace Destination ในรูปแบบที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน”

อัพเกรดออฟฟิศ 2.7 แสน ตร.ม.

สำหรับพอร์ตออฟฟิศบิลดิ้งในเครือข่าย AWC มี 4 แห่งด้วยกัน 1.เอ็มไพร์ทาวเวอร์ หัวมุมถนนสาทรตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 2.แอทธินีทาวเวอร์ ถนนวิทยุ 3.โครงการ 208 ถนนวิทยุ ติดกับสถานทูตสหรัฐอเมริกา 4.อินเตอร์ลิงก์ทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด พื้นที่ออฟฟิศให้เช่ารวมกัน 2.7 แสน ตร.ม.

“…ตอน IPO เข้าตลาดหุ้น AWC เราเป็น largest office owner ใหญ่สุดในประเทศไทย ตอนนี้ก็ยังใหญ่สุด ก่อนที่วัน แบงค็อก จะเปิดให้บริการ (หัวเราะ)”

คำกล่าวปนเปื้อนรอยยิ้มเพราะโครงการวัน แบงค็อก ก็เป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่กำลังก่อสร้างออฟฟิศบิลดิ้ง 5 อาคาร พื้นที่รวมกันอีก 5 แสน ตร.ม. ตามแผนคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2567-2568 เป็นต้นไป

แต่ทว่า ถึงแม้จะเป็นออฟฟิศใหม่ที่มาจากกลุ่มธุรกิจเดียวกัน แต่ก็มีดีกรีของการแข่งขันออฟฟิศบิลดิ้งยุคใหม่ จำเป็นจะต้องเติมเต็มไลฟ์สไตล์เซอร์วิสเพื่อสร้างความน่าดึงดูดใจให้กับผู้เช่า

“วันนี้การเช่าออฟฟิศสเปซ ผู้เช่าต้องดูแลผู้บริหาร พนักงาน stakeholder วันนี้เราจึงมองผู้เช่าเราเป็นพาร์ตเนอร์ เขาต้องเอ็นจอยเขาถึงอยากมาใช้ชีวิต มาอยู่ในตึกของเรา ในสเปซของเรา เหมือนเวลาเราพูดถึงรีเทล ผู้เช่าก็คือพาร์ตเนอร์ แล้วเขาจะชวนลูกค้ามาเดินในพร็อพเพอร์ตี้เรา ก็เกิดมูลค่าจับจ่ายใช้สอย ทุกคนร่วมเติบโต แล้วเราจะตอบโจทย์ผู้บริหาร พนักงานของ Tenant เราจะดูแลยังไง ก็เลยเป็นโมเดลพัฒนาคอนเซ็ปต์ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในที่ทำงานแต่เหมือนอยู่บ้าน”

ปีนี้และปีหน้าเริ่มต้นอัพเกรดออฟฟิศที่อาคารเอ็มไพร์ก่อน สเต็ปถัดไปเป็นการเติมเต็มโซนล็อบบี้เลานจ์ในแอทธินีทาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นไมเนอร์เชนจ์ และจะมีบิ๊กไมเนอร์เชนจ์เกิดขึ้นที่อินเตอร์ลิงก์ทาวเวอร์ ตามแผนเตรียมใส่โมเดลฟู้ดไลฟ์สเปซ เหมือนเราไปทำงานที่คาเฟ่ บรรยากาศ Sitting รายล้อมด้วยบริการอาหารและเครื่องดื่ม

“โซนบางนามีฟู้ดเลานจ์ให้บริการแต่กระจัดกระจายอยู่หลายโซน กลายเป็นข้อจำกัด ก็เลยบอกทีมงานไปว่าถ้าคนมานั่งทำงานที่อินเตอร์ลิงก์ ต้องมีสถานที่ให้เขาเอ็นจอยกับการใช้ชีวิตได้ตลอดวัน”

จ่อบุก Branded Residence

บิสซิเนสโมเดลมาจบที่การลงทุนเรสซิเดนเชียล แต่ไม่ใช่การซื้อขายแบบโอนกรรมสิทธิ์ทั่ว ๆ ไป หากแต่จับจุดแข็งของการอินเวนทอรี่ห้องพักโรงแรม นำเสนอฟังก์ชั่นห้องพักให้เหมือนกับอยู่บ้านพักอาศัย พ่วงด้วยประสบการณ์โรงแรมระดับไฮเอนด์ กลายเป็นโมเดลยอดฮิตที่เรียกว่า Branded Residence ที่พักอาศัยพ่วงบริการโรงแรม

“ตอนนี้เรามีโมเดลแบรนเดดเรสซิเดนซ์ เรามีอินเวนทอรี่ที่เราเสริมประสบการณ์โรงแรม คนที่มาท่องเที่ยวเราอยากโปรโมตอยู่ยาว เราได้กลุ่มอยู่ยาวเกิน 5 วัน เราก็แฮปปี้แล้ว แต่ตอนนี้เริ่มมีอยู่ 1 สัปดาห์ 1 เดือน เราก็มีห้องให้ด้วย ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ไฮสเปนดิ้ง และอยากอยู่ยาว มาทั้งทีเขาทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำอยู่ในโรงแรมก็ได้ ซึ่งโครงการใหม่ AWC เราจะเติมห้องพักแบบ 2-3 เบดรูมมากขึ้น”

เหตุผลที่นิยามว่าการนำห้องพักโรงแรมมาเสนอแพ็กเกจเป็นแบรนเดดเรสซิเดนซ์ คำนิยามคือ “เพราะว่าเราเป็นแบรนด์โรงแรม และเราก็ทำโมเดลเป็นห้องพักเช่าเป็นเรสซิเดนซ์ ใบอนุญาตเราเป็นโรงแรม ซึ่งโรงแรมปกติจะเป็นห้องธรรมดา แล้วก็มีห้องสวีตบ้าง แต่โรงแรมในรูปแบบใหม่ เราจะใส่แพนทรี่ ใส่ประสบการณ์ที่เอ็นจอยได้มากกว่ามาพักโรงแรมเข้าไปด้วย ฉะนั้นจะเพิ่มแวลูและเพิ่มประสบการณ์”

คำถามสุดท้ายเกี่ยวกับเม็ดเงินลงทุน คำตอบสำเร็จรูปคือ ทั้งหมดที่กำลังจะเดินในปี 2567 ลงทุนรวม 18 โครงการทั้งเล็กและใหญ่ ในภาพรวมอยู่ในแผนลงทุน 5 ปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท

28/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel